ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข่าวกิฟฟารีน - Giffarine : "หมอต้อย" แย้ง! จ่ายประกัน "ทิพยฯ" ซ้ำซ้อนติดตราสคบ.กฎกติกาไร้ความจำเป็น


โครงการสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบธุรกิจ และรณรงค์ การขอรับตราสัญลักษณ์คุ้มครอง ผู้บริโภคของธุรกิจขายตรง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ไร้ข้อยุติ ผู้ประกอบการลุกขึ้นแย้งหลายประเด็น หมอต้อย แม่ทัพหญิง กิฟฟารีน โต้ทำไมต้องทำประกันเพิ่มกับ ทิพยประกันภัย ในเมื่อทุกวันนี้บริษัทขายตรงส่วนใหญ่ก็มีประกันอยู่แล้ว ทั้งยังปฏิบัติตามพ.ร.บ.ขายตรงและ ตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 อย่างเข้มงวด หวั่นต้อง เสียเงินในส่วนไม่จำเป็นนับสิบล้านบาทเพิ่ม แลกสติกเกอร์ติดข้างขวด!

แต่ผู้ประกอบการซึ่งเราทำงานกันมาหลายปี โดยเหตุการณ์ที่เราได้เจอส่วนใหญ่แล้ว เราจะดูแลผู้บริโภค นี่คือสิ่งที่เราทำกันมาตลอด คือเรามีการรับรอง และหาก มีปัญหาเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เราก็จะมีการคืน สินค้า ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง และที่ทำไปมากกว่านั้น คือ การรักษาดูแล โดยที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับเขา นี่คือสิ่งที่เราในฐานะผู้ประกอบการทำกันมา ตลอด และหากเกิดข้อบกพร่องจากกระบวน การผลิตจริงๆ ก็แก้ไขไปตามนั้น ซึ่งจากที่เรียนเรื่องนี้ก็คือว่า เราเข้าใจในความหวังดี ของภาครัฐ แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือเรื่องของ ค่าใช้จ่าย ถ้าคำนวณเงินประกันจริงๆ ผู้ประกอบการจะต้องเสียเงินในส่วนนี้ ประมาณ 5-25 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงิน 25 ล้านบาท สำหรับกิฟฟารีนเองก็สามารถนำไปแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอื่นๆ ได้ แล้วยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กก็ จะยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก หมอต้อย แย้ง

ตนเข้าใจเจตนาของทางทิพยฯ เข้าใจ เจตนาของสคบ. แต่อยากจะบอกตรงนี้ว่า จริงๆ แล้วการกำกับดูแลของผู้ประกอบการ ที่ผ่านมามีเต็มที่อยู่แล้ว เช่น ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาบางประการ และผู้บริโภคมีเจตนาบริสุทธิ์ เขาแพ้จากการใช้สินค้าจริงๆ สิ่งที่เราดูแลก็มีหน่วยงานสคบ. เข้ามาเกี่ยวข้อง อยู่แล้ว และกรณีปัญหาหนักจริงๆ ที่เกิดจาก ผู้ประกอบการบางราย ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์กับผู้บริโภค ก็ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่แล้ว

อีกกรณีหนึ่ง ในส่วนเกี่ยวกับบริษัทประกันทิพยฯ ถ้าหากเกิดกรณีผู้บริโภคที่ไม่ใช่ผู้บริโภคตัวจริง ที่ร้องเรียนมาเพราะอยากได้เงินประกันเยอะๆ แต่เมื่อพิสูจน์แล้ว ไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิต ไม่ใช่ความผิดของ ผู้ประกอบการขายตรง ยังไงบริษัททิพยฯจะต้องจ่ายอยู่ให้แล้วใช่หรือไม่ พ.ญ.นลินี กล่าว
สิ่งที่พ.ญ.นลินี กล่าวแย้งขึ้นมานี้ เป็นข้อสงสัยที่หลายบริษัทก็มีความคิดไม่ต่างกัน เพราะเมื่อบริษัทขายตรงส่วนใหญ่มี การรับผิดชอบ และมีการรับประกันที่ถูกต้อง ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แล้ว การที่ต้องไปจ่ายเงินเพิ่มในสิ่งที่มี และดีอยู่แล้ว ก็ดูจะเป็นเรื่องที่เกินความจำเป็น
โดย นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า ในส่วนของการประกันภัยจะแบ่งการคุ้มครอง ออกมาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ความคุ้มครองในตัวผลิตภัณฑ์ เป็นความรับผิดต่อตัวผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่มีอยู่ จาก การที่ผู้บริโภคมีการซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการ แล้ว ปรากฏว่า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ ร่างกายหรืออย่างอื่นอย่างใดต่อผู้บริโภค ก็ เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะร้องเรียนให้ชดใช้ ค่าเสียหายหรือเงินชดเชยต่างๆ ได้ ซึ่งการ ยื่นคำร้องนั้น จะยื่นที่ สคบ. โดยสคบ. จะมี กระบวนการในการวินิจฉัยข้อพิพาท เมื่อสคบ. วินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไรแล้ว บริษัทประกันภัยก็จะเข้ามาช่วยเหลือตามข้อวินิจฉัย

ส่วนกลุ่มที่ 2 จะมุ่งคุ้มครองนักธุรกิจ อิสระ หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้โดย ตรงที่อาจโดนหลอกลวง หรือเข้ามาแล้วไม่เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างไว้ จึงถือว่าบุคคลกลุ่มนี้เป็นผู้เสียหายอีกกลุ่มหนึ่ง โดยกระบวนการชดใช้ก็เช่นเดิม คือผู้ที่ได้รับความเสียหาย ก็จะต้องยื่นคำร้องเรียน ว่าตนเองได้รับความเสียหายอย่างไรที่สคบ. สคบก็จะมีการวินิจฉัยพิจารณาตามองค์ประกอบ ในส่วนนี้อาจจะมีผู้แทนจากสมาคม ต่างๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีความรู้ความ เข้าใจเกี่ยวกับระบบขายตรงเป็นอย่างดีมาช่วยในการให้ข้อมูลต่างๆ เมื่อสคบ. วินิจฉัย เป็นอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ต่อไปของทิพยฯที่จะเข้ามาชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ถ้าเป็นเจตนาหรือข้อบกพร่องโดยตรงของผู้ประกอบการ เราก็จะใช้สิทธิเรียกร้องคืน จากผู้ประกอบการ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าไม่ให้ผู้ประกอบการฉกฉวยโอกาสจากบริษัทประกันภัย

สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยในขณะนี้ ยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ตนได้เรียนกับท่าน รัฐมนตรีว่า จะขอปรึกษากับทางสมาคม ชมรมขายตรงต่างๆ เพื่อระดมความคิดเห็น กัน เนื่องจากในฐานะที่ท่านเป็นผู้ประกอบการโดยตรงและท่านก็รู้ดีว่าปัญหาหรือข้อจำกัดของบริษัทต่างๆ นั้นคืออะไร ตนจึงอยากจะใช้เวลาในช่วง 2 สัปดาห์นี้ในการพบปะกับผู้ประกอบการขายตรงโดยตรง เพื่อร่วมปรึกษากันถึงข้อกำหนดสำหรับการ จัดทำเบี้ยประกันภัย

ตนขอเรียนเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของความคุ้มครองนั้น ในกรมธรรม์ประกันภัย ถ้าบริษัทใดมีกรมธรรม์คุ้มครองอยู่แล้ว สามารถนำเข้ามาใช้ประกอบเงื่อนไขขอรับ ตราได้หรือไม่ ตนขอเรียนว่า การที่บริษัททิพยฯ เข้ามาประเมินไม่ได้หมายความต้องการให้ทุกท่านเข้ามาทำประกันภัยกับบริษัทของเรา แต่เนื่องจากเราก็เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐ และมีวัตถุประสงค์ ในการดำเนินงานเช่นเดียวกับ สคบ. นั้นก็คือเราต้องการสร้างความคุ้มครองให้กับ ผู้บริโภค แต่ถ้ามีกรมธรรม์ที่ต้องการคุ้มครอง ผู้บริโภค ตรงตามเจตนาของโครงการนี้อยู่แล้ว ท่านก็สามารถที่จะแสดงหลักฐานขอรับตราได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชี้แจงคือ ในกรมธรรม์ประกันภัยทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่นั้นการชดใช้ค่าเสียหายทดแทนนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่า ผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อกรณีพิพาทนั้น แต่กรณีตามโครงการนี้ เราไม่ได้เอาคำวินิจฉัยถึงที่สุด แต่ เอาคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการที่จัดตั้ง โดยสคบ. เข้ามาพิจารณา ซึ่งหากบริษัทประกันภัยใดยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ เราก็ยินดีที่จะยอมรับท่านเข้ามาร่วมโครงการด้วยกัน

ทั้งนี้ จากข้อโต้แย้งที่ออกมานี้ กลับกลายเป็นว่าการขอรับตราสัญลักษณ์ที่ ทางภาครัฐได้ออกโครงการออกมานี้ ดูจะยัง ไม่ได้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจน อีกทั้งการสัมมนา ดังกล่าว ก็ดูจะรู้กันในวงแคบๆ ระหว่างรัฐ และบริษัทที่อยู่กับ 3 สมาคมขายตรงเท่านั้น ส่วนอีกกว่า 700 บริษัท ก็ไม่มีส่วนได้รับรู้อะไร เพราะไม่มีการเชิญเข้ารับฟัง นี่จึงเป็น จุดอ่อนของธุรกิจขายตรงในปัจจุบัน


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ.สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1317 ประจำวันที่ 14-7-2012 ถึง17-7-2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น