ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จ่อฟันบัตรเติมเงินTopup2Rich ฐานตัดต่อข้อมูลแอบอ้างภาครัฐหากิน







ttr (Mobile)

 


สคบ.,ดีเอสไอ, บก.ปคบ., และ ปปง. ชี้ชัดไม่เคยการันตีว่าค่าย Topup2Rich ทำธุรกิจชอบด้วยกฎหมาย ตามที่บริษัทได้โฆษณาชวนเชื่อทางเว็บไซต์ เตรียมยื่นฟ้องหลังตัดตอนข้อความ อ้างชื่อองค์กรการันตีความบริสุทธิ์ของตนเอง เหตุยังมีพฤติกรรมที่ส่อว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายด้าน เริ่มตั้งแต่กรณีความผิดตามมาตรา 19 พ.ร.บ.


ขายตรงและการตลาดแบบตรง และการระดมทุนนอกระบบ รวมไปถึงที่มาของรายได้ มีที่มาที่ไปอย่างไร เตือนประชาชนใช้วิจารณญาณก่อนร่วมธุรกิจ


กรณีท็อปอัพทูริช หรือ T2R แม้ในวันนี้จะยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลออกมาชี้ชัดว่า เป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย แต่สิ่งใดก็ตามที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายของประชาชน “ตลาดวิเคราะห์” ก็จะนำเสนอเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยให้ผู้คนได้ตรึกตรอง ยั้งคิด ก่อนตัดสินใจ หรือตั้งข้อสังเกตในหลาย ๆ มิติ เพราะที่ผ่านมาประชาชนเป็นจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ อาทิ น้ำมันหอมระเหย แชร์ล็อตเตอรี่ มูลค่าหลายพันล้านบาทมาแล้ว


ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มักจะมีคำถามจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับ บริษัท ท็อปอัพทูริช จำกัด หรือ T2R ว่า เป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายหรือไม่อย่างไร เพราะรูปแบบการทำธุรกิจคือ การใช้แผนการตลาดจ่ายผลตอบแทนไปในลักษณะธุรกิจขายตรง


ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรง แต่ยังทำธุรกิจขายตรงได้ คำถามก็คือว่า ถ้าอย่างนั้นคนที่ทำธุรกิจขายตรง ต่อไปก็ไม่จำเป็นจะต้องไปขอใบอนุญาตขายตรงให้เสียเวลาใช่หรือไม่


แค่เพียงบริหารแผนการตลาดไม่ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “โอเวอร์เพลย์” ก็สามารถยืนอยู่บนถนนธุรกิจสายนี้ได้


นี่คือ สิ่งที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีข้อสงสัย แม้แต่ตัวผู้บริหารของ ท็อปอัพทูริช เองก็อยากรู้คำตอบเช่นกันว่ากฎหมายเอื้อให้พวกเขาทำธุรกิจได้จริงหรือไม่


เรื่องนี้ เป็นประเด็นทางกฎหมาย ที่น่าศึกษากรณีหนึ่ง เพราะเท่าที่วงการธุรกิจขายตรงถือกำเนิดมาก็ยังไม่เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยนัก


ในมุมของ ท็อปอัพทูริชเองไม่เพียงแต่ถูกสังคมตั้งคำถาม แม้แต่มวลหมู่สมาชิกที่มาร่วมทำธุรกิจกับท็อปอัพทูริช ก็มีความคลางแคลงใจเช่นกัน


เส้นทางการต่อสู้ ของท็อป อัพทูริช ขั้นตอนที่หนึ่งเริ่มต้นด้วยการ ทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในเรื่องของการประกอบธุรกิจของตนเองว่า เข้าข่ายการประกอบธุรกิจขายตรงหรือไม่


ต่อจากนั้น ทาง สคบ.ก็ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อพิจารณาตามคำร้องขอ


จนกระทั่งในที่สุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 อันเป็นยุคที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นเลขาธิการ สคบ.ก็ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังท็อปอัพทูริช ที่นร.0306/3705 โดยแจ้งว่าผลการพิจารณาข้อหารือการจดทะเบียนขายตรงของบริษัท ทางคณะกรรมการขายตรงและการตลาดแบบตรงเห็นว่า ลักษณะการประกอบธุรกิจของท็อปอัพทูริช ไม่เป็นการประกอบธุรกิจขายตรงตาม พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 เนื่องจาก...สินค้าไม่เข้าข่ายการประกอบธุรกิจขายตรง เป็นเหตุให้ ท็อปอัพทูริช ไม่มีความจำเป็นจะต้องขอใบอนุญาตขายตรง


ประเด็นนี้แหละที่ผู้บริหารได้โฆษณาผ่านเว็บไซต์ของตนเอง โดยการนำเอาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรมายืนยันกับเหล่าสมาชิกของตนเองว่า เป็นกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นกิจการ “ขายตรงเถื่อน” แต่เมื่อ “ตลาดวิเคราะห์” ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับพบว่า ทางฝ่ายบริหารของท็อปอัพทูริช มีการนำเอาเอกสารการตอบรับจาก สคบ.เพียงบางส่วนเท่านั้นมาเผยแพร่


ซึ่งไม่ได้ลงข้อความทั้งหมดที่ สคบ.ตอบกลับไป จนทำให้ผู้คนเข้าใจไปว่า การกระทำของบริษัทฯ ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย สามารถดำเนินการธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้อย่างเสรี


นายวิธิเนศร์ เนียมมีศรี นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นกับ “ตลาดวิเคราะห์” ว่า กรณี ท็อปอัพฯ เขามีหนังสือขอหารือในเรื่องของการประกอบธุรกิจของเขาว่า เข้าข่ายการประกอบธุรกิจขายตรงหรือไม่ ซึ่งทาง สคบ.ก็ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อพิจารณาการประกอบธุรกิจของบริษัทว่า เข้าข่ายการประกอบธุรกิจขายตรงหรือไม่ เราก็มีหนังสือตอบกับไปที่ นร.0306/3705 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ก็เป็นการแจ้งผลการพิจารณาข้อหารือการจดทะเบียนขายตรงของบริษัท ตามที่ปรากฏที่คุณเสนอมา ก็คือ บริษัทนั้นนำข้อความไปลงเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ครบถ้วนทั้งหมดตามหนังสือที่ สคบ.ได้มีการแจ้งไปยังผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีการลงไปในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับตัวเขา จริง ๆ แล้วในเนื้อหาของหนังสือนั้นตามที่เขาได้มีการลง เขาบอกว่า สคบ.ได้พิจารณาข้อหารือของท็อปอัพทูริช แล้วเห็นว่า ลักษณะการประกอบธุรกิจของท็อปอัพทูริช ไม่เป็นการประกอบธุรกิจขายตรงตาม พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ซึ่งเขาก็ได้ลงข้อความเพียงแค่นี้ แต่จริง ๆ แล้วนั้น มีข้อความอีกซึ่งเขาลงไม่ทั้งหมด


“ในเอกสารที่ตอบกลับไป จะมีข้อความต่อไปอีกว่า ทั้งนี้การประกอบธุรกิจในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายลักษณะการประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง แต่เมื่อพิจารณาจากแผนการจ่ายผลตอบแทนของบริษัทแล้ว เห็นว่ารายได้ของสมาชิกของบริษัท มีลักษณะเป็นรายได้ที่กำหนดให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักจากการรับสมัครบุคคลหรือแนะนำสมาชิกใหม่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น โดยที่ผลตอบแทนของสมาชิกที่เป็นรายได้หลัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค ซึ่งขัดกับกฎหมายตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545...


ซึ่งมาตรา 19 นี้ เป็นลักษณะของการประกอบธุรกิจขายตรง ที่รายได้หลักของสมาชิกไม่ได้มาจากการขายสินค้า แต่ถ้ามาจากการชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายโดยคิดคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19 พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545”


นี่คือปมเงื่อน ที่ยังเป็นปริศนาคาใจ อยู่ว่า เหตุใดท็อป อัพทูริช จึงนำเอาเอกสารทางราชการไปบิดเบือน และแอบอ้างโดยเลือกนำเอาข้อความที่สมาชิกอ่านแล้วสบายใจไปเผยแพร่ ไม่ได้ลงเอกสารตอบรับจากสคบ.ทั้งฉบับ


เพราะหากดูจากข้อความที่ สคบ.นำมาเปิดเผยทั้งหมด จะเห็นว่า ข้อความบางส่วนที่ตัดทอนออกไป แม้จะไม่ชี้ชัดว่ากิจการของท็อปอัพทูริช เข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 19 ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย


ที่สำคัญกระบวนการในการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของท็อปทัพทูริช ว่าเป็นกิจการที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยังไม่มีข้อยุติ


การที่จะมีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดออกมาการันตี ความถูกต้องในการดำเนินธุรกิจของท็อปอัพทูริช จึงไม่มีใครสามารถยืนยันได้


ในเอกสารที่ปรากฏในเว็บไซต์ ฉบับหนึ่ง ที่ “ตลาดวิเคราะห์” ได้ไปรวบรวมมา มีข้อความบางช่วงบางตอนที่ผู้บริหารท็อปอัพทูริช นำมาเปิดเผย จะเห็นว่า จุดมุ่งหมาย มิได้เพียงแค่หวังใช้เอกสาร สคบ. ฉบับดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่นเท่านั้น


หากแต่ยังพยายามลดความคลางแคลงสงสัย ที่เกี่ยวโยงไปยังหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน


มีข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า.... “เมื่อ สคบ.ตอบมาเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้หรือถูกกฎหมาย จะต้องไปดูกฎหมายตัวอื่นประกอบ ก็คือ กฎหมายระดมทุน แชร์ลูกโซ่ ซึ่งไปที่กองป้องปรามการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่จะประสานกับ DSI ตำรวจเศรษฐกิจ กองปรามฯ สคบ. เราก็ไปและพบกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแล เอากฎหมายมาดู และได้ข้อสรุปว่า เราไม่เข้าข่ายเป็นระดมทุน หรือแชร์ลูกโซ่”


นี่คือ สิ่งที่ฝ่ายบริหารท็อปอัพทูริช ออกมายืนยันว่า กิจการของตนเป็นกิจการที่โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย


แต่เมื่อ “ตลาดวิเคราะห์” ได้เข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง หลายหน่วยงาน กลับได้รับคำยืนยันว่า ยังไม่เคยให้การรับรองท็อปอัพทูริช ว่าเป็นกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด


สคบ. เองก็ออกมายืนยันว่า กรณีของท็อปอัพทูริช ยังอยู่ในระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพื่อหาข้อยุติ โดยแม้จะยังไม่มีการดำเนินคดี แต่ก็จะต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาในเร็ววันนี้


พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ดีเอสไอเปิดเผยกับ “ตลาดวิเคราะห์”ว่า มีการทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดกับกองป้องปรามการเงินนอกระบบ รวมไปถึง สคบ. โดยกรณีของท็อปอัพทูริช ตนยอมรับว่า ทางฝ่ายบริหารมาขอความชัดเจนในเรื่องกฎหมาย มีการแสดงข้อมูล การทำธุรกิจ ตลอดจนแนวทางทางการตลาด แต่ก็เป็นเพียงแค่การรับฟังเท่านั้น ยังไม่ได้มีการรับรอง หรือยืนยันว่าท็อปอัพทูริช เป็นกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด


“ถ้ามีการแอบอ้างชื่อดีเอสไอ ไปแสวงหาประโยชน์ หรือไปบอกว่า เรารับรองว่ากิจการนี้ถูกกฎหมาย เราจะดำเนินคดีอย่างแน่นอน” พ.ต.อ.นิรันดร์ ย้ำอีกครั้ง


พร้อมกันนี้ยังเปิดเผยว่า กำลังเร่งหาข้อสรุปในทางกฎหมายกับกองป้องปรามเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง ว่าการดำเนินธุรกิจของ “ท็อปอัพทูริช” เข้าข่ายความผิดพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกง หรือไม่ ภายใน 1 เดือนนี้


พ.ต.ท.นิธิพัฒน์ วุฒิบุญยสิทธิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองบังคับคดีปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค บก. ปคบ. ยอมรับกับ “ตลาดวิเคราะห์” ว่า บริษัทดังกล่าวได้นำชื่อของตนและหน่วยงาน ไปอ้างว่าให้การยอมรับว่าท็อปอัพทูริช เป็นกิจการถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน


โดยล่าสุดก็ออกมาปฏิเสธว่า บก.ปคบ.ไม่เคย รับรองว่า กิจการนี้ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำกล่าวอ้างในหนังสือชี้แจงของฝ่ายบริหาร และพร้อมที่จะดำเนินคดีเช่นกัน


ถึงตอนนี้ คำถามก็เลยย้อนกลับมาที่ “ท็อปอัพทูริช”ว่าเหตุใด จึงนำเอาหน่วยงานภาครัฐทั้ง 4 แห่ง มายืนยันความโปร่งใสในการทำธุรกิจ


นี่คือ ข้อสังเกตประการหนึ่ง


ประการต่อมา หากการพิจารณาจากหนังสือชี้แจงของสคบ. มีการระบุว่า การดำเนินธุรกิจของ ท็อปอัพทูริช อาจฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 19 พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรงพ.ศ.2545 แต่ก็เป็นที่น่าสังเกต ที่ฝ่ายบริหารของท็อปอัพทูริช กลับไม่นำเอาข้อความในเอกสารทั้งหมดมาเปิดเผย หากแต่มีการตัดตอนเฉพาะในส่วนที่เป็นประโยชน์ของตนเองนำมาเผยแพร่


นี่ก็เป็น สิ่งยืนยันความผิดปกติในการดำเนินธุรกิจของกิจการแห่งนี้อีกประการหนึ่ง


ประการสุดท้าย หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ทั้งดีเอสไอ และกองป้องปรามการเงินนอกระบบ ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน รวมไปถึงการเข้าไปดูที่มารายได้ของกิจการแห่งนี้ว่ามีที่มาจากอะไร


สอดคล้องกับการยืนยันของผู้บริหาร ที่ยอมรับว่า รายได้หลักมิได้มาจากการให้บริการเติมเงินออนไลน์ หากแต่เป็นรายได้มาจากการขายแฟรนไชน์ ที่สมาชิกจะเข้าร่วมธุรกิจจะต้องเสียค่าสมัครสมาชิกรายละ 1,000 บาท


นี่คือคำตอบ ที่จะต้องมีการเฉลยออกมาในไม่ช้านี้


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมาฟังคำยืนยัน จาก ดร.สมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนา การขายตรงไทย และประธานบริหาร บริษัท จอยแอนด์คอยน์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจขายตรง ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี ที่เคยให้สัมภาษณ์ กับ “ตลาดวิเคราะห์” ในฉบับที่ผ่านมา ก็ยืนยันชัดเจน ว่ารายได้จากบริการเติมเงินออนไลน์ ไม่สูงพอที่จะนำไปจ่ายผลประโยชน์ตามแผนการตลาด เนื่องจากบริษัทฯ จะมีรายได้จากคอมมิชชั่นจากค่ายมือถือเพียง 3 - 5% เท่านั้น


“เราเองก็ทำธุรกิจบริการเติมเงินออนไลน์ เช่นกัน เพื่อเป็นรายได้เสริมสำหรับสมาชิกที่เปิดจอยน์มาร์ท ซึ่งถ้ารายได้มาจากการเติมเงิน จะเอามาเป็นรายได้หลักไม่ได้ แต่เอามาเป็นรายได้เสริมได้ โดยเฉพาะถ้าไปเน้นการขายแฟรนไชน์เป็นหลัก มันก็อาจเข้าข่ายระดมเงิน”


เพราะฉะนั้น อนาคตหรือบทสรุปของ ท็อปอัพทูริช จะเป็นอย่างไร คงต้องรอการพิสูจน์กันว่า กิจการแห่งนี้จะบริสุทธิ์โปร่งใส ตามที่ผู้คนเข้าใจหรือไม่


 


 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น