ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

อย.ร่วมมือหน่วยงาน ‘กสทช.’ เดินสายตรวจสินค้าอวดสรรพคุณ







Capture

 


อย. เดินเครื่องต้นปี’57 เตรียมประสานงานหลายฝ่ายปราบผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสําอางทางสื่อต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ล่าสุดร่วมมือทาง “กสทช.” สกัดกั้นโฆษณาผิดกฎหมายหวังคุ้มครองผู้บริโภค ระบุ หากพบกระทำผิดจริง เตรียมลงดาบแน่นอน


ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังได้ดําเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสําคัญ จะมีการดําเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดําเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที


พร้อมทั้ง จะมีการส่งข้อมูลให้สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดําเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยบูรณาการการทํางานร่วมกัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สําหรับในส่วนภูมิภาคมอบให้สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดดําเนินการ


ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม -พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ทางอย. เอง ได้มีการดําเนินคดีเกี่ยวกับการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตภัณฑ์อาหารจำนวน 144 คดี ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 40 คดี ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จำนวน 13 คดี และเครื่องสําอาง 7 คดี รวมจำนวนทั้งสิ้น 204 คดี ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียม และเว็บไซต์ โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร


อาทิ “โฆษณาอ้างทําให้ขาวอ่อนเยาว์เร็วกว่า” อ้างทําให้ผิวขาวใส สร้างความยึดหยุ่นของผิว บํารุงสายตาและผม ทําให้ผิวหน้าเนียนใส ลดรอยสิวฝ้า กระ ลดการเกิดริ้วรอย บํารุงเส้นเลือด หัวใจ ตับ ช่วยลดคอเลสเตอรอล “อ้างทําให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง, อาการปวดเข่าดีขึ้น , รักษาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ชะลอความเสื่อมของร่างกาย, อ้างทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง


ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต และเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้ สําหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ลดอายุใบหน้าด้วยไหมทองคํา กําจัดไขมันทุกส่วนครั้งเดียวเห็นผล เป็นต้น


ภก.ประพนธ์ ยังกล่าวอีกว่า ทางอย.จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ


ทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุธุรกิจชุมชน หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค โดยดําเนินงานร่วมกับ กสทช. และ บก.ปคบ. อย่างใกล้ชิด และดําเนินคดีกับผู้โฆษณาและเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค


“อยากที่จะขอเตือนมายังผู้บริโภค ควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ก็ตาม ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารอวดอ้างรักษาโรค ผลิตภัณฑ์ยาอ้างรักษาโรคที่รัฐมนตรีประกาศห้ามโฆษณา เช่น มะเร็ง เอดส์ อัมพาต โฆษณาอวดอ้างว่าเป็นยาบํารุงกาม ไม่ว่าจะเป็นข้อความโฆษณา หรือการนําบุคคลมีชื่อเสียงมาอ้างอิงว่าใช้แล้วได้ผล อย่ารีบด่วนตัดสินใจซื้อ ควรศึกษาข้อมูล สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาต และอาจมีสารอันตรายเป็นส่วนผสม ทำให้ได้รับผลข้างเคียงต่อร่างกาย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องได้” ภก.ประพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย


 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น