ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เลขาฯตอกย้ำตราสัญลักษณ์ "สคบ." ชูเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดขายตรงอาเซียน (AEC)


จิรชัย ดันตราสัญลักษณ์ สคบ. ขึ้นเป็นนโยบายระลอก 2 หลังเปลี่ยนเก้าอี้ รมต.ใหม่ วราเทพ เสียบแทน หวังเป็นเกราะกันภัยหากผู้ประกอบการต้องการเปิดตลาดอาเซียน หนุนธุรกิจขายตรงทั้งในและ ตปท.พร้อมรับมือ AEC...ร่วมหารือ DSI ต้องแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ป้องกันการลากเกมยืดเฉกเช่นกรณีแชร์ลูกโซ่ DCHL

นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ สคบ. ได้หารือร่วมกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เกี่ยวกับการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งมี 2 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ
ประเด็นที่ 1. การสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการขายตรง ในบทบาทของ สคบ.และบทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่จะต้องมีการทำงานร่วมกัน
ประเด็นที่ 2. เรื่องข้อมูลที่จะต้องมีการประสานงานกันอย่างชัดเจนและเชื่อมโยงกัน รวมถึงการดำเนินงานจะต้องไม่ล้าช้าหรือยืดเยื้อเหมือนเช่นที่ผ่านมา

โดยเนื้อหาที่ สคบ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการขายตรงและทางสมาคมต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจขายตรง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการทำความเข้าใจกับกลุ่มธุรกิจขายตรงในการที่จะส่งเสริมธุรกิจนี้ให้ก้าวไกล ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ 1. ธุรกิจจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย อะไรที่เป็นข้อห้ามและเกิดผลเสียต่อสังคม ห้ามกระทำการอย่างเด็ดขาด และ 2. การสนับสนุนธุรกิจขายตรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยเฉพาะในส่วนของการสนับสนุนธุรกิจขายตรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตรงนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนธุรกิจขายตรงในประเทศให้ทัดเทียมนานาประเทศ สคบ.จะมีนโยบายที่ส่งเสริมธุรกิจนี้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ซื้อสินค้า รวมถึงการเยียวยาความเสียหายของแต่ละบริษัท ตรงนี้จะมีหรือไม่ ซึ่งหากมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย ก็ถือว่าทำถูกต้องตามนโยบายของ สคบ. และจะมีการมอบตราสัญญาลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการต่อไป
ส่วนการสนับสนุนธุรกิจขายตรงในต่างประเทศนั้น สคบ.รวมถึงประเทศอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ขณะนี้ได้มีการประสานงานความร่วมมือกันบ้างแล้ว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการนำธุรกิจขายตรงมาเปิดตลาดในเวทีอาเซียนให้ได้

จึงได้มีการหารือกับทางเลขาธิการอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยท่านเลขาธิการฯ ค่อนข้างที่จะเป็นห่วงในเรื่องของกฎหมาย เนื่องจากในแต่ละประเทศกฎหมายจะแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้เอง จึงจำเป็นที่จะต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้ ในแต่ละประเทศมีความสอดคล้องกัน โดยที่ไม่มีกำแพงทางการค้ากีดกั้น ซึ่งก็ได้มีการหารือในเบื้องต้นบ้างแล้ว ด้วยการจะให้มีการจับมือกับทางภาครัฐและผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางร่วมกัน

เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เผยต่ออีกว่า สำหรับมติในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคของชาติอาเซียนที่จะมีการทำงานในทิศทางเดียวกัน มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1. การเยียวยาผู้บริโภคข้ามพรมแดน ซึ่งจะเป็นการบอกถึงว่า หากคนในชาติอาเซียนเกิดความเสียหาย จะมีการร้องเรียนได้ที่ไหน รวมถึงกระบวนการขั้นตอนในการจัดการจะดำเนินการอย่างไร เป็นต้น 2. กรณีสินค้าที่มีการเรียกคืนสินค้า มีการสั่งห้ามขายแบรนด์สินค้าไหนบ้าง ซึ่งใน 10 ประเทศ จะต้องแชร์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อที่จะได้รู้ว่า มีสินค้าไหนบ้างที่ห้ามขาย มีสินค้าอะไรที่สั่งเรียกคืน ในประเทศนั้น ๆ และ 3. การสร้างความรู้ในกลุ่มต่าง ๆ ล่าสุดทาง สคบ. เอง ได้รับอาสาจะมาดำเนินการในกลุ่มของเยาวชน เพื่อต้องการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับกลุ่มนี้ก่อน

นโยบายการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนในเบื้องต้นนั้น จะมีทางหน่วยงานของแต่ละประเทศประสานงานร่วมกัน เช่น หากคนในประเทศอินโดนีเซียมาที่ประเทศไทย และได้ซื้อสินค้ามาใช้บริการและเกิดความเสียหาย ก็สามารถที่จะร้องเรียนที่ประเทศไทยได้เลย ซึ่งทาง สคบ.ประเทศไทยก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้รับผิดชอบ เช่นเดียวกับในประเทศ อื่น ๆ เช่นเดียวกัน ก็จะมีหน่วยงานตรงนี้รับผิดชอบ หากพบว่ามีผู้บริโภคเกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ นายจิรชัย ยังได้พูดถึงกรณีที่ได้เข้าไปหารือกับ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา ว่าท่านรัฐมนตรีวรเทพ ได้ขอดูการทำงานในเบื้องต้นของ สคบ. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมกับแนวทางที่จะดำเนินการในปี 2556 รวมถึงยังมีการมอบหมายนโยบายอยากจะให้ทาง สคบ. บูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้มีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย พร้อมกับการให้ความสำคัญถึงกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ว่าตรงนี้ สคบ.จะมีการดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจของไทยสามารถเข้าไปเปิดตลาดในต่างประเทศได้

ส่วนในเรื่องของตราสัญลักษณ์ สคบ. เพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคนั้น ตนเองได้มีการหารือกับทางรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังติดขัดอยู่กับในเรื่องของอัตราการชดเชยบางอย่างที่ยังไม่ครบถ้วน โดยทางท่านรัฐมนตรีก็ได้มีการแนะแนวทางไว้ 3 เรื่อง คือ 1. ให้ทางธนาคารการันตี 2. บริษัทอาจจะต้องมีการตั้งกองทุน และ 3. ต้องมีการทำประกัน ซึ่งจะเป็นการดูแลถึงความเสี่ยงของผู้ประกอบการเหล่านั้น ที่เคยมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค โดยอาจจะใช้ผู้บริโภคเป็นเกณฑ์สำคัญ

ส่วนกรณีที่ว่า บริษัท นีโอ ไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะมีการนำร่องติดตราสัญลักษณ์ สคบ. นั้น ณ ขณะนี้ทางผู้บริหาร บริษัท นีโอไลฟ์ฯ ได้มีการมาประสานในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยให้ความสนใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แต่ต้องอยู่ภายใต้องค์ประกอบของภาครัฐด้วย นั่นคือ 1. ต้องดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 2. ต้องดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย อื่น ๆ ที่ถูกต้อง และ 3. บริษัทต้องมีแบงก์มาการันตี มีการตั้งกองทุน หรือมีการทำประกัน โดยในลักษณะของการตั้งกองทุนจะต้องเป็นการตั้งโดยบริษัทของเขาเอง ซึ่งทาง สคบ.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ. ตลาดวิเคราะห์ ประจำวันที่ 1- 15 ธันวาคม 2555 ฉบับ 333

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น