ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปรับเพิ่มวงเงินแบงก์การันตี สคบ. ขอห้าแสน ! บ.ขายตรง รับตราสัญลักษณ์









สคบ.รุกคืบขอปรับเพิ่มวงเงิน แบงก์การันตี สำหรับกลุ่มบริษัทสมาชิกสมาคมการขายตรง (TDSA) ใหม่ยกทั้งกระบิ! หลังจากเห็นตัวเลขวงเงินที่ ทีดีเอสเอ นำเสนอมาตั้งแต่ 100,000 บาท 300,000 บาท ตามขนาดของธุรกิจเพื่อขอรับ ตราสัญลักษณ์สคบ. ยังไม่จูงใจเท่าที่ควร ประกาศขอปรับเพิ่มเป็น 500,000 บาท เท่ากันทุกบริษัทและมีกำหนดระยะเวลาค้ำประกันตั้งแต่ 30 เมษายน 2556 30 เมษายน 2558 ในขณะที่ กิจธวัช ฤทธีราวี นายกฯ ทีดีเอสเอขานรับนโยบายภาครัฐ ส่งหนังสือประสานขอความร่วมมือบริษัทสมาชิกสมาคมร่วมปฎิบัติตามอย่างเร่งด่วนและเชื่อมั่นว่าบริษัทสมาชิกสมาคมฯ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้าน จิรชัย มูลทองโร่ย นายใหญ่สคบ. ประกาศชัด สมาคมการขายตรงไทย ซึ่งมีสมาชิกบริษัทขายตรงอยู่ในสังกัด 34 บริษัทจะเป็นสมาคมแรกที่นำร่อง รับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะจัดขึ้นในงานวันคุ้มครองผู้บริโภค 29-30 เมษายนนี้


จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เล็งเห็นว่าในปัจจุบันปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคที่รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจทั้งในด้านการจำหน่ายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สคบ. จึงได้กำหนดโครงการ ตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นการประกันการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคอันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการบริโภคสินค้าและการบริการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 26 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ใช้แล้ว ทองรูปพรรณ อัญมณี โทรศัพท์มือถือ ห้างสรรพสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร บัตรเครดิต ธุรกิจเสริมความงาม สถานบริการน้ำมัน โรงพยาบาล ศูนย์บริการดูแลเด็ก ผู้ป่วย ผู้สู.อายุ รถยนต์ใหม่ หอพัก บ้านจัดสรรและอาคารชุด ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ฟิตเนส อู่ซ่อมรถยนต์ ตั๋วเครื่องบิน บริษัทนำเที่ยว โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ โรงแรม โรงภาพยนตร์ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจออนไลน์และบริษัทออกแบบ


ทั้งนี้ตราสัญลักษณ์การคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection Guarantee) นอกจากจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วยังมีข้อดีต่อผู้ประกอบธุรกิจในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคแล้วยังมีข้อดีต่อผู้ประกอบธุรกิจในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ลดปัญหาหารฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาอีกทั้งเป็นการ ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลดีต่อการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อีกด้วย


สำหรับในภาคส่วนของ ธุรกิจขายตรง ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน มีจำนวนรวมทั้งหมด 856 บริษัทและธุรกิจขายตรงก็จัดอยู่ในกลุ่ม ธุรกิจการให้บริการ ที่จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองตราสัญลักษณ์การคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้บริษัทขายตรงที่จะมีสิทธิได้รับตราสัญลักษณ์ฯดังกล่าวนี้... จะต้องเป็นบริษัทขายตรงที่ได้รับการรับรองสถานะของการเป็นสมาชิกสมาคมขายตรง จากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายาตรงเป็นลำดับแรก ซึ่งข้อสรุปในจุดนี้ก็คือ บริษัทขายตรงที่มีสิทธิได้รับตราสัญลักษณ์ฯจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมการขายตรงแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้นและบริษัทขายตรงที่ไม่มีสังกัดหรือไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมใดสมาคมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรงก็จะไม่มีโอกาสรับตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้


ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนธุรกิจขายตรงถึง 4 สมาคมด้วยกันคือ 1.สมาคมการขายตรง (TDSA) ปัจจุบันมี นายกิจธวัช ฤทธิราวี จาก บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ซึ่งสมาคมนี้ถือเป็นสมาคมขายตรงเพียงแห่งเดียวที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์การขายตรงโลก (WFDSA) ที่ก่อตั้งมานานถึง 30 ปีแล้วและปัจจุบันมีบริษัทขายตรงรายใหญ่ของเมืองไทยและต่างประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก ประมาณ 34 บริษัท 2. สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA) ซึ่งสมาคมนี้ก่อตั้งมานานร่วม 16 ปีแล้ว มีสมาชิกประมาณ 24 บริษัทและปัจจุบันมี นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ดำรงตำแหน่งนายกฯ 3. สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) ก่อตั้งเมื่อราว 3 ปีที่ผ่านมา มีสมาชิกบริษัทขายตรงเข้าร่วมเป็นสมาชิกประมาณ 13 บริษัทมี นายอนุวัฒน์ ธรมธัช กรรมการผู้จัดการบริษัท จอยน์ มาร์ท จำกัด ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ และสมาคมที่ 4.สมาคมธุรกิจเครือข่ายขายตรงไทย (TDNA) ซึ่งเป็นสมาคมขายตรงล่าสุดที่เปิดตัวเมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยมี นายนิโรธ เจริญประกอบ อดีตเลขาฯ สคบ. ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยมีบริษัท นีโอไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด,บริษัท โมนาวี ประเทศไทย จำกัด,บริษัท เวิลด์โปร์ จำกัด ร่วมกันจัดตั้งสมาคมขึ้นมาอย่างเป็นทางการ


อย่างไรก็ตามเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า... โอกาสที่ทั้ง 4 สมาคมขายตรงที่มีอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้จะมารวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวกันได้นั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งถึงแม้ว่าทั้ง 4 สมาคมจะมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมฯขึ้นมาเหมือนๆ กันคือ... ร่วมกันส่งเสริมพัฒนาและยกระดับมาตรฐานธุรกิจขายตรงให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ก็ตาม!


ขณะเดียวกันในเรื่องของหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่นายกสมาคมขายตรงของแต่ละสมาคมจะหาข้อสรุปร่วมกันระหว่างบริษัทสมาชิกสมาคมเพื่อเป็นทางสำหรับการขอรับมอบตราสัญลักษณ์คุมครองผู้บริโภคตามนโยบายของสคบ. ภายใต้กรอบกติกาข้อบังคับ 3 ข้อที่สคบ.กำหนดไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติคือ 1.จัดให้ธนาคารออกหนังสือรับประกัน (แบงก์การันตี) ที่จะชดใช้ความเสียหายในวงเงินที่สำนักงานฯเห็นสมควร 2.จัดให้มีกองทุนชดใช้ความเสียหาย โดยให้สมาคมที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นสมาชิกออกหนังสือรับประกันที่จะชดใช้ความเสียหายกรณีที่สำนักงานฯ สั่งให้ชดเชยความเสียหาย 3.จัดให้มีกรมธรรม์รับผิดชดใช้ความเสียหายตามจำนวนวงเงินความเสียหายตามจำนวนวงเงินความเสียหายที่สำนักงานฯเห็นสมควร(ซึ่งแนวทางในข้อ 3 นี้เดิมกำหนดให้ทุกบริษัทขายตรงจะต้องซื้อประกันกับบริษัทประกันภายในอัตรา0.25%-0.50%จากยอดขายในแต่ละปี) ซึ่งแต่ละแนวทางนี้ขึ้นอยู่กับสมาคมขายตรงแต่ละสมาคมจะไปหาข้อสรุปกันเองว่า จะเลือกใช้แนวทางไหน หรืออาจจะเลือกแนวทางที่เหมือนกันก็เป็นได้


ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 นายกิจธวัช ฤทธิราวี นายกสมาคมการขายตรงไทย (TDSA) ได้มีการจัดประชุมหารือระหว่างคณะผู้บริหารจากบริษัทสมาชิกของสมาคม ในวันงาน CEOs Meet CEOs เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การมอบตราสัญลักษณ์คุ้มตรองผู้บริโภคในประเภทธุรกิจขายตรง ที่ทางสคบ. กำหนดทางเลือกให้แกผู้ประกอบการเป็น 3 แนวทาง (ตามแนวทางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น) ซึ่งมติเสียงส่วนใหญ่จากผู้เข้าร่วมประชุมเห็นชอบให้สมาชิกทุกบริษัทของสมาคมที่ประสงค์จะขอรับตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ใช้เป็นแนวทางเลือกที่ 1 คือ จัดให้ธนาคารทางเกี่ยวกับการรับทราบหลักเกณฑ์และวงเงินที่จะจัดทำแบงก์การันตีในการขอรับตราสัญลักษณ์ฯจากสคบ.สำหรับออกหนังสือรับประกัน (Bank Guarantee) ที่จะชดใช้ความเสียหายในวงเงินที่สำนักงานฯเห็นสมควร


ทั้งนี้การประชุมหารือระหว่างคณะผู้บริหารจากบริษัทสมาชิกสมาคมในวันนั้น ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับวงเงินสำหรับการจัดทำแบงก์การันตีไว้ดังนี้ 1.บริษัทขายตรงที่มียอดขายต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีจะต้องทำแบงก์การันตีไว้ที่ 100,000 บาท 2.บริษัทขายตรงที่มียอดขายตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาทจะต้องการันตีไว้ที่ 200,000 บาท และ 3.บริษัทที่ยอดขายมากกกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไปต่อปีจะต้องทำแบงก์การันตีไว้ที่ 300,000 บาท โดยธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมประมาณร้อยละ 2.5 ของวงเงินที่ได้ทำแบงก์การันตีไว้ ซึ่งจากข้อสรุปสมาคมการขายตรงไทยในวันนั้นได้ถูกนำเสนอให้นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการสคบ. พิจารณาถึงความเหมาะอีกครั้งหนึ่งแล้วจะแจ้งผลการพิจารณากลับให้กับสมาคมฯ ทราบภายใน 1 สัปดาห์ ถัดไป


ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 56 ที่ผ่านมา คุณสุกานดา ชุณหชัชราชัย ผู้จัดการสมาคมการขายตรง (TDSA) ได้ส่งเอกสารแจ้งไปยังบริษัทสมาชิกสมาคมฯ ถึงผลการพิจารณาของสคบ. เกี่ยวกับวงเงินในการจัดทำแบงก์การันตีโดยได้ข้อสรุปว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับวงเงินเพื่อการรับประกันความเสียหายที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการจากวงเงินเดิมที่สมาคมฯเคยเสนอไปให้พิจารณา ซึ่งทางสคบ. ได้พิจารณาแล้วและขอแก้ไขจำนวนวงเงินใหม่ เป็น 500,000 บาท โดยทุกบริษัทต้องดำเนินการในวงเงินเท่ากันทั้งหมดและมีกำหนดระยะเวลาค้ำประกันตั้งแต่ 30 เมษายน 2556-30 เมษายน 2558 ซึ่งหากบริษัทสมาชิกสมาคมสามารถดำเนินตามที่สคบ.กำหนดไว้ได้ก็จะมีการมอบตราสัญลักษณ์พร้อมทั้งใบประกาศให้อย่างเป็นทางการในวันที่29-30เมษายนที่จะถึงนี้


อย่างไรก็ตาม จากเอกสารที่ส่งให้กับบริษัทสมาชิกสมาคมทราบนั้น นายกสมาคมการขายตรงไทย ยังได้กำชับขอความร่วมมือมายังบริษัทสมาชิกของสมาคมทุกบริษัทเพื่อขอให้การสนับสนุนในโครงการขอรับตราสัญลักษณ์จากสคบ.ตามที่ได้มีการประชุมร่วมกันก่อนหน้านั้น และบริษัทที่ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวจะมีการรับมอบตราสัญลักษณ์จากสคบ.อย่างเป็นทางการในงานวันคุ้มครองผู้บริโภคที่สคบ.จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 เมษายนนี้อีกด้วย


ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการขายตรงที่เป็นสมาชิกของสมาคมการขายตรงไทย (TDSA) เกี่ยวกับวงเงิน แบงก์การันตี ที่สคบ. ขอปรับเพิ่มเป็น 5 แสนบาทเท่ากันทุกบริษัทนั้นว่าเห็นด้วยหรือไม่ ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังบริษัทสมาชิกสมาคมหลากหลายบริษัท อาทิ บริษัท ซูเลียน (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท โมรินดา เวิลด์ไวด์ จำกัด , บริษัท วิน วิน เวิลด์ ไวด์ จำกัด ,บริษัทคังเซน-เคนโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ลาชูเล่ คอสเมติคส์ จำกัด,บริษัทกิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด,บริษัท สุพรีเดอร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด,บริษัทยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นู สกิน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท คามิโอเฮ้าส์ จำกัด, บริษัท สปอร์ตทรอนฯ จำกัด,บริษัท นิวไลฟ์ เวิลด์ไวด์ (ไทยแลนด์) จำกัด,บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทุกบริษัทกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ขัดข้องและพร้อมที่จะดำเนินตามนโยบายของภาครัฐด้วยกันทั้งสิ้นแม้ว่าหลายๆ บริษัทจะมีภาระเพิ่มมากขึ้นก็ตามแต่เพื่อประโยชน์และความสบายใจของผู้บริโภคก็ยินดีที่จะปฎิบัติตาม


ขณะเดียวกันในส่วนของสมาคมพัฒนาธุรกิจการขายตรงไทย (TSDA) โดย ดร.สมชาย หัชลีฬหา ในฐานะ เลขาธิการสมาคมฯ ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จากที่ทาง สคบ.ได้นำเสนอแนวทางในเรื่องนี้ไว้ 3 แนวทางข้างต้นโดยส่วนตัวแล้วเชื่อมั่นว่า แนวทางที่ 1 คือ การจัดให้ธนาคารออกหนังสือรับประกัน (แบงก์การันตี) ที่จะชดใช้ความเสียหายในวงเงินที่สำนักงานฯเห็นสมควร และแนวทางที่ 2 คือ การจัดให้มีกองทุนชดใช้ความเสียหาย โดยให้สมาคมที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นสมาชิกออกหนังสือรับประกันที่จะชดเชยความเสียหายกรณีที่สำนักงานฯ สั่งให้ชดเชยความเสียหายนั้น ถือเป็นแนวทางที่มีความน่าสนใจมากกว่าเพราะเป็นเงินของแต่ละบริษัท และเงินไม่ได้หายไปไหน ไม่ต้องเสียค่าเบี้ย เหมือนอย่างการทำประกัน ที่ต้องเสียค่าเบี้ย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของ สคบ.ว่า เงินค้ำประกันกำหนดไว้เท่าไร โดยหากมีการวัดจากผลประกอบการของแต่ละบริษัท อาจจะเป็น 1 ล้านบาท 5 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท แต่จากที่ได้สอบถามไปนั้นยังไม่ได้มีความชัดเจนตอบกลับมา


ทางสมาคมฯ เองก็มีแนวโน้มเห็นด้วยทั้งสองแนวทางที่เราได้วางแผนกันไว้นั้นมีเงินลงขันกันให้ได้ 10 กว่าล้านบาทและทำประกันโดยรวมทุกบริษัท เพื่อเป็นการลดต้นทุนของแต่ละคนด้วย แลหาก สคบ. ขอปรับเพิ่มเป็น 5 แสนบาทเท่ากันทุกบริษัทนั้นว่าเห็นด้วยหรือไม่นั้นทางสมาคมฯก็ต้องมีการหารือร่วมกันก่อนอีกครั้งหนึ่ง


ขณะที่ นายนิโรธ เจริญประกอบ นายกสมาคมธุรกิจเครือข่ายขายตรงไทย (TDNA) ระบุถึงแนวทางนำพาบริษัทสมาชิกของสมาคมทีดีเอ็นเอเข้ารับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภคในประเภทธุรกิจขายตรง ตามนโยบายของ สคบ. ที่ได้กำหนดกรอบกติกาข้อบังคับไว้ 3 ข้อว่า ขณะนี้ในส่วนของสมาคมทีดีเอ็นเอยังไม่ได้หารือร่วมกันอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าคงอยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละบริษัทสมาชิกในสมาคมฯเป็นผู้ตัดสินใจกันเองว่าจะเลือกแนวทางใด ดังนั้นสมาคมฯจึงไม่สามารถชี้ชัดได้รวมทั้งไม่บังคับสมาชิกด้วยว่าจะต้องดำเนินการหรือไม่ หรือในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง


ขณะเดียวกันในส่วนของบริษัทนีโอไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งนายนิโรธ นั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นั้นก็ยอมรับว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่ให้ธนาคารออกหนังสือรับประกัน (แบงก์การันตี) ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกในสมาคมทีดีเอ็นแอจะเลือกแนวทางใดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทนั้นๆเป็นสำคัญ


ด้านนายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA) กล่าวว่า การที่ สคบ.ได้กำหนดกรอบกตนิกาข้อบังคับในการยื่นขอรับมอบตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภคที่ได้กำหนดไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การจัดให้ธนาคารออกหนังสือรับประกัน (แบงก์การันตี) ที่จะขอใช้ความเสียหายในวงเงินที่สคบ.เห็นควร 2.จัดให้มีกองทุนชดใช้ความเสียหายโดยให้สมาคมที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นสมาชิกออกหนังสือรับประกันที่จะชดเชยความเสียหายกรณีที่สคบ.สั่งให้ชดเชยความเสียหาย และ 3.จัดให้มีกรมธรรม์รับผิดชดใช้ความเสียหายตามจำนวนเงินความเสียหายที่สคบ. เห็นควรทางสมาคม TDIA เห็นด้วยกับทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว เนื่องจากไม่เกี่ยวกับการกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ ยอดขายเหมือนในอดีต ซึ่งทั้ง 3 แนวทางสมาคม TDIA คิดว่าแนวทางในข้อแรกน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะทางผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก เพียงแค่นำเงินไปฝากไว้กับทางธนาคาร แล้วให้ธนาคารการันตี อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางสมาคมได้มีการประชุมกับบริษัทสมาชิกของสมาคมโดยได้เชิญนายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สคบ. เข้ามาชี้แจงรายละเอเยดซึ่งทั้งหมดก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน


จากที่ได้มีการประชุมกันของสมาคม TDIA เกี่ยวกับโครงการตราสัญลักษณ์สคบ.ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย โดยทั้ง 3 แนวทางคิดว่าแนวทางในการให้แบงก์การันตีน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเป็นการนำเงินไปฝากแบงก์ แล้วให้แบงก์การันตี ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ส่วนโครงการดังกล่าวจะเริ่มเมื่อไหร่นั้นคงต้องรอความชัดเจนจากทางสคบ.อีกครั้ง!




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย นสพ.LEADER TIME ฉบับที่ 219 ประจำวันที่ 16-31 มีนาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น