ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปล่อยผีขายตรงค้างสต็อก200แห่ง ‘อำพล’เครื่องร้อนผ่าตัดใหญ่‘สคบ.’







Capture (Mobile)

 


“สคบ.” ยุค “อำพล วงศ์ศิริ” เดินหน้าผ่าตัดวิธีพิจารณาใบอนุญาต เน้นกระชับฉับไว้ แต่ได้มาตรฐาน ยัน ! ยังไม่ถึงเวลาคุมกำเนิดผู้ประกอบการ เผยบริษัทขายตรงรายใหม่ ค้างการพิจารณาในยุค “จิรชัย” กว่า 200 แห่ง คาดหลังปรับองค์กรใหม่ แยกกองงานเข้ามาดูแลธุรกิจขายตรงโดยเฉพาะ จะเดินหน้าตรวจสอบกิจการอย่างเข้มข้น หากพบมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมาย อาจถึงขั้นถอนใบอนุญาต


 รื้อระบบพิจารณาใบอนุญาต


200 บ.ขายตรงยังมีสิทธิ์ลุ้น


31 ตุลาคม 2556 ถือได้ว่าเป็นวันแรกที่ นายอำพล วงศ์ศิริ หย่อนก้นลงบนเก้าอี้ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อย่างเต็มตัว


แม้ก่อนหน้านี้ จะมีการปรามาส ว่า จะเอา สคบ.อยู่หรือไม่ แต่แค่เพียงไม่ถึงสัปดาห์ ก็เริ่มมีการส่งสัญญาณไปยังบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายว่า การทำงานของ สคบ.คงไม่ตั้งรับเหมือนที่ผ่านมาแน่นอน


ด้วยสไตล์การทำงานแบบ “ถึงลูกถึงคน” อีกทั้งยังเคยผ่านงานใหญ่ ในตำแหน่งเลขาธิการ ปปท. มาแล้วย่อม “การันตี” ได้ว่า อดีตมือปราบการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐคนนี้ ย่อมไม่ธรรมดา


ล่าสุดมีการเตรียมการเดินสายออกเยี่ยมกิจการขายตรง เพื่อรับฟังปัญหา หรือข้อเสนอแนะในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจขายตรง


ขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการผ่าตัดองค์กรภายใน สคบ. เพื่อรองรับกับงานทั้งในด้านการคุ้มครอง


ผู้บริโภค รวมไปถึงการกำกับดูแลธุรกิจขายตรงในเวลาเดียวกัน โดยจะมีการเสริมบทบาท ทั้งในด้านการกำกับ และส่งเสริมให้มีความชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่


แหล่งข่าววงใน กระซิบว่า นับจากนี้ต่อไปการทำงานในการกำกับดูแลธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง จะเน้นการทำงานในเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ในอดีต


เริ่มตั้งแต่กระบวนการพิจารณาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า มาตรฐานการพิจารณาของสคบ.ขาดความคงเส้นคงวา ถึงวันนี้ก็จะต้องมาดูกันว่า ปัญหาที่ซุกซ่อนเอาไว้ใต้พรมเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร


โดยเฉพาะ การพิจารณาใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ที่มีการร้องเรียนว่า ถูกดองเอาไว้ในลิ้นชัก กว่า 200 บริษัท ก็จะต้อง “ฟันธง” กันให้ชัด ๆ เสียทีว่า ใครสมควรจะได้รับใบอนุญาตหรือไม่ได้


ถ้าได้ควรเข้าหลักเกณฑ์มาตรฐานอย่างไร ถ้าไม่ได้มีข้อบกพร่องอย่างไร เอากันให้ชัด ๆ ซัดกันให้เต็มเหนี่ยว ไม่ต้องมานั่งเกรงอกเกรงใจใครอีกต่อไป


เพราะในหลักการพิจารณา กฎหมายก็เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า ภายในระยะเวลา 45 วัน ควรจะมีคำตอบให้กับผู้ยื่นใบอนุญาตว่า ได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร


หากไม่สามารถตอบคำถามได้ ผลก็จะกลายเป็นว่า สคบ. เล่นเกมบีบผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อหวัง “ตบทรัพย์” ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา


โดยเฉพาะจำนวนกิจการที่ยื่นขอรับใบอนุญาต ที่ยังค้างเติ่ง กว่า 200 บริษัท ที่มีการยื่นข้อเสนอมาเป็นเวลาแรมปี ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ผิดปกติ”


จากข้อมูลที่แหล่งข่าวระดับลึกใน สคบ. เปิดเผยกับ “ตลาดวิเคราะห์” ระบุว่า ที่ผ่านมา การพิจารณาเป็นไปในลักษณะที่ซ้ำซ้อน ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยื่นเรื่องเข้ามา ต้องเสียเวลารอคอยยาวนานเกินความจำเป็น


โดยเฉพาะ ในประเด็นเรื่องตัวสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่ยื่นเรื่องเข้ามา ต่างก็ทราบในหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดทางกฎหมายดีอยู่แล้วว่า สินค้าที่เข้าสู่ระบบขายตรง จะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น อย.หรือ สมอ.


แต่เมื่อสู่การพิจารณาของ สคบ. กลับมีการสอบย้อนหลังไปในเรื่องตัวสินค้าใหม่อีกครั้ง ทำให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น


นอกจากนี้ในการพิจารณาแผนการตลาด หากคณะทำงานเข้าใจระบบขายตรงดี ก็สามารถพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว


การที่มีการยกอ้างประเด็นเรื่องตัวสินค้า แผนการตลาด หรือ รวมไปถึงตัวผู้ลงทุน ที่ต้องมีการตรวจสอบว่า เป็นผู้ประกอบการตัวจริงหรือไม่ แม้จะเป็นสิ่งที่ สคบ.พึงปฏิบัติ แต่การพิจารณาก็ควรมีมาตรฐานที่ชัดเจน รวดเร็ว กระชับฉับไวกว่าที่เป็นอยู่


เพราะถ้าหากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีเจตนามาทำธุรกิจขายตรงอย่างถูกต้อง สคบ.ก็ควรเปิดโอกาสให้เข้ามาทำธุรกิจได้อย่างเสรี


อย่างน้อยก็ดีกว่า ไปบีบให้พวกเขา ต้องไปหาทางเข้า “ประตูหลัง” ด้วยการแอบซื้อใบอนุญาต จากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม แอบจดทะเบียนเอาไว้ “เซ็งลี้” อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้


นี่คือ ความพิกลพิการในกระบวนการพิจารณาใบอนุญาตธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ที่คนในวงการขายตรงต่างทราบกันดี


ในอีกมุมหนึ่ง กิจการที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ประมาณการกันว่ากว่า 800 บริษัท ก็จะต้องระดมสรรพกำลัง เข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจังว่า มีการทำธุรกิจจริงจังหรือไม่


หากพ้น “ไซเลน พีเรียด” ไปแล้ว ไม่มีการทำธุรกิจ ก็สมควรจะต้องมาทบทวนว่า สมควรที่จะให้ใบอนุญาตอีกต่อไปหรือไม่


กฎหมายเขียนเอาไว้ชัดเจน ทั้งกระบวนการให้ใบอนุญาตไปจนถึงการคืนใบอนุญาต นี่คือ สิ่งที่หลายคนอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง


ถ้าหากปล่อยให้คนที่ไม่ตั้งใจทำธุรกิจจริงจังรับใบอนุญาตไป แล้วไป “กีดกัน” คนที่สนใจจะทำธุรกิจอย่างจริงจัง ความเป็นธรรมในสังคมจะเกิดได้อย่างไร


 คุมเข้มแต่ไม่คุมกำเนิด


ตั้งกองขายตรงดูแลธุรกิจเฉพาะ


มีข่าวบางกระแส ระบุว่า ในอนาคต สคบ.อาจจำเป็นจะต้อง คุมกำเนิดธุรกิจขายตรง เหตุก็เพราะมีกิจการเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด ทำให้ยากต่อการกำกับดูแล


แต่ล่าสุดได้รับการยืนยัน จากนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการกองขายตรงและการตลาดแบบตรงว่า สคบ.ยังไม่มีนโยบาย


เพียงแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คือ การกำกับดูแลคงจะเป็นไปอย่างเข้มงวดมากขึ้น การเข้าไปตรวจสอบกิจการที่มีพฤติการณ์ น่าสงสัย จะเป็นไปอย่างเข้มข้น


เพราะจากสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การทำธุรกิจขายตรง บางค่ายบางกิจการ ก็ไม่ได้ทำผิดร้ายแรง หรือผิดไปจากธุรกิจขายตรง 100 % หากแต่ยังมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขได้


สิ่งสำคัญ ผอ.กองขายตรงและการตลาดแบบตรง ย้ำชัดว่า ทุกอย่างจะต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก หากมีการผิดพลาดพลั้งเผลอ ก็ควรมีมาตรการลงโทษจากเบาไปหาหนัก


หากรุนแรง จนอาจจะนำไปสู่ความเสียหายแก่ประชาชน ก็คงจะต้องมีมาตรการ “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” ตามอำนาจที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ทำได้


การพลิกบทบาท หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง แหล่งข่าวใกล้ชิด เปิดเผยว่า คงจะต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรของสคบ.ให้แข็งแรงเสียก่อน


โดยเฉพาะในเวลานี้ หน่วยงานดังกล่าวยังเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ที่อยู่ในการควบคุมของ สคบ.เท่านั้น


ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะแยกหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงโดยตรง


“เวลานี้ เราได้ตั้งเป็นกองขึ้นมาแล้ว โดยเพิ่งได้รับการอนุมัติจาก กพร. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานใหม่ ที่จะมีการดึงเอาบุคลากรที่มีความสามารถ เข้ามาเสริมมากขึ้น โดยล่าสุดตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ย้ำชัดว่า ให้สคบ.ทำงานเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยพร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน รวมทั้งในด้านงบประมาณด้วย” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว


ถือเป็นการปรับโครง สร้างองค์กร สคบ.ในด้านการกำกับและส่งเสริมธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ที่สอดประสานกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอีกหลายหน่วยงานในเวลาเดียวกัน


ด้านดีเอสไอ มีการวางยุทธศาสตร์ในการป้องปรามแชร์ลูกโซ่ ล่าสุดมีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อมารับผิดชอบงานนี้โดยเฉพาะ


ขณะที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นอกเหนือจากดำเนินคดีในด้านการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคแล้ว ล่าสุด มีการประกาศนโยบายชัดเจน ในการเข้าไปดำเนินการกวาดล้าง การขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ที่มิได้มีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง


รวมไปถึงกิจการขายตรง ที่มิได้มีใบอนุญาตประกอบการ แต่ยังดำเนินธุรกิจในลักษณะขายตรง


เช่นเดียวกับ สนง.คณะกรรมการอาหารและยา รวมไปถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ก็ประกาศชัดเจน จะดำเนินการกับผู้ประกอบการ ที่มีการโฆษณาเกินจริง ที่ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อการดำเนินคดีต่อเจ้าของสินค้าเท่านั้น หากแต่ยังมีผลกระทบไปถึงสื่อ โทรทัศน์ดาวเทียม ที่อาจจะต้องรับโทษ หรือ อาจต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตด้วย


ที่น่าจับตา เร็ว ๆ นี้ อย. กำลังเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษ แก่เจ้าของสินค้า ที่โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเดิมที่มีโทษปรับเพียง 5,000 บาทเท่านั้น ก็จะมีการเพิ่มโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น


 5 หน่วยงานรุมสกรัมดีเดย์1 พ.ย.56


ลบภาพ “เสือหลับ”เป็น“เสือตื่น”


การดำเนินงานของ 5 หน่วยงานหลัก มีการประกาศ KICK OFF ไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา อันเป็นช่วงที่ นายกำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการ สคบ.คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง พร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญ ทั้งดีเอสไอ บก.ปคบ. ในเวลาใกล้เคียงกัน


ถือเป็นการลบภาพ “เสือหลับ” ที่ใครต่อใครต่างกล่าวหามาเป็น “เสือตื่น” ที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ความเข้มข้นในการกำกับดูแลธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง จะคงเส้นคงวาขนาดไหน


เพราะในจำนวน 4 - 5 หน่วยงานที่ว่า ก็มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้จะเดินไปถึง “สุดซอย” ได้หรือไม่


มีผู้ประกอบการขายสินค้าจำนวนมากเวลานี้ เปลี่ยน แผนการขายสินค้า จากเดิมที่อาศัยการเช่าพื้นที่ขายในห้างสรรพสินค้า หรือที่เรียกว่า “ออนกราวน์” หันมาเน้นการขายผ่านระบบ “ออนไลน์”


เพราะมีกระแสตอบรับที่ดี สะดวกสบาย แถมค่าใช้จ่ายถูก แค่เปิดเว็บไซต์ของตนเอง ก็สรรหาสินค้ามาลงได้มากมาย แบบไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องจ้างพนักงาน PC มาประจำหน้าร้าน


เรื่องนี้มีการดำเนินธุรกิจกันอย่างกว้างขวาง เพราะทุกคนเข้าใจว่า นี่คือธุรกิจเสรี ที่ใครก็สามารถทำได้ แต่โดยข้อเท็จจริง การดำเนินธุรกิจที่ว่านี้ เข้าหลักการทำตลาดแบบตรง ที่ผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้า หรือตัวแทน จะต้องมีการจดทะเบียนรับใบอนุญาตการตลาดแบบตรงกับสคบ.


โดยสินค้ารูปแบบการขาย จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ ไม่ต่างกับการทำธุรกิจขายตรง


มีการประเมินว่า การทำธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ในเวลานี้ มีผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจมากมายนับแสนคน


ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเชื่อว่า การทำธุรกิจดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ หรือแม้จะรู้ว่ามีกฎหมายรองรับ แต่เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่มีการดำเนินการอะไร ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้กิจการเหล่านี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด


เพราะฉะนั้น เมื่อปล่อยปละละเลย ให้มีการดำเนินการกันมากมาย การที่จะเข้าไปดำเนินการ จึงเป็นไปโดยความยากลำบาก


อย่างเก่งก็คง ต้องใช้วิธี “เชือดไก่ให้ลิงดู” สักรายสองราย เพราะถ้าจะไปไล่จับกันทั้งกระบิ คงต้องอาศัย


เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งกองบัญชาการ


สิ่งสำคัญที่ สคบ.ต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ จะต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการว่า การฝ่าฝืนกฎหมายมีโทษอย่างไร


ขณะเดียวกันก็จะต้อง ให้ความรู้กับประชาชนว่า การซื้อขายสินค้า ผ่านสื่อออนไลน์ทีไม่ได้รับอนุญาต มีความเสี่ยง ต่อการถูกฉ้อโกง หรือหลอกลวง


โดยเฉพาะสินค้าที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง อาจจะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายได้


เพราะฉะนั้นธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ สคบ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการร่วมกัน


หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจขายตรงซอยเท้าอยู่กับที่มาเนิ่นนาน ภาคเอกชน เดินหน้าไป “ปักหมุด” ในกลุ่มประชาคม อาเซียนล่วงหน้าเอาไว้หลายประเทศ


แต่ที่น่าสังเกต ก็คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมธุรกิจขายตรง กลับแทบไม่เคย ย่างเท้าเข้าไปเจรจากับหน่วยงานที่กำกับดูแลในประเทศคู่ค้าเหล่านี้เลย


ปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายขายตรงระหว่างประเทศ ถึงวันนี้ ยังตีโจทย์ไม่ออกเลยว่า จะรักษาความได้เปรียบทางการค้าของประเทศเอาไว้อย่างไร


เพราะแม้กลไกทางด้านภาษี จะเท่าเทียมเสมอภาคกัน แต่เงื่อนไขในการเข้าไปลงทุน รวมไปถึงข้อจำกัดในเรื่องสินค้าถิ่นกำเนิด ก็ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมแต่อย่างใด


หากไม่สร้างภูมิคุ้มกันบริษัทขายตรงไทยให้เข้มแข็ง แล้วปล่อยให้ออกไป “รบนอกบ้าน” โดยไม่มีการหาทางวางกรอบหรือกติกาในทำธุรกิจร่วมกัน ก็เท่ากับส่งกิจการเหล่านี้ไปตาย


จุดเปลี่ยนของ สคบ.ในยุค นายอำพล วงศ์ศิริ จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญ ต่ออนาคตและทิศทางของธุรกิจทั้งระบบ เพราะถ้าไม่เร่งดำเนินการสร้างมาตรฐานให้ชัดเจนเสียแต่ตอนนี้ การก้าวเดินไปข้างหน้าของธุรกิจก็จะเป็นไปอย่างล่าช้า


สิ่งที่หลายคนกังวลกัน ก็คือ การปรับภาพลักษณ์ของสคบ.ให้กลายเป็นองค์กรที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความเข้มข้นในการกำกับดูแล แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในเวลาเดียวกัน ก็จะต้องหันมาเน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ควบคู่กันไป


ในเวลานี้ บอกตรง ๆ ใครได้เห็นปูมหลังของ เลขาธิการ สคบ.ท่านนี้แล้ว ก็อดที่จะเกร็งไม่ได้ ยังไง ๆ เสีย ก็คงต้องเดินสายกลาง แบบพอดี ๆ ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป


เพราะในระบบธุรกิจขายตรง คงไม่มีใครเดินอยู่ในกรอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังมีกฎหมายบางมาตรา ที่ขัดกับหลักการทำธุรกิจขายตรง


หากยังไม่มีการแก้ไข แล้วยังดึงดันเอามาใช้ควบคุมพฤติกรรมผู้ประกอบการ การก้าวเดินใน 2 บทบาทของ สคบ.ก็จะกลายเป็นการ “ขัดแข้งขัดขา” กันเอง


ถึงเวลาที่จะต้องเอาคน “รู้ลึก รู้จริง” มาดูแลธุรกิจขายตรงเสียที !!!


 


 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น