ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข่าวสคบ. ออกตรายางขีดเส้นขายตรง


สคบ. เร่งมอบตราสัญลักษณ์ล่อกลุ่มธุรกิจขายตรงเข้ากรอบ หวังจัดระเบียบลดปัญหาร้องเรียน แนะใช้เป็นเครื่องการันตีขยายตลาดอาเซียน มั่นใจส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศ ด้านนายกสมาคมการขายตรงไทยบ่นอุบ มอบตราสัญลักษณ์พร้อมเก็บค่าประกันส่งผลต้นทุนสินค้าเพิ่ม "เอเชีย สุพรีม" คาดหลังเปิดเออีซีตลาดขายตรงพุ่งพรวดทะลุ 1 ล้านล้านบาท
นายนพปฎล เมฆเมฆา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ สคบ. จะเริ่มมอบตราสัญลักษณ์ให้กับธุรกิจขายตรงเป็นกลุ่มแรก ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอื่นๆต่อไป ทั้งนี้มองว่า ธุรกิจขายตรงมีระบบการบริหารจัดการและมีสมาคมดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ดี และสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้มาก โดยเฉพาะหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 โดยสคบ. มีแนวคิดจะมอบตราสัญลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าและบริการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าและบริการนั้น มีการรับประกันความปลอดภัย โดยสคบ. มีเป้าหมายที่จะมอบตราสัญลักษณ์ให้กับธุรกิจต่างๆ รวม 26 ประเภท อาทิ ร้านจำหน่ายทองรูปพรรณ ร้านจำหน่ายรถยนต์มือสอง เป็นต้น
-เสียหายมีประกันเยียวยา
ทั้งนี้ธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินธุรกิจกว่า 16 ล้านคน มีมูลค่าการค้ามากกว่า 1 แสนล้านบาท และมีศักยภาพสามารถขยายตัวได้รวดเร็ว โดยเฉพาะการมีตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานภาครัฐ เป็นเครื่องการันตี จะทำให้ผู้บริโภคในต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการก็จะสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนและถูกล่อลวงจากผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงจำนวนมาก ซึ่งการจะเอาผิด หรือลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมายจะต้องใช้เวลานาน แต่ต่อไปเมื่อมีการนำระบบประกันเข้ามาใช้ เมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคก็จะได้รับการเยียวยาทันที
" สินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ของสคบ. จะเป็นสิ่งยืนยันว่าสินค้าหรือบริการเหล่านี้ ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานรัฐในระดับหนึ่ง เมื่อผู้บริโภคซื้อและเกิดความเสียหาย ก็จะมีระบบประกันเข้ามาดูแล และช่วยเยียวยาให้ผู้บริโภคได้ทันที โดยไม่ต้องรอฟ้องร้องเป็นคดีความ ซึ่งต้องใช้เวลานาน ยุ่งยาก" รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวและว่า
-บุกสู่อาเซียนง่าย-น่าเชื่อถือ
สำหรับธุรกิจขายตรง มีศักยภาพที่จะขยายตลาดไปสู่อาเซียนได้ และการมีตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจขึ้น และเมื่อเปิดตลาดไปสู่อาเซียนก็จะได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย ส่วนการดำเนินการในขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อธุรกิจขายตรงที่จะเข้ารับตราสัญลักษณ์สคบ. ผ่านสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ โดยเบื้องต้นเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงเข้ารับตราสัญลักษณ์กว่า 80 บริษัท โดยตราสัญลักษณ์ของสคบ. จะมอบหมายและคุ้มครองใน 2 รูปแบบ คือ ตราสัญลักษณ์สำหรับผู้ประกอบการ และตราสัญลักษณ์สำหรับตัวสินค้า ซึ่งหากได้รับตราสัญลักษณ์ไปแล้ว และไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดก็จะสามารถยึดคืนได้ในภายหลัง
-ต้องซื้อประกันแบกต้นทุนสูงขึ้น
ด้านนายกิจธวัช ฤทธาวี นายกสมาคมการขายตรงไทย กล่าวว่า การที่สคบ. มีแนวคิดจะมอบตราสัญลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้น เบื้องต้นต้องดูเงื่อนไขในการรับตราสัญลักษณ์และการนำไปใช้ก่อน ซึ่งเท่าที่ทราบในขณะนี้ คือผู้ที่จะรับมอบตราสัญลักษณ์ จะต้องซื้อประกันภัยจากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้สินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดีหากเปิดเออีซีเชื่อว่าผู้ประกอบการขายตรงไทยจะได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะมีบริษัทที่เก่งและมีศักยภาพในการบุกตลาดจำนวนมาก แม้ว่าธุรกิจขายตรงจากต่างประเทศหลายรายที่ใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานเพื่อเข้ามาเจาะตลาดไทยเช่นกัน แต่มั่นใจว่าผู้ประกอบการไทยแข่งได้ และที่ผ่านมาแบรนด์ระดับโลกเข้ามาทำตลาดขายตรงในประเทศไทยเกือบครบแล้ว
ส่วนการขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น ต้องศึกษาเรื่องของจำนวนประชากรศาสตร์ เช่น อินโดนีเซีย มีประชากรกว่า 200 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 80 ล้านคน เวียดนาม 80 ล้านคน และขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการแต่ละรายว่ามีสินค้าและบริการเข้าไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด
"โอกาสของธุรกิจเครือข่ายจะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร และวัฒนธรรม บางประเทศนิยมการขายตรงหลายชั้น(เอ็มแอลเอ็ม)และบางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ไม่เกิด เพราะคนชอบการขายตรงแบบชั้นเดียว(เอสแอลเอ็ม) แต่เมื่อเปิดเออีซีมองว่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการขายตรงไทยมากกว่า เพราะหลายบริษัทเก่งและมีศักยภาพ ส่วนคู่แข่งที่จะเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา อย่าง เกาหลี ที่ใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐาน หรือแม้แต่มาเลเซีย ก็ถือว่าไม่น่ากลัว และคาดว่าคงไม่มีแบรนด์ใหม่ๆเข้ามาอีกมากนัก เพราะที่ผ่านมามัลติแบรนด์ใหญ่ๆก็เข้ามาเกือบหมดแล้ว เพราะไทยถือเป็นตลาดขายตรงระดับโลกที่มีศักยภาพมากในตลาดอาเซียน" นายกิจธวัช กล่าว
-ขยายตัวลดลง2ปีซ้อน
ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการขายตรงประมาณ 828 บริษัท และมีมูลค่าตลาดประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มภาพรวมตลาดปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 7% ซึ่งยอมรับว่าจากปัญหาทางการเมือง และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบให้ธุรกิจขายตรงไทยเติบโตในอัตราที่ถดถอยลงติดต่อกัน 2 ปีแล้ว จากปกติตลาดจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% และคาดการณ์หลังเปิดเออีซีคาดว่าตลาดยังเติบโตในระดับ 7-8%
นายกิจธวัช กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทแอมเวย์ฯก็มีการเข้าไปทำธุรกิจขายตรงใน 7 ประเทศอาเซียนแล้ว เหลือเพียงกัมพูชา พม่า และลาวที่ยังไม่เข้าไปบุกตลาด โดยต้องดูความพร้อมอีกระยะ
นายอิทธิศักดิ์ อำพันยุทธ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คังเซน-เคนโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า การที่ธุรกิจขายตรงไทยจะเข้าไปขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีกฎระเบียบต่างๆที่ต้องทำการศึกษาจำนวนมาก แม้ว่าการเปิดเออีซีจะทำให้กำแพงภาษีลดลงเหลือ 0% แต่ในบางธุรกิจก็จะทยอยลด และยังมีมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีของแต่ละประเทศด้วย
ในส่วนของบริษัทมีการบุกตลาดต่างประเทศน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในแถบอินโดจีน ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย และยังไม่มีแผนจะรุกต่างประเทศเพิ่มแต่อย่างใด โดยจะค่อยๆขยายธุรกิจ
"ในทางปฏิบัติการเข้าไปบุกตลาดขายตรงรับเออีซีไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะยังมีอุปสรรคทางธุรกิจจำนวนมากที่ยังไม่เอื้อต่อการเข้าไปประกอบธุรกิจ ทั้งเรื่องภาษา กฎหมายซึ่งทุกประเทศก็จะต้องมีการออกกฎระเบียบมาปกป้องธุรกิจตนเองจากประเทศอื่น เช่น เวียดนามก็จะมีกฎเกณฑ์ร้านทำธุรกิจรีเทล และการที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านภาษาให้มาก เพราะจะต้องใช้คนเป็นสื่อกลางในการจำหน่ายสินค้าถึงผู้บริโภค และประสบการณ์ที่คังเซนไป เจาะตลาดอินโดจีนก็พบว่ามีปัญหาจำนวนมากโดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับกฎหมาย" นายอิทธิศักดิ์ กล่าว
-ขายตรงอาเซียนทะลุ 1 ล้านล. บาท
พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด กล่าวว่า ในระยะแรกของการเปิดเออีซีมองว่าจะเป็นช่วงของการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างผู้ประกอบการขายตรงในอาเซียน และเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการขายตรงจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแข่งกับโลคัลแบรนด์มากขึ้น โดยการเปิดเออีซีถือว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจขายตรงของไทยให้สามารถเข้าไปขยายตลาดในอาเซียนได้มากขึ้น แต่คู่แข่งก็จะเข้ามาในไทยเช่นกัน เพราะกำแพงภาษีต่างๆจะลดลงจากในอดีต รวมถึงมาตรการกีดกันการค้าต่างๆที่น่าจะลดตามไปด้วย ส่วนบริษัทกิฟฟารีนฯ มีการเข้าไปขยายตลาดขายตรงในประเทศเพื่อนบ้านบางส่วน อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายประมาณ 5% เท่านั้น จากยอดขายรวมในปีนี้ที่ระดับ 5.8 พันล้านบาท
ก่อนหน้านี้ นายสุธีร์ รัตนนาคินทร์ ประธานกรรมการ บริษัท เอเชีย สุพรีม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจขายตรงแบบเอ็มแอลเอ็มระบุว่าเมื่อเปิดเออีซี จะทำให้ขนาดตลาดขายตรงอาเซียนใหญ่ขึ้นและมีมูลค่าตลาดมหาศาลที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท ทำให้บริษัทต่างชาติ อาทิ นิวซีแลนด์ ฯลฯ เริ่มเข้ามาบุกตลาดในไทยมากขึ้นและใช้เป็นศูนย์กลางในการขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่อไป


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,758 19-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น