![]() |
ต้องยอมรับว่าช่องทางการขายสินค้าในปัจจุบันมีมากมายที่ถูกส่งตรงถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็วบางครั้งไม่ได้รับการคัดกรองก่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมากยังมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อมัลตีมีเดียโดยมุ่งหวังยอดขายเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะมีนโยบายเกี่ยวกับการคุมเข้มสื่อโฆษณาเกี่ยวกับยาและอาหารผ่านสื่อ โดยเฉพาะโฆษณาที่ออกอากาศในสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุท้องถิ่น และเว็บไซต์ ตลอดจนโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ
ปัจจุบัน ก็ยังพบว่ามีผู้กระทำผิด และถูกจับกุมดำเนินคดีไปหลายต่อหลายราย โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีมากกว่า 11,450 ราย ยึดของกลางได้กว่า 3,248 รายการ และในจำนวนคดีนี้มีคดีที่ยึดของกลางมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ถึง 15 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตกใจก็คือการโฆษณายาและอาการที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมาย อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ช่องทางตามเสียงวิทยุท้องถิ่น หรือแทรกในรายการเคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม ที่มีมากจนเข้าขั้นน่าวิตก ทั้งนี้ ยังไม่นับช่องทางสื่อสารผ่านเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยโฆษณาและอาหารหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยอมรับว่าอุปสรรคและปัญหาสำคัญของอย. คือเรื่องกำลังคนกับปริมาณงานไม่าสอดคล้องกัน กล่าวคือ โดยปัจจุบันอย.มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นข้าราชการประมาณ 700-800 คน นอกนั้นเป็นลูกจ้างในขณะที่ปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพ การซื้อขายของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งนักวิชาการได้เข้ามาทำการศึกษาแล้วว่า อย. ต้องการคนอีกประมาณ 200-400 คน ที่จะทำให้ครบและครอบคลุมกับงานที่ดูแลทั้งหมดได้
แต่อย่างไรก็ตามในปี 2556 อย. ได้กำหนดทิศทางในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสุขภาพประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในปีนี้ปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ อาหารและยาจำพวกอาหารเสริมและยาสมุนไพรนั่นเอง
โดยพบว่าปัจจุบัน มีการโฆษณาเกินจริง และมีช่องทางโฆษณาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางหนังสือ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ ฟรีทีวี โดยเฉพาะทางช่องเคเบิ้ลทีวีหรือ ทีวีดาวเทียม และทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบว่าจะมีการโฆษณาเยอะมาก
ส่วนการโฆษณาเครื่องสำอางนั้น น.พ.บุญชัย บอกว่า ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาเรื่องการผลิตและขายโดยที่ไม่แจ้งรายละเอียดของผลิตภัณฑ์กับ อย. ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปขายในตลาดล่าง พวกตลาดเคลื่อนที่ ตลาดเร่ หรือตลาดนัด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อย. กำลังเร่งแก้ไขปัญหา การโฆษณาเกินจริงโดยได้เซ็นข้อตกลงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อจะช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้
น.พ.บุญชัย กล่าวต่อว่า เมื่อไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีการเปิดการค้าเสรี ทำให้มีการไหลเข้ามาของสินค้าจากประเทศในอาเซียนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ในการเตรียมความพร้อมของทาง อย. จะมีหลายเรื่องด้วยกัน อาทิเช่น การเข้าไปร่วมกับประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ในการกำหนดกฎหมาย กฎระเบียบในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ กฎระเบียบในการที่จะระบุเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ร่วมกัน ให้มีความเข้าใจกับคำว่า "คุณภาพและความปลอดภัย" ที่ตรงกันเพื่อให้เป็นมาตรฐานของอาเซียน ซึ่งจะเป็นหลักประกันได้ว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งในประเทศไทยและในอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
นอกจากนี้ อย.ยังต้องช่วยในเรื่องของการเตรียมความพร้อมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ หรือที่ผลิตในชุมชนขนาดเล็ก ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และยังมีเรื่องของการเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกสู่ท้องตลาดและเข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยจะสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ ถ้าพบว่ามีปัญหาก็จะทำการ ยึด อายัด ทำลาย และดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป
"อย.กำหนดให้มีจุดตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ในด่านสำคัญๆ ทั่วประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งมีประมาณ 40 จุด โดยขณะนี้กำลังพยายามพัฒนาด่านเหล่านี้ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบไอที ช่วยให้การตรวจสินค้าและการปล่อยสินค้ามีความรวดเร็วขึ้น เกิดประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการที่จะนำเข้าสินค้าด้วย"
Credit By :http://www.ryt9.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น