ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

เคาะสนิมพ.ร.บ.ขายตรง สคบ.หวังตั้งหน่วยงานอิสระคุมธุรกิจแสนล.









เลขาฯ สคบ. จับมือม.เกษตรฯ เร่งศึกษากฎหมายขายตรงและข้อมูลเชิงลึกของธุรกิจแสนล้าน หวังต่อยอดตั้งหน่วยงานอิสระควบคุมดูแลทั้งระบบ พร้อมเตรียมมอบตราสัญลักษณ์สคบ. ยกย่องธุรกิจสีขาว ขณะที่เอาจริงเชือด 2 บริษัท เข้าข่ายฉ้อโกงและแชร์ลูกโซ่แฝงในธุรกิจขายตรง


นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวทางการกำกับธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงว่า ธุรกิจดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะมีการสร้างรายได้มูลค่านับแสนล้านบาท และเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินงาน ภายหลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสคบ. โดยในขณะนี้ได้มีการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงในประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งในด้านกฎหมาย ข้อมูลของธุรกิจ เพื่อที่ทางสคบ.จะได้นำข้อมูลมาดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้


"พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มีผลบังคับใช้เมื่อ 29 สิงหาคม 2545 ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงมาก ปี 2545 มีรายได้


ราว 6.5 หมื่นล้านบาท ปี 2555 มีรายได้ราว 8 หมื่นล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่กฎหมายที่ใช้อยู่คงต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะที่สคบ.เองเป็นหน่วยงานที่มีกำลังคนดูแลอยู่เพียง 8 คน ซึ่งไม่เพียงพอและการของบประมาณหรือเพิ่มกำลังคน


ก็ล่าช้าและยุ่งยากเพราะอยู่ในระบบราชการ" นายจิรชัย กล่าวและว่า


จากปัญหาดังกล่าวเห็นควรว่าควรมีหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจและหน้าที่ที่สามารถกำกับและดูแลธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นการเฉพาะ เพื่อการกำกับดูแลได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถดำเนินการในประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจได้ด้วย เช่น การขึ้นทะเบียนนักธุรกิจอิสระ เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 30 กันยายน 2555 พบว่ามีบริษัทที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจขายตรง 855 บริษัท แต่มีการดำเนินธุรกิจจริงเพียง 180 บริษัท จากการที่ทางสคบ.ได้สอบถามไปยังบริษัท มีบริษัทจำนวน 35 แห่งที่ขอเลิกกิจการ ส่วนบริษัทที่เหลือประมาณ 600 บริษัท ทางสคบ.ได้ทำการสอบถามข้อมูลกลับไปอีกครั้ง พบว่าบริษัทจำนวน 539 บริษัทไม่ตอบข้อมูลกลับมา


นายจิรชัย กล่าวอีกว่า ข้อมูลปัจจุบันจึงมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงเพียง 300 บริษัท ทางสคบ.จึงได้เชิญผู้ประกอบการในธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงเข้ามาประชุมทำความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในเดือนมีนาคมนี้ด้วย พร้อมกับเตรียมมอบใบจดทะเบียนในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่มีการออกแบบให้มีความสวยงามด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจด้วยการยกย่องผู้ประกอบการที่ดีที่คำนึงถึงสมาชิกและผู้บริโภคจึงเตรียมมอบตราสัญลักษณ์สคบ. เพื่อเป็นเครื่องหมายการรับรองการดำเนินธุรกิจและการเยียวยาผู้บริโภค


"ตราสัญลักษณ์สคบ. มีทั้งรูปแบบภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า Consumer Protection Guarantee ซึ่งตราสัญลักษณ์สคบ. ไม่ได้รับรองในเรื่องคุณภาพสินค้า ซึ่งบริษัทที่จะได้รับตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ การดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค การดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา และบริษัทมีการเยียวยาความเสียหายกับผู้บริโภคอย่างไร ซึ่งการมอบตราสัญลักษณ์สคบ. คาดว่าจะดำเนินการได้อย่างช้าไม่เกิน 30 เมษายนนี้" นายจิรชัย กล่าวและว่า


ทางสคบ.ยังเพิ่มมาตรการกำกับและดูแลธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงเพิ่มมากขึ้น โดยเลขาฯสคบ. จะขอพบกับบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ทั้งประเภทสินค้า การใช้ช่องทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อความโปร่งใสในการออกใบอนุญาต เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อครหาว่าบริษัทต่างๆ ก่อนจะได้รับใบอนุญาตจะต้องเสียเงินในอัตรา 2.8-3 แสนบาท แม้ว่าความจริงเจ้าหน้าที่ของสคบ. จะได้รับสินบนก็ตาม


นอกจากนี้ ทางสคบ. ก็จะเร่งรัดให้บริษัทต่างๆ ส่งรายงานการดำเนินธุรกิจให้กับสคบ. ทุก 6 เดือน ในช่วงเดือนมกราคมและกรกฎาคม ส่วนงานปราบปรามบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยช่องว่างของธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง จึงได้ประสานงานกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งรัดให้ดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง กรณีดีเอสไอได้ข้อมูลพบการกระทำความผิด ทางสคบ.จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตทันที โดยช่วงเวลา 4 เดือนนับตั้งแต่ที่ได้เข้ารับตำแหน่งเลขาฯ สคบ. ที่มีลักษณะฉ้อโกง ทางสคบ.ได้เพิกถอนใบอนุญาตแล้ว 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดิจิตอล คราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด (DCHL) บริษัทสัญชาติจีน ที่ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าตะเกียง น้ำมันหอมระเหย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 และเมื่อบริษัท ธนธรรมไทยเน็ทเวิร์ค จำกัด ซึ่งจดทะเบียนดำเนินธุรกิจขายตรง เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา




Credit By :http://www.thannews.th.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น