ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คนขายตรงเปิดวิชั่นสู่ AEC วอนภาครัฐช่วยสนับสนุน









ผู้บริหารบริษัทเครือข่ายร่วมเปิดวิสัยทัศน์การเข้าสู่ AEC ผ่านเสวนาหัวข้อ ธุรกิจขายตรง กับแผนรุก และรับการเข้าสู่ AEC ยันแนวคิดตรงกันคือ ธุรกิจเครือข่ายไทยสามารถแข่งขันในอาเซียนได้ แต่ผู้ประกอบการต้องมีความพร้อม และต้องเร่งปรับตัวให้ทันก่อนเปิดตลาด อีกทั้งหน่วยงานรัฐต้องให้การช่วยเหลือสนับสนุนธุรกิจเครือข่ายอย่างจริงจัง


เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดสัมมนาเรื่อง ขายตรงไทย ก้าวไกลสู่ AEC ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยมี
วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมเชิญ จิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการสำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การคุ้มครองผู้บริโภคกับธุรกิจขายตรง และนพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ แผนรองรับ AEC กับธุรกิจขายตรง พร้อมกันนี้ภายในงานยังได้จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ ธุรกิจขายตรง กับแผนรุก และรับการเข้าสู่ AEC โดยได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐและผู้บริหารจากบริษัทเครือข่ายเข้าร่วมในการเสวนาครั้งนี้ด้วย


ดร.สมชาย หัชลีฬหา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จอย แอนด์ คอยน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (J&C) กล่าวว่า การที่จะเข้าไปทำธุรกิจเครือข่ายในอาเซียนนั้น แต่ละบริษัทควรจะเตรียมความพร้อมเชิงการตลาด การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่จะต้องครอบคลุมบริษัททั้ง 10 ประเทศในอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศนั้นจะมีข้อกฎหมายที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และแรงงานได้ แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและความสามารถของการบริโภค ซึ่งจากฐานข้อมูลในปี 2554 ประเทศที่มีการบริโภคและมีกำลังซื้อมาที่สุดในอาเซียน ได้แก่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยหากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา ไทยถือว่ามีกำลังซื้อมากกว่า ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย


การตลาดตอนนี้ถือว่าแข่งขันกันมาก นี่ถือว่าไม่ได้วัดกันที่ปริมาณอย่างเดียว แต่วัดกันที่คุณค่าในสิ่งที่เป็นนวัตกรรม ขายความแตกต่าง สำหรับมาเลเซียแล้ว ถือว่ามีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ทั้งกำลังซื้อและกฎหมายที่เข้มงวด และการรวมตัวกันเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นต้องพิจารณาและหาจุดแข็งของเราเอง สำหรับประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็จะดึงคนเข้ามาได้มากขึ้นและค่อนข้างอิสระมากขึ้น


นอกจากนี้ยังมองว่า หากมีความร่วมมือกันในอาเซียน ประเทศไทยจะได้เปรียบในเรื่องจุดยุทธศาสตร์ เพราะสามารถขนย้ายสะดวก ในแง่ของธุรกิจเครือข่ายก็จะได้เปรียบ เพราะคนธุรกิจเครือข่ายมีจำนวนมาก แต่การขายสินค้าในด้านกำลังซื้อก็จะแตกต่างกัน รายได้ของประชากรมาเลเซียมากกว่าประมาณเท่าตัวดังนั้น ประเทศไทยจะต้องรู้ว่าจะปรับตัวอย่างไรในการเข้าไปสู่ AEC


ด้าน นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และนายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประเมินได้ว่าการเปิดประชาคมอาเซียนหลายคนคงมองว่าจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้หรือไม่ ซึ่งตนมองว่าประเทศไทยอาจจะเป็นรองจากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งนี้ การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารและยา ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศไทยมีกฎระเบียบและเข้มงวดค่อนข้างสูง และกฎระเบียบบางอย่างยังเข้มกวดกว่าบางประเทศ ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบทั้งสองประเทศอยู่เล็กน้อย


อย่างไรก็ตาม การเข้าไป AEC ทั้ง 10 ประเทศนั้น ต้องเป็นไปแบบขั้นบันไดไม่ได้ปรับทีเดียวแต่จะปรับไปทีละขั้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนทางด้านบุคลากรเป็นจุดเด่นในแง่ของการให้บริการ การต้อนรับที่มีรอยยิ้มที่แจ่มใส ในส่วนนี้จะเป็นข้อได้เปรียบ แต่ก็มีจุดเสียเปรียบในเรื่องของภาษา เช่นที่ประเทศมาเลเซีย ภาษาอังกฤษค่อนข้างดี เวลาเดินทางไปประเทศอื่นการสื่อสารจะง่ายกว่า ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือว่าผู้นำควรที่จะฝึกภาษาให้มาก เพราะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังหนีไม่พ้นการใช้ภาษา หากนักธุรกิจอิสระขายตรงพัฒนาภาษาได้มากขึ้น ก็จะสามารถผลักดันสินค้ากระจายสู่ตลาดอาเซียนได้มากขึ้นด้วย


ส่วน สุมิตร วชโรดมทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิลค์กี้เวย์ เน็ตเวิร์ค จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัจจัยบางส่วนที่เข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใดแต่อย่างไรก็ตาม ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นั้นผู้ประกอบการจะต้องพยายามจัดการบริหารงานทุกอย่างให้เสร็จสรรพ และรวมไปถึงคนไทยทุกคนต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ใช่รอให้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 แล้วค่อยปรับตัว


คนไทยต้องคิดและวางแผนกันไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะวันนี้ประเทศไทยจะช้าไม่ได้ เพราะถ้าช้านิดเดียวโอกาสที่จะพลาดมีเยอะมาก เพราะตลอดเวลาที่ประเทศไทยทำการค้าระหว่างประเทศ มีแต่โตวันโตคืน นับวันคุณภาพสินค้าและบริการจะสูงขึ้น ตรงนี้ต้องนำไปคิดว่าเราจะสู้เขาได้หรือไม่ และต้องเตรียมพร้อมในเรื่องข้อมูลข่าวสาร อย่าลืมว่าเราไม่สามารถทำธุรกิจได้เพียงคนเดียว เราต้องช่วยเหลือกันด้วย นี่คือโอกาสของประเทศไทย และโอกาสของธุรกิจเครือข่ายไทย


ฐิตินันท์ สิงหา นิติกรชำนาญการ รักษาการแทนผู้อำนวยการส่วนขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่าขณะที่รัฐบาลได้มีการปรับแผนงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องในปี 2528 ซึ่งภาครัฐมองว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ หากผู้ประกอบการไทยสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้ดี สร้างแบรนด์ดีๆ นำไปสู่ตลาดอาเซียนได้จริงก็เป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้มีการหารือพูดคุยในเรื่องนี้และให้ความสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้าการบริการ และด้านแรงงาน อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่มีกำแพงภาษีมาเกี่ยวข้อง การเคลื่อนย้ายทั้งหมดจะต้องรวดเร็ว


ขณะเดียวกัน ในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ก็ได้มีการประชุมร่วมกันและได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสินค้าในเชิงลึก เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานภาครัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาสนใจและพยายามที่จะติดต่อ สคบ. เข้ามาเพื่อขอเชื่อมโยงฐานข้อมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขบางข้อ หลังจากที่ได้เซ็นสัญญาไปบ้างแล้วในเบื้องต้น




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย นสพเดอะ พาวเวอร์ เน็ตเวิร์ค ฉบับที่ 216 ประจำวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น