ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รัฐหนุนขายตรงไทยลุยอาเซียนเร่งแก้กฎหมายสร้างเกราะป้องกันธุรกิจ







dfm21may12-01[cover]-20120521170939 (Mobile)

 


"วิมล จันทร์จิราวุฒิกุล" ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ประกาศภาครัฐพร้อมหนุนขายตรงไทย สู้ศึก AEC ชี้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวเข้าสู่ธุรกิจขายตรง และเตรียมแผนขยาย ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างคึกคัก ขณะเดียวกันหากทำผิดกฎหมายพร้อมปราบปรามผู้ที่ฉวยโอกาสทันที ด้าน "สุวิทย์ วิจิตรโสภา" ผอ.ส่วนขายตรงและการตลาดแบบตรง สคบ. ย้ำเดินหน้า แก้กฎหมาย แยกขายตรงออกมาเป็น "กองคุ้มครองด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง" อนาคตหนุนตั้ง "กรมขายตรง"


นายวิมล จันทร์จิราวุฒิกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ "ทำธุรกิจขายตรงอย่างไรให้ถูกกฎหมาย" ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์บ้านเมืองว่า ธุรกิจขายตรงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการขยายตัวมากที่สุด และสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมากปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท และคาดว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปลายปี 2558 โดยเฉพาะในตลาดธุรกิจขายตรงจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดธุรกิจขายตรงปัจจุบันยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง และมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และรายย่อยจำนวนมากที่เริ่มหันมาสนใจธุรกิจนี้ อีกทั้งยังมีแผนขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย


นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐที่ผ่านมาได้ให้นโยบายและได้ดำเนินการอย่างจริงจังผ่านส่วนราชการในสังกัดต่างๆ เพื่อหาแนวทาง ยกระดับมาตรฐานธุรกิจขายตรงให้สูงขึ้น และปรับเปลี่ยนกฎหมาย ขายตรง เพื่อเอื้อแก่การทำธุรกิจ พร้อมทั้งหาทางปราบปรามบุคคล ที่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากธุรกิจนี้ จนทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจขายตรงต้องเสื่อมเสีย


"จากการทำงานของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา รัฐต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ภาครัฐจะทำหน้าที่ส่งเสริม กระตุ้นให้ บรรดาผู้ประกอบการทำธุรกิจในกรอบของ จรรยาบรรณ โดยที่ผ่านมา ทางภาครัฐมีความมั่นใจว่าธุรกิจขายตรงกำลังเดินหน้า ไปสู่ทางที่ดีขึ้น ซึ่งรัฐพยายามสร้างเกราะ ป้องกันให้กับธุรกิจ โดยให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกในการกระทำเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ เพื่อเป็นการยกระดับวงการขายตรงไทย" วิมล กล่าว


ในประเด็นของกฎหมายที่ปัจจุบันมีการเรียกร้องให้จากคนในวงการขายตรง ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักธุรกิจอิสระ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องการให้ภาครัฐมีการปรับแก้ไขกฎหมายขายตรงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นายวิมลกล่าวว่า ในช่วงนี้รัฐบาลต้องการให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจในกรอบของกฎหมายตัวเก่านี้ก่อน ในส่วนของการแก้ไขกฎหมาย หรือจะทำอะไรต่อไปนั้น ทางภาครัฐก็จะหารือกันอีกครั้ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในส่วนนี้


ด้านนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการส่วนขายตรงและการตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางภาค รัฐต้องการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ เพื่อทำการส่งออกสินค้า หรือการขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะเน้นหนัก ในเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมามักมีการกระทำผิดในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก


อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเรียกร้อง ให้มีการปรับแก้ไขกฎหมายขายตรงที่ใช้อยู่ "สุวิทย์" กล่าวว่า ทาง สคบ.เร่งดำเนินการ เรื่องของการแก้ไขกฎหมายขายตรงไทยที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปรับปรุง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมีหลายข้อกฎหมายที่มีช่องโหว่ ส่งผลให้ธุรกิจขายตรงเกิดความคลุมเครือ ในสายตาของผู้บริโภค


"สคบ.อยู่ระหว่างการทำวิจัยเพื่อแก้กฎหมายขายตรง โดยได้มีการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจขายตรง เพื่อประมวลภาพรวม โดยที่ผ่านมาก็มีการร่างกฎหมาย ฉบับใหม่ไปแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน ทำให้ต้องดึงตัวร่างกลับมา ซึ่งต่อมาหลายฝ่ายก็มีความคิดเห็นว่า ตัวร่างเดิมนั้น ดูจะไม่ตอบโจทย์กับธุรกิจขายตรงมากนัก และอาจต้องมีการร่างกฎหมายกันใหม่"


นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการคาด หวังให้ภาครัฐจัดตั้ง "กรมขายตรง" ขึ้น เพื่อทำให้ขายตรงมีหน่วยงานกลางที่ควบคุม ดูแลธุรกิจอย่างเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบัน สคบ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลขายตรงนี้ มีจำนวนคนและกำลังหลายด้านที่น้อย เมื่อ เทียบกับการที่ต้องควบคุมวงการขายตรง ทั้งหมดที่ปัจจุบันมีประมาณ 400 บริษัท ที่เปิดดำเนินการ รวมถึงมีประชาชนที่เกี่ยวข้องกว่า 10 ล้านคน


เกี่ยวกับเรื่องนี้ "สุวิทย์" กล่าวว่า "โอกาสที่จะตั้งกรมขายตรงนั้น มีความเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ ตั้งกรมขายตรง และ สคบ.ก็มองธุรกิจขาย ตรงว่าคล้ายคลึงกับธุรกิจประกันภัย ที่มี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คอย ดูแล แต่คงไม่ใช่เร็วนี้ๆ เพราะสิ่งนี้ ก็คงต้องรอให้มีการแก้ไขกฎหมายขายตรงก่อน ซึ่งอาจกินเวลา 3-5 ปี เลยทีเดียว"


"แต่ส่วนตัวแล้วต้องการเห็นกรมขายตรง หรือสำนักงานงานอิสระที่ควบคุม ดูแลวงการขายตรงอย่างเต็มรูปแบบ แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ถือเป็นข่าวดีในระดับหนึ่ง เพราะขณะนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มีการอนุมัติให้ตั้งกองคุ้มครองด้านธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรงขึ้น ซึ่งจะแยกตัวออกมาเป็นกอง ซึ่งอาจจะอยู่ในการดูแลของเลขาธิการ สคบ. โดยตรง เพื่อทำให้ธุรกิจ ขายตรงมีการทำงานที่เร็วขึ้น โดยคาดว่า ประมาณต้นปีหน้า สิ่งที่กล่าวมานี้ก็จะเป็น รูปเป็นร่างได้" ผอ.ส่วนขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ.กล่าว


ในส่วนของข่าวลือที่ว่าจะมีการควบคุม การเกิดขึ้นของบริษัทขายตรงใหม่ หรือ เรียกว่าการคุมกำเนิดนั้น "ผอ.สุวิทย์" กล่าวว่า สคบ.เพียงต้องการควบคุมบริษัท ขายตรงที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ การทำงาน เข้มงวดในการจดทะเบียนเพื่อ คัดกรองบริษัทขายตรงใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจ


ทางด้าน พ.ต.ท.ดร.นิติพัฒน์ วุฒิบุญยสิทธิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เปิดเผยว่า ในฐานะของการเป็นตำรวจ บก.ปคบ. ซึ่งถูกมอบหมายให้ช่วยเหลือการทำงานของ สคบ. โดยเฉพาะการกระทำผิดที่เกี่ยวกับธุรกิจขายตรง ที่ผ่านมาปัญหาที่มักเจอจะเป็นในเรื่องของการฟ้องร้องระหว่างนักธุรกิจอิสระกับบริษัทต้นสังกัด โดยเฉพาะเรื่องของการตัดรหัส ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจอ บ่อยที่สุด ซึ่งทางตำรวจอยากให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีการพูดคุยเจรจากันอย่างดีก่อน เพราะหากเข้ามาแจ้งที่ บก.ปคบ. นั่นคือเรื่องถึง กฎหมายที่ต้องมีการเอาผิด ซึ่งตนก็อยาก ให้ทุกฝ่ายใคร่ครวญ และเจรจากันให้ดี


ในส่วนของนายพลฑิตย์ ภุกพิบูลย์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ นสพ.บ้านเมือง ในฐานะผู้จัดสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวว่า ธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจที่เปิดกว้างให้กับประชาชน และสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้ง่าย โดยใช้เม็ดเงินในการลงทุนที่ต่ำ มีโอกาสทางรายได้ที่สูง ส่งผลให้ธุรกิจขายตรงของไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้รับความนิยมมากขึ้น มีการเติบโตที่ดี โดยเฉลี่ยการเติบโตในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 5-15% เลยทีเดียว


 


 


 


 


Credit By : http://www.siamturakij.com/


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น