![]() |
สคบ.สั่งล้างบางบริษัทขายตรงร้าง มีชื่อ แต่หยุดดำเนินธุรกิจไปแล้ว ระบุตั้งแต่ปี 2545 ถึง 30 ก.ย. 2555 มีบริษัทขายตรงยื่นจดทะเบียน 852 บริษัทไปแล้ว แต่ทำธุรกิจจริงเพียงแค่ 180 บริษัทและอีก 15 บริษัทยื่นขอปิดกิจการ ส่วนที่เหลือกว่า 600 บริษัทยังลูกผีลูกคน เพราะไม่แจ้งงบการเงินมานาน เตรียมประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ขีดเส้นตายให้มารายงานตัว หากไม่มายื่นถอนใบอนุญาตทันที พร้อมคุมเข้มผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนหากไม่ตรงกับที่แจ้งสั่งถอนใบอนุญาตทันที หวั่นกลายพันธ์ ด้านจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาฯ สคบ. เร่งอุดช่องโหว่ พร้อมรื้อกฎหมายใหม่หวังหนุนธุรกิจขายตรงไทยบุกตลาด AEC แนะเอกชนไทยหันหน้าเข้าหากัน รวมเป็นหนึ่งปักธงต่างประเทศ
นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้สัมภาษณ์ภายในงานอบรมมาตรฐานวิชาชีพขายตรงครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) ว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2545 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2555 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการขายตรงที่จดทะเบียนไว้กับสคบ. จำนวน 852 บริษัท แต่จากการสำรวจ และตรวจสอบของ สคบ.พบว่า มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเพียง 180 บริษัทเท่านั้นและในจำนวน 180 บริษัทมี 15 บริษัทได้แจ้งความจำนงขอยกเลิกดำเนินธุรกิจ ส่วนผู้ประกอบการที่เหลืออีกกว่า 600 บริษัท ไม่มีความเคลื่อนไหวและไม่ส่งงบการเงิน
ทั้งนี้บริษัทผู้ประกอบการที่เหลือจดทะเบียนไว้กับ สคบ. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งไปดำเนินการว่าบริษัทเหล่านี้มีความประสงค์ที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปอีกหรือไม่หากไม่ดำเนินธุรกิจต่อไปอีกหรือไม่หากไม่ดำเนินธุรกิจต่อ ทาง สคบ. ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตโดยตรงสามารถถอดถอนใบอนุญาตได้ทันที โดยทางสคบ. จะมีการลงประกาสโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการดังกล่าวทราบ และให้ติดต่อกับทางสคบ. ภายในกี่วันๆ ซึ่งหากไม่มาแจ้งตามที่กำหนด ตะถือว่าผู้ประกอบการเหล่านี้มีความจำนงจะขอถอนการจดทะเบียนที่จดไว้กับสคบ.
หน้าที่ของสคบ. คือการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการไปทำธุรกิจตามคำขอ แต่เมื่อออกใบอนุญาตไปแล้ว แล้วไม่ได้ไปดำเนินธุรกิจตามที่ยื่นขอไว้ ซึ่งเข้าใจว่าท่านไม่มีเจตนาที่จะทำธุรกิจ ดังนั้น สคบ. ก็มีสิทธิ์ที่จะขอถอนใบอนุญาตคืน อย่างไรก็ตามตั้งแต่ที่ผมเข้ามารับตำแหน่งเลขาฯ สคบ. ได้จัดระเบียบขั้นตอนการออกใบอนุญาตใหม่ โดยผู้ประกอบการที่จะมายื่นขอใบอนุญาตจะต้องเข้ามาพบกับผมก่อน และตอบคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ 1.มาจดทะเบียนขายตรงเสียเงินมาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีข่าวการยื่นขอจดทะเบียนขายตรงต้องเสียเงินหลักแสนบาท 2. ธุรกิจที่ทำจำหน่ายสินค้าอะไร และ 3.การโฆษณาเพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริโภคอะไรบ้าง นายจิรชัย กล่าว และอธิบายต่ออีกว่า
การจัดระเบียบขั้นตอนการออกใบอนุญาตใหม่ 1. เพื่อเป็นการกลั่นกรองผู้ประกอบการที่มายื่นขอจดทะเบียน 2. หลังจากออกใบอนุญาตไปแล้วจะมีการติดตาม,ตรวจสอบและประมวลผลว่าธุรกิจที่ยื่นขออนุญาตไปแล้วนั้น มีการไปดำเนินธุรกิจจริงๆ หรือไม่ และได้มีการเพิ่มเติมสินค้าที่ยื่นแจ้งไว้กลับ สคบ. ตั้งแต่เริ่มต้นไว้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพอเราออกใบอนุญาตไปแล้ว กลับไม่ทำตามกับที่แจ้งไว้ และ 3. การปราบปรามสำหรับบริษัทที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายขายตรง
โดยล่าสุดได้เรียกผู้ประกอบการที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ผ่านช่องเคเบิ้ลทีวี ทำมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินความเป็นจริงจำนวน 30 บริษัท หลังจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทเหล่านี้มีการโฆษณาไม่เหมาะสม จึงได้เรียกบริษัทผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาชี้แจงก่อน อย่างไรก็ตามโฆษณาที่ สคบ. ดูตรวจสอบและพบว่าไม่เหมาะสมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพมากกกว่า 80 % ทั้งนี้หลังจากเรียกผู้ประกอบการดังกล่าวเข้ามาชี้แจง หากพบว่าโฆษณาดังกล่าวไม่เหมาะสมจริง ก็จะดำเนินการไปตามขั้นตอน ได้แก่สั่งให้ระงับการโฆษณาก่อน หากยังฝ่าฝืนก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที
นายจิรชัย กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมธุรกิจ ขายตรงเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า สิ่งที่สคบ. จะต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ประการแรก การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายขายตรงที่ประกาศใช้มานานถึง 10 ปีแล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจขายตรงได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้นจึงเห็นควรที่จะทำการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคนักธุรกิจ และนักวิชาการแล้ว จากนั้นจะมาพิจารณาปรับปรุง แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงแนวทางของกฎหมายเดิมอย่างไร ประการที่สองอยากให้ผู้ประกอบการและภาครัฐทำงานร่วมมือกันในการที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจนี้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
เนื่องจากเหลืออีกเพียง 700 กว่าวันจะปิด AEC โดยในภาครัฐซึ่งสคบ. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และผู้ประกอบการอยากเห็นความร่วมมือกันของภาคผู้ประกอบการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขายตรงจะต้องมาผนึกกำลังกันเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจขายตรงของไทย และประการที่สาม ในการกำกับดูแลธุรกิจขายตรงโดยกรอบกฏหมายของสคบ.หรือเจ้าหน้าที่ของสคบ. ที่มีขีดจำกัดตามกรอบของราชการทั้งจำนวนบุคลากร และงบประมาณก็ดี ดังนั้นอยากเห็นธุรกิจขายตรงเป็นเหมือนกับคปภ.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)ที่ภาคผู้ประกอบธุรกิจจะดูแลกันเองโดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง
สำหรับโครงการเครื่องหมายสัญลักษณ์สคบ.หรือตราสคบ. นั้น นายจิรชัย กล่าวว่า หลังจากได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐทนตรีที่กำกับดูแลสคบ.โดยตรง ซึ่งท่านก็เห็นด้วยกับแนวคิดของโครงการดังกล่าว เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคแบบชัดเจนและท่านเองก็ได้แนะนำให้ไปปรับปรุงในเรื่องของการการันตี เรื่องของการทำประกันว่าจะดำเนินการอย่างไรซึ่งส่วนตัวได้นำเรียนท่านรัฐมนตรีไปว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการในธุรกิจขายตรงเห็นด้วยแล้วว่าควรที่จะมีทางออก 3 ทาง ได้แก่ 1. การให้ธนาคารค้ำประกันตามวงเงินตามความเสี่ยงที่มีอยู่ 2. การตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา เช่น การให้บริษัทสมาชิกของสมาคมฯ นำเงินมาลงขันในนามของกองทุน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม และ 3.การทำประกัน ซึ่งแนวทางในการดำเนินการดังกล่าวขึ้นอยู่กับการบริหารความเสี่ยงของแต่ละบริษัท โดยสคบ. จะไม่เข้าไปกำหนดว่าจะต้องเป็นยอดตัวเลขเท่าไหร่ แต่จะดูตามความเหมาะสมของผู้ประกอบการเป็นหลัก
โครงการตราสัญลักษณ์สคบ. ดังกล่าวขณะนี้สคบ.ได้เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการขายตรงยื่นความจำนงเข้ามา เพื่อขอใช้สิทธ์ในการขอตราสัญลักษณ์สคบ.ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นขอเพียงเลือกเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งก็ได้อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าโครงการตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ในการออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะในฐานะที่สคบ.ดูแลผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
นอกจากผู้ประกอบการที่สามารถเลือกได้ว่าจะทำเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว สคบ.ยังเปิดโอกาสให้กับบริษัทขายตรงที่ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ เพียงแค่เข้าเงื่อนไขบางอย่างอีก 3 ข้อ ได้แก่ จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายสคบ. ถูกต้องตามกฎหมายอื่น และมีการเยียวยาความเสียหายผู้บริโภคชัดเจน ทางสคบ.จะรับพิจารณาทันที จากนั้นจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองในแต่ละเรื่องอีกครั้งเท่านี้ก็สามารถรับมอบตราสัญลักษณ์ ได้เลย
ส่วนนโยบายการผลักดันธุรกิจขายตรงไทยในการขยายตลาดออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียนนั้น
นายจิรชัยกล่าวว่า หลังจากได้พูดคุยกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในการผลักดัน และสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงไทย ก้าวไปสู่ในระดับอาเซียนถือว่ามีทิศทางที่ดี โดยจะประสานความร่วมมือกันกับทางสำนักเลขาธิการอาเซียนอีกครั้งซึ่งในแต่ละปีกลุ่มประเทศในแถบอาเซียนจะมีการประชุมกันปีละ 2 ครั้ง โดยการประชุมในครั้งหน้าจะประชุมกันที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำเรื่องของปัญหา และการผลักธุรกิจขายตรงนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนด้วย
นอกจากนี้ ในนามสคบ. ประเทศไทยยังมีแนวคิดที่จะผลักดันธุรกิจขายตรงออกไปยังภูมิภาคอาเซียนเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีภาครัฐของประเทศใดในภูมิภาคนี้แสดงความจำนงเข้ามาเป็นตัวกลางในการขยายธุรกิจขายตรงอย่างจริงๆ จังๆ ดังนั้นสคบ. ไทยจึงถือเป็นประเทศแรกที่มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจขายตรงในภูมิภาคนี้อย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านี้สคบ.ไทยได้หารือกับทางสำนักเลขาธิการอาเซียน ในหารผลักดันธุรกิจขายตรงให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีบางประเทศที่ตั้งกำแพงเงื่อนไขปลีกย่อย และมีกฎหมายกีดกันในหลายๆ เรื่อง เช่น ในลาว , พม่า และมาเลเซีย ดังนั้นจึงอยากเห็นผู้ประกอบการไทยผนึกกำลังกันเพราะสคบ. พร้อมจะให้การสนับสนุนเต็มที่.
การรวมกลุ่มผู้ประกอบการขายตรงไทย เพื่อออกไปยังตลาดอาเซียนโดยหลักการแล้วอยากให้ผู้ประกอบการไทยรวมกลุ่มกันเป็นปึกแผ่นเดียวกันในนาม ขายตรงไทย จะมาใช่ไปในนามของสมาคมใดสมาคมหนึ่ง เพราะจะเป็นการเลือกที่รักทักที่ชัง ซึ่งที่ผ่านมาทางสคบ.ได้โยนหินถามทางไปบ้างแล้ว มีบางสมาคมก็เห็นด้วย แต่มีข้อแม้บางส่วน ซึ่งข้อแม้ดังกล่าวต้องมาพูดคุยกันว่าจะเข้มกันอย่างไร ไม่ใช่ตั้งกำแพงไว้สูงเกินไป เพราะเราคงไม่เอาเรื่องส่วนตัวเองมากัน แต่จะมองเรื่องของสังคมเป็นหลัก ทั้งนี้ทางสคบ. จะเป็นคนคอยประสานระหว่างผู้ประกอบการ และสมาคมต่างๆ ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยอาจจะเรียนเชิญท่านรัฐมนตรีฯ มาเป็นประธานในการกำหนดกรอบนโยบายร่วมกัน ซึ่งทางท่านรัฐมนตรีฯ ก็เห็นด้วย แต่อยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างสมาคมกันอีกทีก่อน อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าการออกไปตลาดต่างประเทศไม่จำเป็นต้องจัดตั้งเป็นสมาพันธ์ หรือเป็นองค์กรขายตรงไทย แต่ขอเพียงให้ทุกบริษัทรวมกลุ่มกันให้ได้มากกว่า
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย นสพLEADER TIME ปีที่ 10 ประจำวันที่16-31ธันวาคม 2555 ปักษ์หลัง ฉบับที่ 213
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น