ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

อันตราย!ปีม้าพยศ ขายตรงเถื่อนคืนชีพ







Capture (Mobile)

 


พิษการเมืองวุ่นเศรษฐกิจป่วน เขย่าธุรกิจขายตรง หลังพยายามแก้กฎหมายมา 2 รัฐบาล แต่สุดท้ายก็ต้องถูก “แช่แข็ง” อีกตามฟอร์ม หวั่นปีม้าพยศ ปลุกแชร์เถื่อนคืนชีพ เหตุวิกฤติทางการเมือง สร้างโอกาสคนมีอำนาจ


สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2557 นับเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่าย ต้องจับตา หลังจากที่ปี 2556 ที่ผ่านมา แม้ไม่ถึงกับเจ็บปางตาย แต่ก็เกือบเอาตัวไม่รอด


ปี 2556 ถือเป็นช่วงเวลาที่ ภาคธุรกิจต้องลุ้นกันแบบราย “ไตรมาส” เนื่องจาก ตัวแปรหรือผลกระทบที่เข้ามา ล้วนแต่หนักหน่วงรุนแรง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


ต้นปี 2556 มองว่าผลกระทบจากการปรับค่าแรง 300 บาท จะทำให้ เอสเอ็มอี เจ๊งกันระนาว ประเมินกันว่า จะมีกิจการปิดตัวลงนับแสนกิจการ แต่ผ่านมาไตรมาส 2 เสียงร้องครวญครางก็แผ่วไป


การเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามไปได้


ถัดจากนั้น ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน วิกฤติค่าเงินบาท เริ่มเขย่าตลาดการเงิน กดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเป็นประวัติ การณ์ จนหลุดลงไปต่ำกว่า 29 บาท/ดอลลาร์ด้วยซ้ำ


ด้วยเหตุที่อิทธิพลของเงินทุนจากต่างประเทศ ทะลักเข้าสู่ตลาดเอเชีย จนเงินท่วมตลาดการเงิน


ทั้งแบงก์ชาติกระทรวงการคลังต่างพลิกตำรากันไม่ทัน มีการกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลง นัยหนึ่งก็เพื่อต้องการลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ อีกด้านหนึ่ง ก็หวังจะอาศัย เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ


แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากแบงก์ชาติแต่ประการใด หนำซ้ำยังลุกลามบานปลาย กลายเป็นการเปิดศึกระหว่าง “คลัง-แบงก์ชาติ” ถึงขนาดมีข่าวลือว่า จะปลด ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล พ้นตำแหน่งผู้ว่าการ


ต่างคนต่างมุมมอง มุมมองแบงก์ชาติมองว่า เศรษฐกิจในประเทศ มีอาการร้อนแรง จำเป็นจะต้อง ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เนื่องจากรัฐบาล ได้ออกมาตร การกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลายด้าน ทั้งบ้านหลังแรก รถคันแรก ล้วนแต่มีผลทำให้หนี้ภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นสูง


หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป อาจนำไปสู่ภาวะ “ฟองสบู่แตก” เหมือนกับในช่วงปี 2540


ขณะที่ทางกระทรวงการคลัง กลับมองภาพรวมเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะรู้ดีว่า ผลจากปัญหาในยูโรโซน และสหรัฐอเมริกา ที่ลามไปถึงเอเชีย มีผลทำให้การส่งออกเริ่มประสบปัญหา


โดยในช่วงปลายไตรมาส 2 การส่งออกมีตัวเลขติดลบถึง 5.1% ถ้าไม่หันไปกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ก็จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหรือ GDP ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้ที่ 5.2%


ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รัฐบาลเชื่อว่า มาตรการทางการเงิน จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ลดลงอันเนื่องมาจากการส่งออกหดตัว จะทำให้เศรษฐกิจ ยังรักษาความแข็งแกร่งได้ต่อไป


แต่ระหว่างที่ทั้ง 2 ฝ่าย ยังเถียงกันไม่จบ หาทางออกยังไม่เจอ เดชะบุญที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา เริ่มส่อเค้าว่าจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลทำให้เงินทุนจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหล ไปสู่เอเชีย เริ่มไหลกลับ ไปยังตลาดการเงินในสหรัฐฯ


ความวิตกกังวลเรื่องเงินท่วมตลาด ผ่อนคลายไปได้ระยะหนึ่ง


ครั้นเข้าสู่ไตรมาส 3 สถานการณ์กลับเลวร้ายกว่าที่คาด เพราะเงินทุนที่ไหลกลับ ไม่เพียงแต่เฉพาะเงินที่เข้ามาหาประโยชน์ระยะสั้นชั่วครู่ชั่วยาม หากแต่เป็นเม็ดเงินระยะยาว ที่ทำท่าว่าจะไหลออกไม่หยุดเช่นกัน


เข้าสู่ปลายเดือนพฤศจิ-กายน 2556 การเมืองไทยพุ่งขึ้นสูงจนปรอทเกือบแตก เนื่องจากรัฐบาล ดันทุรังเดินหน้าออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ “สุดซอย” เพื่อหวังว่า จะเอาเงื่อนไขการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มที่เห็นต่าง และกลุ่มที่สนับสนุนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ไม่เว้นแม้แต่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


แต่สุดท้ายกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ “สุดซอย” กลับกลายเป็น กฎหมาย “เรียกแขก” ที่ไม่ได้รับเชิญออกมาเกลื่อนถนนทั่วกรุงเทพมหานคร


ลุกลามบานปลาย กลายเป็นการเปิดช่องให้พรรคประชา ธิปัตย์ สบโอกาสสร้างกระแสโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำไปสู่การ “ยุบสภา” ในที่สุด


สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ดูจะผ่อนคลายไประดับหนึ่ง แต่เป้าใหญ่ของม็อบ กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ก็ยังปิดเกมไม่ลง เนื่องจากแกนนำหลายฝ่ายทั้งประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือฝ่ายอำมาตย์ มองว่า การโค่นล้มระบอบทักษิณ ยังไม่บรรลุเป้าหมาย


แม้จะมีการ “ยุบสภา” ไปแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ระบอบทักษิณก็จะกลับมาอยู่ดี


ขณะเดียวกันตัวนายสุเทพ เอง ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “ขึ้นหลังเสือ” ที่เดิมพันด้วยข้อกล่าวหา “กบฏแผ่นดิน” รวมทั้งคดีการสั่งการก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา ในช่วงเหตุ การณ์ปี 2553 ก็ยังอยู่ในระหว่างรอการมอบตัวกับเจ้าหน้าที่


ยุทธการตัดรากถอนโคน ระบอบทักษิณ แม้ไม่มีการประกาศให้สังคมรับรู้ตรง ๆ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า กปปส.มีเป้าประสงค์ หวังจะยกระดับฐานะขององค์กรขึ้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ที่สามารถกุมกลไกอำนาจรัฐ ได้เสมือนหนึ่งกับรัฐบาล


มีการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยการอ้างเงื่อนไขในมาตรา 7


มีการตั้งสภาประชาชน เพื่อทำหน้าที่เสมือนหนึ่งสภานิติบัญญัติ


ในเวลาเดียวกัน ก็พยายามกวักมือเรียก กองทัพเข้ามาร่วมสนับสนุน การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง


โดยหวังว่าการเปลี่ยนแปลง ในรูปแบบดังกล่าว จะทำให้ประชาคมโลกมองว่า เป็นการปฏิวัติโดยประชาชน


แต่เมื่อเอาเข้าจริง ปรากฏว่า ทุกอย่างไม่ง่ายอย่างที่คิด ท่าทีกองทัพยุคนี้กลับเปลี่ยนไป จากเดิมที่ดูจะเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ก็เริ่มหันมายืนตรงกลาง ไม่ต่อต้านแต่ก็ไม่ส่งเสริม


แม้สถานการณ์ในยามนี้ จะมีเงื่อนไขที่หนักแน่นพอที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหารได้ แต่เมื่อประเมินผลดีผลเสียแล้ว การปฏิวัติอาจกลายเป็นการลากเอาบ้านเมืองเข้าไปสู่ความรุนแรงอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง


ยกเว้นเสียแต่ว่า มีการใช้ความรุนแรงจนทำให้สถาน การณ์ลุกลามบานปลาย จนไม่สามารถควบคุมได้ !


การเดินเกมรุกไล่ กดดันให้รัฐบาล “ยุบสภา” ลามไปถึงการ “ลาออก” จากรัฐบาลรักษาการ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม


แม้มีการออกพระราชกฤษฎีกา ยุบสภา พร้อมกับให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่การเคลื่อนไหวของ กปปส. ก็ยังยืนกรานอย่างหนักแน่นโดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกสถานเดียว


แม้การตัดสินใจตามข้อเรียกร้องจะขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ตาม


นี่คือ ปมแห่งความขัดแย้ง ที่บรรดานักวิชาการทั้งแผ่นดินมองว่า เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดของประเทศไทย


ปัญหา ก็คือ จะปล่อยให้สถานการณ์ในประเทศไทย เป็นอยู่อย่างนี้ หรือเลวร้ายไปกว่านี้หรือไม่


ณ เวลานี้ ภาคธุรกิจ คือ “เหยื่อแห่งความขัดแย้ง” ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจขายตรงที่ทุกค่ายต่างถอยหลังกลับไปตั้งหลักกันใหม่


เคยมีการคาดการณ์กันว่าในปี 2556 จะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10 -12% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมทางการตลาดไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท


แต่เมื่อย่างเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี ยอดขายเกือบทุกค่ายตกวูบอย่างถ้วนหน้า คิดเป็นอัตราการเติบโตจริง ๆ ก็คงไม่น่าจะเกิน 5%


การจะก้าวเดินไปข้างหน้า นอกจากจะต้องดูทิศทางเศรษฐ กิจทั้งในและนอกประเทศแล้ว หากแต่ยังจะต้องให้น้ำหนักกับการเมืองเป็นอันดับต้น ๆ


แม้ในรอบปีที่ผ่านมา มูลค่าการตลาดอาจไม่เพิ่มขึ้นมาก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือ แม้จะมีบางกลุ่มบางค่าย เลิกราไปบ้าง แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ เข้ามาทดแทนอย่างไม่ขาดสาย


นั่นย่อมเป็นคำตอบได้ดีว่า ธุรกิจเครือข่ายขายตรง ยังเป็นธุรกิจที่ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติต่างเชื่อมั่นว่ามีอนาคต


ปัญหาที่ต้องติดตามกันต่อไปก็คือ หากมูลค่าการตลาดไม่ขยายตัวมาก แต่มี


ผู้ประกอบการรายใหม่แห่มาลงสนามกันมาก แน่นอนการแข่งขันในปี 2557 นี้ก็คงดุเดือดเข้มข้น อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


หากสถานการณ์การแข่งขัน มีความรุนแรง สิ่งที่หลายคนกังวลกันในเวลานี้ ก็คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างสคบ.จะคุมเกมอยู่หรือไม่


เพราะจากการตรวจสอบของ “ตลาดวิเคราะห์” พบว่ายังมีหลายกิจการ เล่นนอกกติกา ยังมีหลายกิจการ อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือ อาศัยเอกสาร ยืนยันการทำธุรกิจจากสคบ.มาบิดเบือนเพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบ


ล่าสุดมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการหลายค่าย มองว่า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง ประชาชนตกงาน รายได้ลดลง โอกาสที่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่จะเติบโตเป็นไปได้สูง


ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะ ประชาชนจะขาดความยั้งคิด ขาดการไตร่ตรอง ว่ากิจการที่เข้าไปร่วมธุรกิจนั้น เป็นกิจการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


ประกอบกับ สถานการณ์แข่งขัน หากตลาดหดตัว กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กจะอาศัยกลยุทธ์ ที่สุ่มเสี่ยงต่อ “มันนี่เกมส์” มากขึ้น


นับตั้งแต่ต้นปี 2556 ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการแชร์ลูกโซ่ ไปหลายแห่ง ทั้งที่เป็นกิจการที่มุ่งเน้นการระดมทุน และกิจการขายตรงนอกรีต


แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะข้อเท็จจริง ยังมีกิจการที่อยู่ในข่าย “เฝ้าระวัง” อีกเป็นจำนวนมาก


บางกิจการ เข้าหลักการฝ่าฝืนกฎหมาย ที่ต้องดำเนินคดี เพื่อเอาผิดเอาโทษหรือระงับยับยั้งไม่ให้สร้างความเสียหายแก่ประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่


แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย กลับไม่กล้า “ลงดาบเชือด”


ดังนั้น ปัญหาในข้อกฎหมาย จึงมิได้เป็นเพียงความชัดเจน หรือความเหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลานี้หรือไม่เท่านั้น หากแต่ยังมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ที่หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ขาดความเอาจริงเอาจัง


ปี 2556 นับเป็นปีที่วงการธุรกิจขายตรง มีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขกฎหมายมากที่สุดปีหนึ่ง เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า การกำกับดูแล และการส่งเสริม ยังขาดประสิทธิภาพ


ด้านการกำกับดูแล เป็นที่ชัดเจนว่า องค์กรในการกำกับดูแล ซึ่งหมายถึง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. มีภาระในการดูแลสิทธิประโยชน์ประชาชน นอกเหนือจากธุรกิจขายตรงหลายด้าน


ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจขายตรง เป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ มีบุคลากรไม่ถึง 10 คน ไม่สามารถเข้าไปดูแลกิจการขายตรงกว่า 800 แห่งได้อย่างทั่วถึง


มีความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายขายตรง ฉบับพ.ศ.2545 เพื่อยกระดับเทียบเท่า “กรม” ที่มีหน้าที่ดูแลธุรกิจขายตรงโดยเฉพาะ


นอกจากนี้ กรณีการลดช่องว่างการเอารัดเอาเปรียบระหว่างตัวแทนกับบริษัท ควรมีการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม


รวมไปถึงนิยามของคำว่า “ตัวแทน” -“สินค้าขายตรง” และมาตรฐานการกำกับแผนการตลาด ควรมีคำอธิบายเพิ่มเติมให้มีความชัดเจน


ประการต่อมา ความชัดเจนในการชี้ชัดว่า ธุรกิจประเภทใดเข้าข่ายขายตรงที่ถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย ควรจะมีคำอธิบายให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนสามารถพิจารณาโดยง่าย


ด้านการส่งเสริม เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจขายตรง เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจ มีมูลค่าการตลาดค่อนข้างสูง แต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐให้เป็นธุรกิจที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้ทัศนคติจากประชาชนโดยทั่วไปมองว่าขาดความน่าเชื่อถือ


นอกจากนี้ เครือข่ายขายตรงในปีที่ผ่านมา มีกิจการขนาดใหญ่จำนวนมาก เริ่มวางรากฐานเพื่อก้าวไปสู่ AEC โดยการมีการขยายเครือข่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก แต่ในด้านยุทธศาสตร์ ภาครัฐยังไม่มีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างมาตรฐานการกำกับดูแล เพื่อเข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน


ธุรกิจขายตรง ยังมีโจทย์ใหญ่ ที่รอการแก้ไขอีกมากมาย โดยเฉพาะการถูกมองว่าเป็น “ธุรกิจสีเทา” ถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชน จะต้องร่วมมือกัน ในการสร้างกระบวนการตรวจสอบให้มีความโปร่งใส เพื่อยกระดับสู่การเป็น “ธุรกิจสีขาว” อย่างแท้จริง


แต่ก็น่าเสียดาย ที่ร่างกฎหมายฉบับแก้ไข ยังไม่ทันเข้าสู่สภา ก็มีเหตุต้อง “ยุบสภา”เสียก่อน ถือเป็น “อุบัติเหตุ” ซ้ำสอง ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี


เพียงแต่ครั้งนี้ ต้นทุนสูงกว่าครั้งก่อน ก็คือ ต้องเสีย นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตเลขาธิการสคบ. ที่ถูก “ย้ายฟ้าฝ่า” ไปนั่งตบยุงในตำแหน่งผู้ตรวจการ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


ขณะเดียวกัน ตัวเลขาฯ คนใหม่ คือ นายอำพล วงศ์ศิริ อดีตมือปราบ ปปท. หย่อนก้นลงบนเก้าอี้ยังไม่ทันร้อน ก็ถูกยึดสำนักงาน ต้องไปนั่งหลบภัยที่ก.พ.นนทบุรี


แม้ล่าสุด จะหวนคืนสู่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ก็ยังต้องรอลุ้นว่า การเมืองจะเปลี่ยน แปลงไปอย่างไร


งานหลักชิ้นสำคัญ ที่ตั้งใจเอาไว้ ว่าจะมา “ล้างบ้าน” ในสคบ.ให้สะอาด ก็เลยอยู่ในอาการละล้าละลัง


คนที่อยู่ในวงการขายตรง ก็เลยอยู่ในอาการ “ฝันค้าง” อีกครั้ง เพราะสู้อุตส่าห์เพียรพยายามมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ต้องมีอันเป็นไปเพราะการเมือง


เห็นทีงานนี้ กฎหมายขายตรง จะกลายเป็น “กฎหมายอาถรรพ์” ที่รัฐบาลชุดไหนเข้าไปแตะเมื่อไร ก็จะต้องมีอันเป็นไป


ปัญหาที่น่าห่วงก็คือ รัฐบาลอ่อนแอ กฎหมายหย่อนยาน คนที่คิดไม่สุจริตจะได้ใจหรือเปล่า เพราะเวลานี้ ก็มีข่าวลือสะพัดไปทั่วว่า เชื้อชั่วขายตรงกำลังจะรีเทิร์น


สอดรับกับช่วงเหตุการณ์หลัง 14 ตุลา ที่คนใหญ่คนโตที่ร่วมขบวนการทางอำนาจ หลังเหตุการณ์ กลับสู่ภาวะปกติ ก็จะถูกเชื้อเชิญ ไปนั่งเป็นประธานที่ปรึกษา บริษัทแชร์ลูกโซ่ กันไม่รู้กี่บริษัท


จริงเท็จยังไง คงต้องถามคนใกล้ชิด อดีต “เจ้าพ่อกระทิงแดง” ดู


นั่นคือเรื่องในอดีต ที่เป็นรากเหง้าของแชร์เถื่อนหรือแชร์ลูกโซ่ แต่ที่แน่ ๆ ในยุคนี้ ปะหน้าเสธ.อ้าย เจ้าพ่อม็อบสนามม้านางเลิ้ง ก็มาบ่นให้ฟังว่า มีบริษัทขายตรงหลายค่าย มาเชิญไปเป็นประธาน


ส่วนเจ้าตัวจะรับหรือไม่รับไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่า นี่คือ วงจรแชร์ลูกโซ่ ที่มักจะเกิดขึ้นในยามสถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย


แต่ก่อน กฎหมายปราบแชร์ ยังไม่มี จวบจนมาถึงยุคป๋าเปรม ก็ได้ฤกษ์ล้างบางกันขนานใหญ่ บรรดาแชร์แม่อะไรต่อแม่อะไร ก็มีอันต้องพังพาบกระเจิง


ถึงวันนี้ กฎหมายให้อำนาจเต็มมือ แต่ปัญหาก็คือ ผู้บังคับใช้ จะกล้าชักดาบออกมาฟันหรือเปล่า


เพราะหน้าฉากทางการเมือง มีการประกาศว่าต่อสู้เพื่อประชาชน แต่หลังฉาก ก็มีเกมต่อรองผลประโยชน์กับคนมีสีอยู่เนือง ๆ


 


 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com/


เห็นทีงานนี้ โจรเสื้อสูท คงเต็มบ้านเต็มเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น