ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เปิดใจ‘วิธิเนศร์ เนียมมีศรี’นิติกรชำนาญการ สคบ. ไม่เคยยืนยันว่าท็อปอัพทูริชเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย”







hhh (Mobile)

 


อยากเรียนถาม คุณวิธิเนศร์ เกี่ยวกับกรณีของบริษัท ท็อป อัพทูริช ซึ่งที่ผ่านมาพยายามบอกประชาชนเสมอว่า ภาครัฐให้การยอมรับว่ากิจการของเขาชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการออกหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน


กรณีท็อปอัพฯ เขามีหนังสือขอหารือในเรื่องของการประกอบธุรกิจของเขาว่า เข้าข่ายการประกอบธุรกิจขายตรงหรือไม่ ซึ่งทาง สคบ.ก็ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อพิจารณาการประกอบธุรกิจของบริษัทว่า เข้าข่ายการประกอบธุรกิจขายตรงหรือไม่ เราก็มีหนังสือตอบกับไปที่ นร.0306/3705 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ก็เป็นการแจ้งผลการพิจารณาข้อหารือการจดทะเบียนขายตรงของบริษัท ตามที่ปรากฏที่คุณเสนอมา ก็คือ บริษัทนั้นนำข้อความไปลง เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ครบถ้วนทั้งหมดตามหนังสือที่สคบ.ได้มีการแจ้งไปยังผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีการลงไปในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับตัวเขา


จริง ๆ แล้วในเนื้อหาของหนังสือนั้นตามที่เขาได้มีการลง เขาบอกว่า สคบ.ได้พิจารณาข้อหารือของท็อปอัพทูริช แล้วเห็นว่า ลักษณะการประกอบธุรกิจของท็อปอัพทูริช ไม่เป็นการประกอบธุรกิจขายตรงตามพ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545


ซึ่งเขาก็ได้ลงข้อความเพียงแค่นี้ แต่จริง ๆ แล้วนั้น มีข้อความอีกซึ่งเขาลงไม่ทั้งหมด ผมจึงขออนุญาตอ่านแล้วก็เพื่อให้เป็นการทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งหลายที่ติดตามอยู่ตรงนี้


มันจะมีข้อความต่อไปอีกว่า ทั้งนี้การประกอบธุรกิจในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายลักษณะการประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง แต่เมื่อพิจารณาจากแผนการจ่ายผลตอบแทนของบริษัทแล้ว เห็นว่ารายได้ของสมาชิกของบริษัท มีลักษณะเป็นรายได้ที่กำหนดให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักจากการรับสมัครบุคคลหรือแนะนำสมาชิกใหม่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น โดยที่ผลตอบแทนของสมาชิกที่เป็นรายได้หลัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค ซึ่งขัดกับกฎหมายตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545


ซึ่งมาตรา 19 นี้ เป็นลักษณะของการประกอบธุรกิจขายตรง ที่รายได้หลักของสมาชิกไม่ได้มาจากการขายสินค้า แต่ถ้ามาจากการชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่าย โดยคิดคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19 พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545


 อันนี้คือใจความสำคัญเลยใช่ไหม


ครับซึ่งนี่คือใจความที่ผู้ประกอบการได้นำไปเผยแพร่ไม่ทั้งหมด เป็นการหยิบยกเฉพาะบางประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ แต่ถ้าหากว่าประชาชนโดยทั่วไปได้เห็นข้อความในหนังสือตรงนี้ทั้งหมด ก็คิดว่ามีความกระจ่างพอสมควร


ดูแล้วก็เป็นการเอาข้อความยืนยันบางส่วนไปสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่าสมาชิกของตนเอง หรือคนมาร่วมกิจกรรมเครือข่าย


 ทีนี้ดูจากมาตรา 19 ที่ว่านี้ ดูจากที่คุณวิธิเนศธ์พูดมาทั้งหมดก็น่าจะผิดชัดเจน


ก็อาจจะเข้าข่าย ถ้าหากว่ารายได้ของสมาชิกนั้นไม่ได้มาจากการขายสินค้าหรือบริการ แต่ถ้าหากว่ารายได้มาจากการชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายโดยคิดคำนวณจากจำนวนเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใดก็แล้วแต่ ถ้าทำเช่นนี้ ก็จะเข้าข่ายความผิดตรามาตรา 19 ของพ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง


 โทษหนักไหม


ก็มีทั้งจำทั้งปรับนะครับ


ในส่วนของกระบวนการในการดำเนินการของ สคบ.จะดำเนิน การอย่างไร เท่าที่ทราบก็มีคนร้องเรียนไปยังบก.ปคบ.เหมือนกันมีผู้ได้รับความเสียหายหรือไม่อย่างไร


การทำงานตอนนี้ก็ต้องทำงานร่วมกันทั้งหมด มันก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. เขาก็ได้มีหนังสือเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงว่า บริษัทนี้ได้มีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือไม่ มีแผนการตลาดเป็นอย่างไร ตรงนี้ทาง สคบ.ก็มีการประสานข้อมูลระหว่างกัน


 ดูจากรูปแบบการทำธุรกิจ ในรูปแบบการทำตลาดต่าง ๆ ถ้าเจาะลึกลงไป ในมุมมองของ สคบ.คิดว่าชัดไหม


อันนี้เรายังไม่อยากฟันธง เพราะว่ามันต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างว่า รายได้ของสมาชิกมาจากส่วนไหน ถ้าหากรายได้สมาชิกไม่ได้มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดทางกฎหมายได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้เฉพาะกฎหมายขายตรงอย่างเดียว อาจจะเป็นความผิดเกี่ยวข้องกับพ.ร.ก.การกู้ยืนเงินอันเป็นการฉ้อโกงด้วย


ทีนี้ในเรื่องของการที่บริษัทมีการอ้างชื่อหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง หรือธุรกิจแชร์ลูกโซ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ดีเอสไอ สคบ. หรือบก.ปคบ. มีการเขียนหนังสือชี้ชวนไปยังมวลหมู่สมาชิกทั้งหลายว่า องค์กรเหล่านี้ให้การรับรองว่าบริษัทนี้ไม่ผิดกฎหมาย ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่ทราบว่า สคบ.เราเคยยืนยันไปในลักษณะนั้นหรือเปล่า


คือถ้าดูจากหนังสือที่ตอบข้อหารือ ทาง สคบ.หลังจากที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยออกมา ทาง สคบ.ไม่เคยมีการรับรองว่า การประกอบธุรกิจดังกล่าวว่า เป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย และก็ผมคิดว่าไม่มีหน่วยงานไหนที่จะไปรับรองตรงนี้ เพราะตามหนังสือเราเพียงตอบข้อหารือว่าการประกอบธุรกิจนั้น ไม่เป็นการประกอบธุรกิจขายตรง และก็มีข้อความต่อไปว่า การประกอบธุรกิจของบริษัทนั้นอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย และมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ซึ่งหนังสือตรงนี้ถือว่าเป็นการยืนยันได้ชัดเจนว่า สคบ.นั้นไม่ได้เป็นการรับรองการประกอบธุรกิจของบริษัทว่า เป็นการประกอบธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย


เรียนถามว่าคุณวิธิเนศว์ว่า กรณีที่นำชื่อ สคบ.ไปอ้างว่ามีการรับรองว่าถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเอาไปแสวงหาประโยชน์ ตรงนี้ถือว่ามีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ จะมีการดำเนินการอย่างไร


กรณีที่นำชื่อของหน่วยงานไปแอบอ้างว่า ให้การรับรองว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ทาง สคบ.ก็คงจะเป็นหน้าที่ของสำนักกฎหมายและคดี จะทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า พฤติกรรมการนำเอาชื่อหน่วยงานดังกล่าวไปแอบอ้างหรือไม่ ถ้าหากเข้าข่ายความผิดเราก็จะดำเนินการต่อไป


ตอนนี้มีภาพและข้อมูลปรากฏในเว็บไซต์ ต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งบริษัทก็เชิญชวนคนมาร่วมธุรกิจกับโฆษณาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าวมากระทบความเชือมั่น ก็จะเอาตรงนี้มาเป็นเครื่องมือ ตอนนี้หน่วยงานภาครัฐเหมือนดาบสองคม ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ออกมาทำอะไร เขาก็สามารถดำเนินธุรกิจไปในลักษณะที่อาจสร้างความเสียหายกับประชาชน อันนี้ก็อยากให้คุณวิธิเนศธ์ ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ประชาชน แนะนำประชาชนว่าควรจะทำอย่างไร


สคบ.มีภาระหน้าที่ รวมทั้งการรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ขายตรงฯ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมาจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงกับ สคบ. หากผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับการจดทะเบียน ก็จะมีโทษทางกฎหมายทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งตรงนี้จะต้องตรวจสอบบริษัทที่จะมาประกอบธุรกิจนั้น จะต้องมีการยื่นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งแผนการจ่ายผลตอบแทน ซึ่งแผนการจ่ายผลตอบแทนจะต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19 และมาตรา 21 ซึ่งแผนการจ่ายผลตอบแทนนั้นรายได้หลักของสมาชิกจะต้องมาจากการจำหน่ายสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันมีกิจการมีผู้ประกอบธุรกิจมายื่นคำขอจดทะเบียนกับ สคบ.ค่อนข้างเยอะประมาณ 800 กว่าราย แต่หลังจากที่ สคบ.มีการสำรวจข้อมูลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานผลการดำเนินธุรกิจมายังสคบ. ก็ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจขายตรงจริง ๆ และยังมีตัวตนอยู่ประมาณ 350 กว่าบริษัท เพราะฉะนั้นบริษัทที่หายไปนั้นก็อาจจะไม่ได้ประกอบธุรกิจแล้ว หรือบางกรณีก็มีการย้ายที่อยู่ไปโดยไม่แจ้งหรือรายงานมายัง สคบ. มันก็คล้าย ๆ กับว่าหลุดจากสารบบไปเลย 300 กว่าบริษัท ปัจจุบันมีลักษณะการยื่นจดทะเบียนกับสคบ.เพื่อที่จะสร้างความน่าเชื่อถือกับประชาชนทั่วไป ว่าบริษัทนั้นได้รับการจดทะเบียนจาก สคบ.แล้ว ตรงนี้ก็เหมือนกับดาบสองคมด้วยเช่นกัน เพราะเอาใบอนุญาตมาอำพรางซ่อนเร้น คล้าย ๆ มาหลบอยู่ใต้พ.ร.บ.ขายตรงฯ เพื่อทำให้เห็นว่าบริษัทของเขาเป็นบริษัทที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วเขายื่นขอใบอนุญาตขายตรง เวลายื่นแผนมาทำแบบหนึ่ง แต่เขาก็ใช้แผนอีกแบบหนึ่ง แล้วก็มีหลายบริษัทที่สคบ.ร่วมมือกับดีเอสไอ ดำเนินการจับกุม ดำเนินคดี แล้วก็พิพากษาไปแล้ว บางกิจการจำคุกเป็นพัน ๆ ปี แต่โดยผลของกฎหมายก็ลดโทษให้เหลือ 20 ปี ก็ดำเนินการไปแล้วหลายบริษัท


ผมเองก็มีข้อสังเกต กรณีมีการชักชวนให้ร่วมธุรกิจ หนึ่ง.ก็คือชักชวนให้ร่วมลงทุน พวกแชร์อะไรต่าง ๆ เช่น แชร์ข้าวสาร แชร์กะปิ แชร์น้ำมัน แชร์ข้าวกล่อง แชร์รถยนต์ แชร์ยางพารา หรือแชร์ล็อตเตอรรี่ เขาจะมีการชักชวนแตกต่างกับธุรกิจขายตรง ขายตรงค่าสมัครสมาชิกไม่เยอะ แล้วก็รายได้ของสมาชิกมาจากการขายสินค้า ขายสินค้าเยอะก็ได้ผลตอบแทนเยอะ แต่แชร์ลูกโซ่ จะเน้นการชักชวนให้ลงทุน ลงทุนอะไรก็แล้วแต่เขาจะอุปโลกน์ขึ้นมา สมมุติลงทุน 1,000 บาท ได้ ผลตอบแทน 1,200 บาท โดยไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่เอาเงินมาลงทุน สอง.ก็ได้ผลตอบแทนในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจจะหนึ่งเดือนหรือสองเดือน ซึ่งในลักษณะโดยธุรกิจโดยทั่วไป การที่จะเอาเงินมาลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเอาเงินมาลงทุนโดยไม่ต้องทำอะไร มันขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์ อย่างเงินกู้นอกระบบก็ดี มีเงินแล้วให้กู้ อันนี้ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร อันนี้เป็นการเอาเงินมาลงทุนไม่ต้องทำอะไรแล้วได้ผลตอบแทนเยอะ สิ่งที่ผมอยากจะฝากก็คือ เราต้องมีสติ ต้องขจัดความโลภออกไป สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญ เพราะธุรกิจแชร์ลูกโซ่ อาศัยรายได้จากสมาชิกใหม่ ถ้าวันหนึ่งไม่มีสมาชิกใหม่เข้ามา มันก็จะล้ม เพราะรายได้ของเขามาจากการเอาเงินจากรายใหม่มาจ่ายรายเก่า


เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่า เราติดตามข่าวมาโดยตลอด เพราะธุรกิจประเภทนี้ไม่มีบริษัทใดที่จะอยู่ชั่วฟ้าดินสลายเลยวันใดวันหนึ่งต้องล้มอย่างแน่นอน ปัญหาก็คือ จะล้มเมื่อไร เพียงแต่ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะเข้าได้ถึงเร็วขนาดไหน ส่วนมากจะรู้ก็สายแล้ว ทีนี้คำถามสุดท้าย กรณีที่บริษัทถูกชี้ชัดจากหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง สคบ.แล้วว่าไม่เข้าหลักกฎหมายขายตรง แต่วิธีการทำธุรกิจถอดแบบมาจากธุรกิจ


ขายตรงเป๊ะเลย อันนี้ดูในกฎหมาย พ.ร.บ.ขายตรงฯ ก็มีการเขียนเอาไว้เหมือนกันที่ให้อำนาจ สคบ.ดำเนินการได้ แม้จะไม่ได้เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม


คือกรณีบริษัทดังกล่าว ได้มีหนังสือหารือเข้ามา เรามีหนังสือตอบกลับไปว่า การประกอบธุรกิจของบริษัทนั้นไมได้เป็นการประกอบธุรกิจขายตรงตาม พ.ร.บ.ขายตรงฯ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ว่า ไม่เข้าข่ายการประกอบธุรกิจขายตรงแล้ว จะดำเนินธุรกิจได้ในทันที มันก็ต้องใช้กฎหมายอื่นประกอบ เช่นดู พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกง หรือตามประมวลกฎหมายอาญาก็ดี ว่าการประกอบธุรกิจในลักษณะดังกล่าว อาจมีความผิดในกฎหมายอื่น ไม่ใช่ สคบ.บอกว่าไม่เข้าข่ายธุรกิจขายตรงแล้ว ไม่ผิดกฎหมายอื่นใดเลย ต้องไปดูกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย


ปัญหาก็คือใครจะเป็นคนพิจารณาว่า กฎหมายอื่นจะผิดหรือไม่ผิด


อันนี้คงต้องหารือร่วมกันทั้ง สคบ. บก.ปคบ. กลุ่มงานป้องปรามการเงินนอกระบบของกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นความผิดของดีเอสไอก็ได้ เพราะ 3 - 4 หน่วยงานก็จะต้องหารือร่วมกัน ว่าเข้าข่ายความผิดอื่นหรือไม่


 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น