ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สคบ. กอดคอ 3 สมาคม ขายตรง! ให้ความรู้กฎเกณฑ์ รับตราสัญลักษณ์


สคบ. เชิญ บริษัทสมาชิก 3 สมาคม เข้าฟัง โครงการสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบธุรกิจและรณรงค์การขอรับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภคของธุรกิจขายตรง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกฯ ให้เกียรติเปิดงาน ส่วนอีกกว่า 700 บริษัทขายตรงไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ระบุว่าให้ความรู้กับผู้ประกอบการของธุรกิจขายตรง

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยในการเป็นประธานงานสัมมนา โครง การสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบธุรกิจและรณรงค์การขอรับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค ของธุรกิจขายตรง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ว่า วันนี้ เรากำลังจะเปิดตลาดอาเซียน 10 ประเทศ ในปี 2558 กลุ่มประชากรอาเซียนมีอยู่เกือบพันล้านคน ซึ่งแน่นอนก่อนที่เราจะออกสู่ตลาดดังกล่าว ต้องถามว่าใครจะนำทางไป ซึ่งทางสคบ. บอกว่าเราจะนำผู้ประกอบการเจาะตลาดอาเซียน แต่ถาม ว่าวันนี้ใคร บริษัทไหน และใช่ตัวจริงหรือ เปล่า ซึ่งแน่นอนผู้บริโภคย่อมจะไม่รู้ว่า บริษัทนี้ดีหรือไม่ดี ยิ่งเมื่อต่างประเทศเขาก็จะถามกลับมาว่า แล้วบริษัทนี้รับรอง หรือไม่ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการจะแยกผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมที่จะก้าวเดินไปบนขีดความสามารถของตัวเอง กับกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่เข้ามาแฝงตัวอยู่

สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องแยกให้ได้ว่า ขณะนี้สินค้าตัวไหนคือของจริง ซึ่งเราอาจ จะทำงานหนักกันเพราะเหตุผลนี้ ทางสมาคมต่างๆ ของขายตรง จึงจำเป็นต้อง มาช่วยกันให้ท่านเหลือแต่แก่นแท้ ท่านอย่าคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน แล้วช่วยรับรองกันเข้ามา ท่านต้องช่วยกันกลั่นกรอง ไม่ใช่คือไม่ใช่ ไม่เช่นนั้นเขาก็จะเป็น ตัวถ่วงในธุรกิจของท่าน วันนี้ธุรกิจท่านไม่ถึง 1% ของ GDP ในประเทศไทย ท่านอย่าได้นึกว่าท่านภูมิใจแล้ว ทั้งๆ ที่ด้วยศักยภาพแล้ว สัดส่วนของท่านไม่น่าจะต่ำกว่า 10-20% วรวัจน์ กล่าว

ด้านนายนพปฎล เมฆเมฆา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยในงานสัมมนาให้ความรู้ 3 สมาคม เกี่ยวกับการขอติดตราสัญลักษณ์สคบ. ว่า เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างสูง เนื่องจากเป็นกลไก สำคัญของการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเติบโตของระบบเศรษฐกิจของ ประเทศ ในปีที่ผ่านมาธุรกิจขายตรงสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่าง มหาศาล โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่งมีสมาคมที่มี วัตถุประสงค์เกี่ยวกับธุรกิจขายตรง 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมการขายตรงไทย สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย และสมาคมอุตสาหกรรมการขายตรงไทย

การสัมมนาในครั้งนี้ ภาครัฐมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.เพื่อซักซ้อมแนวทางในการขอรับตรา สัญลักษณ์ในธุรกิจขายตรงตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภคกำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจ ขายตรงและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง 2.เพื่อรณรงค์ เชิญชวน ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงที่มีความพร้อม มีความสามารถสมัครของรับตรา สัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภคได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และ 3.เพื่อเป็นการเผย แพร่ ประชาสัมพันธ์การขอรับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นมิติใหม่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ตามนโยบายใหม่ของท่านนายกรัฐมนตรี นพปฎล เผย

อย่างไรก็ดี การเปิดโต๊ะสัมมนาในครั้ง นี้ ทางภาครัฐได้กล่าวในเรื่องของหลักเกณฑ์ การสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ของธุรกิจขายตรงว่า หลักเกณฑ์การขอรับมอบตราสัญลักษณ์ 1.บริษัทนั้นต้องได้รับการจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 2.บริษัทนั้นต้อง ได้รับการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545

3.ไม่เคยกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 หรือพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการ ฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เว้นแต่ได้พ้นโทษในความผิดดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี 4.ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบ ธุรกิจตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 5.จัดให้มีการรับประกันความเสียหายที่เกิดจากการใช้สินค้า หรือมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร้องเรียนให้แก่ผู้บริโภค 6.ยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจ การค้ากระทรวงพาณิชย์เป็นประจำต่อเนื่อง ทุกปี 7.ไม่เคยถูกฟ้องดำเนินคดีด้านการชำระภาษี 8.ผู้มีอำนาจจัดการกิจการขององค์กรไม่มีประวัติเสื่อมเสียในการดำเนินธุรกิจมาก่อน

9.การคำนวณแผนการจ่ายผลตอบแทน ของผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่เกินร้อยละ 55 ของราคาสินค้า 10.ผลตอบแทนเกิดจากการ ขายและกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคที่ไม่ได้มาจากการหาสมาชิก และมีรูปแบบที่ชัดเจน ในการขายสินค้า หรือบริการโดยรายได้หลัก มิใช่การชักชวนบุคคลร่วมเป็นเครือข่าย 11. มีรายงานผลการประกอบธุรกิจต่อสคบ. อย่างต่อเนื่องทุกๆ 6 เดือน 12.ไม่มีพฤติกรรมการโน้มน้าวให้ผู้จำหน่ายอิสระรับซื้อสินค้าในปริมาณมากอย่างไม่สมเหตุสมผล 13.สินค้าที่นำมาจำหน่ายต้องได้รับการอนุญาตรับรอง หรือจดแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นสินค้าที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องขออนุญาตรับรอง หรือ จดแจ้งจากหน่วยงานดังกล่าว 14.สินค้าที่นำมาจำหน่ายต้องแสดงฉลากถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

15.การโฆษณา และประชาสัมพันธ์ อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง 16.สัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้จำหน่ายอิสระ หรือผู้บริโภคทุกฉบับต้องเป็นธรรม และไม่เอาเปรียบ 17.มีการกำหนดให้รับคืนสินค้าจาก ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนจำหน่ายภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้า โดยการหักค่าดำเนินการตามที่จ่ายจริง 18.มีการกำหนด ให้รับคืนสินค้าจากผู้บริโภคภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้า 19.มีการจัดทำ และ ส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ให้กับผู้บริโภครวมทั้งจัดทำ และส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการหรือคู่มือการดำเนินธุรกิจให้กับผู้จำหน่ายอิสระ 20.มีช่องทางการรับแจ้งข้อมูลจากลูกค้า เช่น ข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ อย่างชัดเจน 21.ภายหลังหากพบว่า ผู้ได้รับมอบตราสัญลักษณ์ไม่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ทางสคบ.ขอสงวนสิทธิ์ การเพิกถอน หรือ ริบตราสัญลักษณ์คืน พร้อมประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ 22.ตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภคมีอายุ 2 ปี นับแต่วันระบุ ไว้ในตราสัญลักษณ์ 23.การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ถือเป็นที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของหลักเกณฑ์ การขอยื่นรับตราสัญลักษณ์ดังที่กล่าวมา มีหลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้น อาทิ ข้อที่ 9.ซึ่งมีการกำหนดการจ่ายผลตอบแทนของผู้ประกอบการต้องไม่เกินร้อยละ 55 ของราคา สินค้า ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่จ่ายอยู่มากกว่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนธุรกิจ ในอนาคต และข้อ 11.ซึ่งต้องมีการรายงาน ผลการประกอบธุรกิจต่อสคบ.ทุก 6 เดือนนั้น อาจเป็นการสร้างความยุ่งยากมากจนเกินไป

โดย นายกิจธวัช ฤทธีราวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้แย้งในประเด็นที่ว่าต้องทำประกันบริษัทกับทาง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพิ่มนั้น ว่า ในเมื่อทางบริษัทได้ทำประกันกับบริษัทต่างชาติแล้ว และก็ครอบคลุมอยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้จะเพียงพอ หรือไม่อย่างไร อีกทั้งยังไม่เห็นความจำเป็น ต้องทำเพิ่มในส่วนนี้ด้วย

ซึ่งในประเด็นนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาของหลายบริษัท โดยบริษัทส่วนใหญ่ ก็มีการทำประกันอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่มีความ จำเป็นต้องมาทำประกันกับทางทิพยประกันภัยเพิ่ม ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตถึงการสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งในโครงการมีการระบุว่า เป็น โครงการสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบธุรกิจและรณรงค์การขอรับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค ของธุรกิจขายตรง ประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2555 แต่กลับกลายเป็นว่า กว่า 700 บริษัท ในจำนวนกว่า 800 บริษัท ที่ขึ้นทะเบียนขายตรงกับสคบ. ไม่รู้เรื่องดังกล่าว ซึ่งจะมีเพียงบริษัทของ 3 สมาคมเท่านั้น ที่ได้รับการเชื้อเชิญร่วมงาน สัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งในจำนวนของบริษัทของ ทั้ง 3 สมาคม ก็จะมีเพียง 64 บริษัท จำแนก เป็นสมาคมการขายตรงไทย 32 บริษัท สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย 15 บริษัท และสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย 17 บริษัท ซึ่งกลายเป็นว่า ทางสคบ.แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำงานอย่างเลือกปฏิบัติ นี่จึงเป็น สิ่งที่ทางรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจให้มากขึ้น ไม่เพียงแต่มาเปิดงานและปิดงานเท่านั้น


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ.สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1317 ประจำวันที่ 14-7-2012 ถึง17-7-2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น