ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ศาลสั่งจำคุก แชร์บลิสเชอร์ 1.2 แสนปี! ฐานความผิดฉ้อโกงประชาชนร่วมธุรกิจ









ศาลอาญา สั่งปิดฝาโรง คดีแชร์บลิสเชอร์ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบ 83 และความผิดตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 และ 15...พร้อมสั่งจำคุกผู้บริหารแชร์บลิสเชอร์คนละ 1.2 แสนปี ฐานหลอกสมาชิกเที่ยวพักผ่อนในต่างประเทศ


...บริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ชื่อนี้ เชื่อว่าใครหลาย ๆ คน คงพอที่จะทราบ ตื้นลึกหนาบาง ของบริษัทดังกล่าวนี้พอสมควร แต่เชื่อว่าก็มีหลาย ๆ คน ที่ยังไม่รู้ถึงแบล็คกราวน์ของค่ายนี้พอสมควรเช่นกัน...แต่หากย้อนกลับไปให้ทราบพอสังเขป ต้องบอกว่าประมาณช่วงปี 2534 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่ ชื่อ บลิสเชอร์ พร้อมกับระบุว่า ทำธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือไทม์แชริ่ง โดยได้มีการเปิดรับสมาชิกจำนวนมาก ผู้สมัครในชั้นแรกจะต้องจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาท และจะมีสิทธิ์เข้าพักในโรงแรมต่าง ๆ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี นาน 20 ปี


ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในช่วงนั้นก็คือ หากผู้สมัครจัดหาสมาชิกเข้าร่วมโครงการ จะได้ค่าตอบแทนอีก 20% และหากสามารถจัดหาผู้สมัครรายอื่นเพิ่มเติม ก็จะได้ค่าตอบแทนอีก 20% โดยที่ผู้สมัคร


ที่ให้การแนะนำเป็นคนแรก ก็จะได้ค่าตอบแทนเช่นกันลดหลั่นกันไป ซึ่งตรงนี้เอง ที่เป็นที่จับจ้องมองกันว่าเข้าค่าย แชร์ลูกโซ่ นั้นเอง


...จนกระทั่งความชัดเจนของ บลิสเชอร์ ที่เข้าข่ายเป็น แชร์ลูกโซ่ ก็ชัดเจนมากขึ้น เมื่อกระทรวงการคลังได้ประกาศแถลงการณ์ให้ประชาชน ระวังในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือร่วมลงทุนในธุรกิจใดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2536 ที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2537 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบ จึงได้ตัดสินใจลงดาบ บลิสเชอร์ ในฐานะความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2534 ตามมาตรา 4 และ 5 ฐานหลอกลวงประชาชน ไปพร้อม ๆ กับการปิดฉากแชร์ลูกโซ่พันธุ์ใหม่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ณ เวลานั้นเป็นต้นมา


...ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ที่ห้องพิจารณาคดี 901 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ ฟ้อง บริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด น.ส.อังสุนีย์ พัฒนานิธิ น.ส.ปัรจวรรณ เบญจมาศมงคล นายแสงทอง แซ่กิม และนายอรรณพ กุลเสวตร์ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 ถึง 5 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบ 83 และความผิดตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 และ 15


โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.34 ถึง 11 ก.พ.37 บ.บลิสเชอร์ฯ ประกอบธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือไทม์ แชริ่ง โฆษณาชักชวนประชาชนให้สมัครสมาชิกใช้บริการที่พักฟรีตามสถานที่พักตากอากาศ หรือโรงแรมที่บริษัท จำเลยจัดไว้ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี หรือ ฟรีโฟร์ นาน 20 ปี โดยมีรูปแบบการสมัครสมาชิกเป็นรูปแบบบัตรทอง และบัตรเงิน โดยบัตรเงินจ่ายค่าสมาชิกปีละ 30,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 2,500 บาท และบัตรทองจ่ายค่าสมาชิก 60,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 4,500 บาท


อีกทั้ง ยังระบุอีกว่า หากสมาชิกรายใดจะสมัครเป็นฝ่ายขายต่อจะต้องเสียค่าสมัครเพิ่ม 1,500 บาทต่อปี และหากหาสมาชิกได้ จะได้ค่านายหน้าเพิ่มรายละ 5,000 บาท มีผู้เสียหายหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิกจำนวน 24,189 ราย มูลค่าความเสียหาย 826,266,000 บาท ต่อมากระทรวงการคลังพบว่า จำเลยไม่อาจดำเนินการซื้อขายสินค้าตามที่ประกาศได้ เพราะไม่มีสินค้าให้ไปขายจริง และให้ค่าตอบแทนในวิธีฟรีโฟร์ คิดแล้วสูงกว่าดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการประกอบกิจการจริง อันเป็นการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน


ซึ่งคดีนี้ ทางศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 4 มี.ค.51 ให้จำคุกจำเลยที่ 2, 4 และ 5 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอำนาจในบริษัท ฐานฉ้อโกงประชาชน ให้จำคุกคนละ 120,945 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยทั้งสามได้ไม่เกิน 20 ปี จึงพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2,4 และ 5 คนละ 20 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 3 เนื่องจากพบว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น กับการวางแผนบริหารนโยบายดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 2, 4 และ 5 ยื่นอุทธรณ์ ภายหลังจำเลยที่ 5 ถอนอุทธรณ์ขอรับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวันนี้จำเลยที่ 2 และ 4 ไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงจำเลยที่ 3 มาศาลเท่านั้น ศาลจึงอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลยที่ 2 และ 4 พร้อมกับมีคำสั่งให้ออกหมายจับ ปรับนายประกันจำเลยที่ 2 และ 4


ทั้งนี้ ทางศาลอุทธรณ์ ยังมีการพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ปัญหาของอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งเห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการบริหารบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 อีก 2 บริษัท แต่พยานหลักฐานโจทก์ ยังมีข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนกระทำความผิดร่วมกับคนอื่นหรือไม่ ซึ่งคดีนี้


เป็นคดีทางอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าคดีอาชญากรรมพิเศษทั่วไป เมื่อคดีมีความสงสัยจึงยกประโยชน์แห่งการสงสัยให้จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น


โดยปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยที่ 2 และ 4 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า ที่จำเลยที่ 2 และ 4 ยกข้อกฎหมายมาต่อสู้นั้นฟังไม่ขึ้น ทั้งโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้ง 2 มีอำนาจบริหารสั่งการในบริษัทของจำเลยที่ 1 เห็นว่าก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 มีกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ทั้งที่สุจริตและไม่สุจริตเกิดขึ้นมากมาย ที่ไม่สุจริตได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล ทำให้มีกฎหมายจำนวนมากออกมาแก้ไข ความผิดในกรณีนี้ เกี่ยวข้องกับกฎหมาย พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 แม้จะไม่การระบุเรื่องธุรกิจไทม์ แชร์ริ่ง ก็ตาม


แต่การหลอกลวงประชาชน ด้วยความไม่สุจริต ด้วยวิธีดังกล่าว จึงเป็นการฉ้อโกง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2,4,5 ร่วมกับประกอบกิจการอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนหลอกให้สมัครสมาชิก โดยหวังว่าให้สมาชิกเป็นฝ่ายขาย โดยให้ค่าตอบแทนแก่พนักงานขายเกินกว่าบริษัทจำเลยที่ 1 จะจ่ายให้แก่สมาชิกได้ กระทั่งรัฐต้องเข้าไปแทรกแซงให้ปิดบริษัทก่อนจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและประชาชน มากกว่านี้


พร้อมกับเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษา ยืนลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน จำคุก 24,189 กรรม ลงโทษกรรมละ 5 ปี รวมจำคุก 120,945 ปี แต่ความผิดฐานนี้ กฎหมายกำหนดให้รับโทษสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงพิพากษาจำคุก จำเลยที่ 2 และ 4 เป็นเวลา 20 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย นสพ ตลาดวิเคราะห์ ฉบับที่ 337 ประจำวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น