ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

เจาะลึก!! งานคุ้มครองผู้บริโภค รับ พ.ศ.ใหม่ 2556








 


สู่ พ.ศ.ใหม่ ปี 2556 เจาะลึกงานคุ้มครองผู้บริโภค กับนายจิรชัย มูลทองโร่ย ผู้นั่งเก้าอี้ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในฐานะองค์กรกลางขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดูว่าทาง สคบ.จะมีแผนงานและทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร โดยเฉพาะในยุคที่กลไกของปัญหาสลับซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น และที่สำคัญอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่มาจากหลากหลายชาติหลายภาษา และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นหลายสิบล้านคน สคบ.ได้เตรียมความพร้อมหรือมีมาตรการอย่างไร


ก่อนอื่น นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้อธิบายถึงบทบาทภาระหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ในแบบที่เข้าใจง่ายๆ ว่าในส่วนของงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทาง สคบ.จะมีหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาฯ ทำงานโดยยึดนโยบายของประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันคือ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคนใหม่ เป็นอีกหนึ่งท่านที่เห็นด้วยกับวิสัยทัศน์ของ สคบ.ที่ว่า สคบ.เป็นหน่วยงานกลางในการคุ้มครองผู้บริโภคของชาติและระดับสากล ดังนั้นนโยบายจึงเป็นการส่งเสริมการทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ


ส่วนแผนงานและทิศทางการขับเคลื่อนงานของ สคบ.ในปี 56 ที่กำหนดไว้มี 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ การพัฒนากลไกงานคุ้มครองผู้บริโภคสู่สากล ซึ่งคำว่าพัฒนากลไกคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย เรื่องของภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน เช่น กลไกอนุกรรมการจังหวัด กลไกอนุกรรมการท้องถิ่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ซึ่งหลายฝ่ายอาจเห็นว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นงานฝาก แต่ สคบ.ในฐานะข้าราชการซึ่งเป็นกลไกของภาครัฐ เรื่องทุกข์ สุข ของพี่น้องประชาชน ต้องถือเป็นหน้าที่หลักที่ต้องทำ โดยมีเครื่องมือในเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อเอาไปช่วยเป็นแนวทางปฏิบัติ การพัฒนากลไกงานคุ้มครองผู้บริโภคสู่สากล จึงเป็นเรื่องแรกที่ต้องเร่งผลักดัน และสร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดงานให้ชัดเจน


ยุทธศาสตร์ที่ 2 คืองานบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประเด็นนี้ เลขาธิการ สคบ.อธิบายว่า สคบ.เป็นองค์กรกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยยึดภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาชน ทุกเรื่อง สคบ.ต้องรับรู้ รับทราบ และดำเนินการแก้ไขปัญหาบนแนวทางการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีแนวทางดำเนินการ คือ 1.จัดการรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จและครบถ้วน 2.ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งท่านประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จำแนกกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค มีเจตนาเอาเปรียบตั้งใจขายสินค้าไม่มีคุณภาพ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ตั้งใจเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย เช่น ขายสินค้าที่มีปริมาณ ปริมาตรไม่ครบถ้วน เขียนบรรจุไว้ 100 มิลลิกรัม แต่บรรจุลงไปจริงเพียง 80 มิลลิกรัม เป็นต้น กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มธุรกิจที่เอาความได้เปรียบมาเป็นหลัก คือกำหนดหลักเกณฑ์และราคาขึ้นมาเองโดยไม่มีใครเข้าไปกำกับดูแล เช่น อัตราที่จอดรถ อัตราค่าบริการ อัตราค่ารักษาพยาบาล อาคารชุด บ้านและที่ดิน เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการนำเสนอขายแต่ฝ่ายเดียว ซึ่ง สคบ.ต้องไปดูราคา ที่ผู้ประกอบการตั้งไว้ด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เป็น 3 แนวทางที่ท่านรัฐมนตรีกำหนดไว้


ส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 3 จะเป็นการทำงานของ สคบ.ในเชิงรับ ซึ่งมี 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ สคบ. เพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้มากขึ้น มีการประสานความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ รัฐ และประชาชน ให้เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียนได้ เช่น การร่วมมือกับ 7-ELEVEN โดย สคบ.ได้นำใบคำร้องใส่ซองจดหมาย ติดแสตมป์ และจ่าหน้าซองถึง สคบ. ฝากไว้ที่ 7-ELEVEN เพื่อให้ผู้บริโภคมารับใบคำร้องแล้วนำกลับไปเขียนที่บ้านและส่งเรื่องร้องทุกข์ถึง สคบ.ได้โดยสะดวก 2.เรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนมาต้องได้รับการบริหารจัดการด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่ง สคบ.ได้เพิ่มช่องทางห้องเจรจาไกล่เกลี่ย ที่มีชื่อว่า ห้องเจรจาสมานฉันท์ ขึ้น ช่วยในการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายให้สามารถตกลงกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปฟ้องร้องกันซึ่งต้องใช้เวลานาน และผลอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เสียทั้งเวลาและความรู้สึก ส่วน 3.ให้ สคบ.ดูแลเรื่องจนเสร็จสิ้นให้เป็นที่พอใจของผู้บริโภค โดย สคบ.จะไม่คุ้มครองผู้บริโภคแบบตามอำเภอใจ คำว่าตามอำเภอใจถ้ามีการเจรจาไกล่เกลี่ย มีการชดเชยความเสียหายที่เห็นว่าเหมาะสมแล้วผู้บริโภคยังไม่พอใจ จะให้ผู้บริโภคไปใช้สิทธิ์ทางศาลด้วยตัวเอง


ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การทำงานของ สคบ.ในเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ สคบ.จะดำเนินการใน 3 เรื่องคือ 1.การประชาสัมพันธ์การรับรู้สิทธิ์ผู้บริโภคให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง โดยขอความร่วมมือกับภาครัฐอื่นๆ รวมทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เน้นการสร้างความตระหนักในสิทธิ์ของผู้บริโภคให้มากขึ้น 2.ให้ สคบ.สร้างและขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว มีเครือข่ายจิตอาสาคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในส่วนของสถานศึกษา และภาคประชาชน โดยมีการมอบใบประกาศ มอบบัตรประจำตัวในฐานะที่มีจิตอาสาเป็นสมาชิกอาสาคุ้มครองผู้บริโภค 3.สร้างความพร้อมขององค์กรในการเฝ้าระวังสินค้า เนื่องจากประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ความเห็นว่าควรมีการดำเนินการก่อนที่จะมีการร้องเรียน ทาง สคบ.จึงจัดจ้างบริษัทให้สำรวจการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้ประกอบการในแต่ละประเภท เป็นการสำรวจเพื่อเฝ้าระวังก่อนมีปัญหา หลังจากการสำรวจหากพบผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทาง สคบ.จะมีมาตรการทางกฎหมายกำกับทันที


มาถึงการเตรียมความพร้อมของ สคบ.ในการเข้าสู่อาเซียนในปี พ.ศ.2558 เรื่องนี้เลขาธิการ สคบ.บอกว่า ได้เตรียมพร้อมในเรื่องการดำเนินการแบบบูรณาการ การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคด้วยการมอบตราสัญลักษณ์ สคบ.ให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการครบองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ คือ 1.เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 2.เป็นผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมายอื่นๆ 3.เป็นผู้ประกอบการที่แสดงเจตนาในการเยียวยาความเสียหายให้ผู้บริโภคอย่างรวดเร็วถูกต้องและเหมาะสม


นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมพร้อมในการเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีกำหนดมาตรฐานบังคับ 2.กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีส่วนผสมสารอันตราย ซึ่งที่ผ่านมามีการนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็งมาจำหน่าย เช่น เสื้อผ้าผสมสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่โรงพยาบาลใช้ดองศพ หากนำมาเป็นส่วนผสมในเสื้อผ้าอาจทำให้ผู้สวมใส่เป็นมะเร็งได้ 3.กลุ่มสินค้าที่อันตรายสำหรับเด็ก เช่น ขวดนม ของเล่นเด็ก ฯลฯ ซึ่งทาง สคบ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ซึ่งท่านเคยเป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รู้ภารกิจของ สคบ.ดี จึงให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ MOU กับ สคบ. โดย สคบ.มีหน้าที่สำรวจสินค้าที่ไม่ปลอดภัยส่งให้กรมวิทยาศาสตร์บริการทำการพิสูจน์ตรวจสอบ หากพบว่ามีสารอันตรายเจือปน สคบ.จะมีอำนาจสั่งห้ามจำหน่ายตามNของตนเองในฐานะผู้บริโภค ส่วนหน้าที่ในการคุ้มครองเรียกร้องสิทธิ์ เป็นการทำงานของ สคบ. ที่ไหนมีคนที่นั่นมี สคบ. อาจจะเห็นว่า สคบ.ยุ่งไปทุกเรื่อง แต่ถ้าทุกเรื่องเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค สนองนโยบายรัฐบาล ทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ สคบ.พร้อมในการตรวจสอบ เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ในฐานะหน่วยงานกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค




Credit By :banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น