ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ติดตรา สคบ.ส่อเค้าวุ่น! ผู้ประกอบการบ่นเบี้ยประกันแพงเว่อร์!


จากนโยบาย ติดตราสัญลักษณ์ สคบ. ของ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สคบ. ที่ในช่วงก่อนหน้าได้จัด โครงการสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบธุรกิจและรณรงค์การขอรับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภคของธุรกิจขายตรง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 เพื่อเป็นการให้ความรู้กฎเกณฑ์การขอรับตราสัญลักษณ์กับผู้ประกอบการ


โดยงานดังกล่าว มีการระบุว่าให้ความรู้กับผู้ประกอบการ และต้องการให้บริษัทขายตรงกว่า 800 บริษัทเข้าขอรับตราสัญลักษณ์ แต่ปรากฏว่า งานสัมมนาที่จัดขึ้นมานั้น มีการเชิญบริษัทของ 3 สมาคมขายตรงเท่านั้น ซึ่งมีสมาชิกรวมกันเพียง 60 กว่าบริษัท กลับกลายเป็นว่า อีกกว่า 700 บริษัทไม่ทราบเรื่อง ใดๆ ทั้งสิ้น


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกฎระเบียบการขอรับตราสัญลักษณ์ ที่ดูจะขัดกับแนวทางของธุรกิจ อาทิ การต้องทำประกันกับบริษัท ทิพยประกันภัยฯ ในเบี้ยประกันประมาณ 0.5% จากยอดขาย ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากสำหรับบริษัทขายตรง รวมทั้งกฎกติกา อื่นๆ ที่มองแล้วจะสร้างความลำบากให้เกิดขึ้นกับวงการขายตรง บ้านเรา


> บีฮิป โอดเบี้ยประกันแพงเกิน



นายชัยวัฒน์ ชัยจินดาวัธน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีฮิป(ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่า สคบ.ควรจะออกจดหมายเชิญทุกบริษัทที่จดทะเบียน ควรกระจายข้อมูลข่าวสารให้รับรู้อย่างทั่วกัน แม้บริษัทภายนอกสมาคมอาจจะไม่ได้ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ก็น่าจะให้เราทราบข้อมูลที่จะเกี่ยว ข้องกับเราเองด้วย ไม่ใช่มารู้ภายหลังจากสื่อเช่นนี้


โดยเฉพาะเรื่องเบี้ยประกันภัย หากเป็นไปตามเงื่อนไขแรก ที่สคบ.จะให้บริษัททิพยฯเข้ามาดูแลเกี่ยวกับการประกันภัย และคิดเบี้ยประกันภัยประมาณ 0.5-0.1 ของยอดขายในแต่ละปีของแต่ละบริษัท ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอัตรา ดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สูงมาก ตนเชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนเข้าขอรับติดตราอย่างแน่นอนจริงๆ ไม่ควรจะคิดจากยอดขาย แต่น่าจะคิด จากยอดสมาชิกของแต่ละบริษัทมากกว่า เพราะระบบขายตรงสมาชิกก็คือ ผู้บริโภค การคิดเบี้ยประกันตามจำนวนสมาชิก ก็จะ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง บริษัทไหนมีสมาชิกจำนวนน้อย ก็จ่ายน้อย หรือบริษัทไหนมีสมาชิกมากก็จ่ายเพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ สคบ.ควรจะมีการจัดให้บริษัทประกันภัยอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ เพื่อจะได้มีการจัดแข่งขันกันเกี่ยวกับการออกเบี้ยประกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือก และเกิดการร่วมมือที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ติดต่อเพียงบริษัทเดียว เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้นอยู่ เงื่อนไขข้อนี้ทาง สคบ.จึงควรเตรียมพร้อมให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ก่อน


อย่างไรก็ดี บริษัทประกันก็น่าจะมีการลดหย่อนเบี้ยประกัน ให้กับบริษัทที่ไม่มีประวัติความผิดทางกฎหมายมากกว่าจะไปโอนอ่อนให้เฉพาะบริษัทที่อยู่ภายในสมาคม เพราะการเป็นบริษัท สมาชิกในสมาคมก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีเลิศไปทั้งหมด สคบ. ควรพิจารณาตามหลักความเป็นจริงมากกว่า ว่าบริษัทไหน ประพฤติปฏิบัติดี แต่อยู่ภายนอกสมาคมก็ควรมีสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนเบี้ยประกันด้วย


ส่วนหลักเกณฑ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือบริษัทขายตรงที่จะขอรับตราสัญลักษณ์สคบ.นั้น จะต้องมีแผนการจ่าย ผลตอบแทนไม่เกินร้อยละ 55 ของราคาสินค้า นายชัยวัฒน์ กล่าวแย้งในหลักเกณฑ์ ดังกล่าวว่า แม้บริษัทบีฮิปจะจ่ายไม่เกิน เกณฑ์ดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ตนก็ไม่เห็นว่าเป็นข้อจำกัดอะไรที่ต้องไปทำเช่นนั้นกับเขา คิดว่าเป็นคนละเรื่องกันกับการคุ้มครอง เพราะสคบ.เองก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่ามีบริษัท ไหนบ้างที่เขาจ่ายถึงขนาดไหน สรุปว่าพวก เขาเหล่านั้นก็กลายเป็นจุดอ่อนที่ต้องกำจัดไป ทั้งๆ ที่เขาได้ดำเนินธุรกิจอย่างมี จรรยาบรรณ โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เช่นนั้นหรือ


> แซนสยาม ไม่เห็นด้วย ทิพยฯ ลดเบี้ยประกันให้แค่บริษัทสังกัดสมาคม



นายปธิกร โยทองยศ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แซนสยาม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่า ตนไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาก่อนเลย แต่ก็มองในแง่ดีว่า หน่วยงานสคบ.อาจจะต้องการนำร่องโครงการดังกล่าวกับบริษัทใน 3 สมาคมขายตรงไทยก่อน เนื่องจากทั้ง 3 สมาคมมีบทบาทสูงในธุรกิจนี้ หากสมาคมไม่ให้ความร่วมมือ ก็คงยากที่บริษัทขายตรงอื่นๆ อีกเกือบ 1 พันบริษัทจะยอมรับ ฉะนั้นตน ก็ไม่ได้ซีเรียสในเรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นที่เข้าใจกันได้


อย่างไรก็ดี ด้านเงื่อนไขการคิดเบี้ยประกันภัย นายปธิกร กล่าวว่า เรื่องเบี้ยประกันภัยเป็นเรื่องสำคัญ แม้เราจะเห็นด้วยเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวของทาง สคบ. แต่การคิดเบี้ยประกันภัยก็ต้องคิดอย่างสมเหตุสมผล ไม่ควรเอากำไรเกินควร ต้องให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนตัดสินใจ เพื่อกำหนดเบี้ยประกันอย่างยุติธรรมและ สมเหตุสมผล ซึ่งแนวทางหนึ่ง สคบ.ควรจะมีการจัดให้บริษัทประกันภัยอื่นๆ เข้ามา มีส่วนร่วมในโครงการนี้ เพื่อจะได้มีการจัดแข่งขันกันเกี่ยวกับการออกเบี้ยประกัน ไม่ใช่ติดต่อเพียงบริษัทเดียว เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้นอยู่ เงื่อนไขข้อนี้ทางสคบ.จึงควรเตรียมพร้อมให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ก่อน จึงจะเริ่มออก รณรงค์ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีบริษัทไหน ตัดสินใจเข้ายื่นขอตราสัญลักษณ์แน่


ส่วนเงื่อนไขที่อาจมีการลดหย่อนเบี้ยประกันให้แก่บริษัทที่อยู่ในสังกัด 3 สมาคมนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับใครก็ตามที่กำลังคิดแนวทางนี้อยู่ เพราะบริษัทอื่นที่อยู่นอกสมาคมหากเป็นบริษัทที่ไม่เคยกระทำความผิด แต่ไม่ได้สังกัดสมาคมเรา ก็เสียเปรียบ ส่วนเงื่อนไขสำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่อาจเกิดผลกระทบกับบริษัทขายตรงหลายๆ ค่าย คือข้อจำกัดเรื่องการจ่ายผลตอบแทน ที่มีหลักเกณฑ์ว่า บริษัทขายตรงที่จะขอรับ ตราสัญลักษณ์สคบ.นั้น จะต้องมีแผนการ จ่ายผลตอบแทนไม่เกินร้อยละ 55 ของราคาสินค้า ซึ่งนายปธิกรก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวว่า ตนเห็นด้วย กับการจำกัดตัวเลข แต่ต้องดูว่าตัวเลขเท่าไหร่จึงเหมาะสมที่สุด เพราะหากจ่ายสูงเกินไป ก็จะทำให้บริษัทไปตั้งราคาที่สูงเกินเหตุ และผู้บริโภคอาจจะได้สินค้าที่ไม่สมราคา โดยตนขอยืนยันว่า ตัวเลขในเงื่อนไขข้อนี้ สามารถตั้งขึ้นมาได้ แต่ก็ต้อง เป็นตัวเลขที่เราทุกคนเห็นพ้องกัน ซึ่งตนคิดว่าอัตราที่เหมาะสมอยู่ที่ 60% กำลังดี เพราะกรณีนี้ถือเป็นตราชั่ง หากบริษัทไหน มีการจ่ายโบนัสสูง ทำให้หลายคนเข้ามาเพราะแผนการจ่ายผลตอบแทน ส่วนผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าจริงๆ อาจจะไม่ได้ รับสินค้าที่มีคุณภาพดี และหากจ่ายน้อยไป ก็จะไม่ชอบธรรมกับคนทำธุรกิจ


> ดี ไลฟ์ วอนรัฐควรให้ความเป็นธรรมกับทุกบริษัท



นายเทวัญ ดีใจงาม ประธานกรรมการ บริษัท ดี ไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำดังกล่าวของ สคบ. ที่ไม่แจ้งข้อมูลใดๆ ให้บริษัทภายนอกสมาคมกว่า 700 บริษัททราบ ทั้งๆ ที่เรื่อง ดังกล่าว ก็เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของธุรกิจขายตรงโดยรวม ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะวงแคบอย่าง 3 สมาคมเท่านั้น ฉะนั้นตนเองจึงอยากวิงวอนให้ สคบ. เปลี่ยนแปลงระบบการทำงานโดยด่วน ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาตนก็ไม่ได้หมายความว่า อยากจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ แต่อย่างน้อย สคบ.ก็ควรส่งจดหมายบอกข่าวสารความเคลื่อนไหวกันบ้าง ไม่ใช่มาทราบภายหลัง จากผู้อื่นเช่นนี้


ทั้งนี้ในส่วนของเงื่อนไขหลัก เกี่ยวกับการกำหนดเบี้ยประกันภัย นายเทวัญ ก็ได้ให้ความเห็นว่า หากมีการปรึกษากันและกำหนดเบี้ยประกันภัยในอัตราที่สูงเกินไป ตนถือว่าไม่เหมาะสม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทประกันภัยที่มีเพียงบริษัทเดียว ยิ่งจะเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการเกินไป หน่วยงานภาครัฐควร ออกมาตรการที่ชัดเจนและให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ บริษัท โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะ วงแคบอีกเช่นเคย เช่น การลดเบี้ยประกันเฉพาะบริษัทที่อยู่ภายใน 3 สมาคม เพราะเห็นว่าน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ง่าย ตรงนี้ไม่เหมาะสม


บริษัทที่อยู่ภายใน 3 สมาคม โดยภาพรวมจะเป็นบริษัทที่ดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบจรรยาบรรณ ตรงนี้ตนเห็นด้วย แต่ บริษัทที่อยู่ภายนอกสมาคมหลายบริษัทก็ไม่เคยกระทำผิดต่อผู้บริโภค หรือกระทำผิดกฎระเบียบจรรยาบรรณ ตรงนี้รัฐบาล จึงสมควรให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย หากมีการลดหย่อนภาษีจริง ก็ควรต้องตรวจสอบประวัติความเสี่ยงภัยของแต่ละบริษัท และกำหนดเบี้ยประกันอย่างยุติธรรมในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทประกันภัย ก็ควรจะมีการติดต่อประสานงาน ยื่นเสนอโครงการ ให้บริษัทประกันอื่นๆ มีสิทธิเข้าร่วมด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภค


ดังนั้นโดยภาพรวม ตนก็เห็นด้วยกับโครงการติดตราสัญลักษณ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่โดยรายละเอียดของเงื่อนไขการขอรับตราสัญลักษณ์ คงต้องรอคำชี้แจงจากทางภาครัฐอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากรัฐยังคงยืนยันถึงหลักเกณฑ์เดิม โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการหลายๆ ราย ตน เชื่อว่าทั้งบริษัทดี ไลฟ์และขายตรงค่าย อื่นๆ คงยากที่จะให้ความร่วมมือ


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ.สยามธุรกิจฉบับที่ 1320 ประจำวันที่ 25-7-2012 ถึง27-7-2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น