ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

การเตรียมความพร้อม สู่ ประชาคมอาเซียน ของนักธุรกิจขายตรง









มาถึงวันนี้คงมีน้อยคนนักที่ยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ของเรากำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015 เพราะเรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องใหญ่และใกล้ตัวอย่างมาก การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะมีผลกระทบกับคนไทยและประชากรอาเซียนทุกเพศ ทุกวัยอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เช่น หลักสูตรการเรียนการสอนของไทยก็จะต้องมีการปรับตัวให้เป็นสากลและมีมาตรฐานเพื่อรองรับความเป็นอาเซียน นอกจากนี้การเดินทางติดต่อสื่อสารก็จะกระทำได้สะดวก รวดเร็ว ถนนหนทางจะแปรเปลี่ยนไปเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน พร้อมๆกับเส้นเขตแดนที่แบ่งเขตระหว่างชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็กำลังจะละลายจางหายไปพร้อมๆ กับการเดินทางข้ามประเทศอย่างเสรีของผู้คนในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารวดเร็วจนกระทั่งรองศาสตราจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข จากภาควิชาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า มันจะเร็วจนแทบไม่ต้องพูดถึงการรวมตัวของอาเซียนแล้ว แต่ควรจะเป็นการพูดถึง โลกภายหลังการรวมประชาคมอาเซียน (Post ASEAN Community) มากกว่า


ประชาคมอาเซียน เป็นการรวมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศเข้าเป็นหนึ่งเดียวหรือประชาคมเดียว แม้จะยังไม่อาจเทียบได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่มีประวัติยาวนานกว่าอาเซียนมากนักและกลายเป็นสหภาพที่อยู่ เหนือชาติ (Supranational trait) เกือบจะสมบูรณ์แล้ว แต่ประชาคมอาเซียนก็มีแนวทางที่คล้ายคลึงกับสหภาพยุโรป คือมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพ สันติสุขและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อให้ดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีกลไกทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีความขัดแย้งบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชาที่อาเซียนพยายามใช้แนวทางสันติในการแก้ปัญหา รวมทั้งไทยและกัมพูชาเองต่างก็ยืนยันตรงกันว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของทั้งสองประเทศ


ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งด้านความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนจะไม่ถูกนำไปผูกโยงกับความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ เช่นความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมกลับจะเป็นสิ่งเชื่อมโยงและนำมาซึ่งข้อยุติของความขัดแย้งด้านความมั่นคงอย่างสันติวิธี ทั้งนี้เพราะการรวมประชาคมอาเซียนนั้นประเทศสมาชิกจะต้องมีพันธสัญญาร่วมกันในการมีกฎเกณฑ์และค่านิยมที่เหมือนกัน


ความสำคัญของประชาคมอาเซียนก็คือประชาคมนี้จะเป็นการรวมกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ ทั้งสามด้านคือ ด้านการเมืองและการทหาร ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรมหรือที่เรียกกันว่า สามเสาหลัก (Pillars) เข้าด้วยกัน ส่งผลให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่ประกอบด้วย


1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEN Political Security Community - APSC)


2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) และ


3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio Cultural Community - ASCC)


ในปัจจุบันประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ต่างให้ความสำคัญกับการรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นอย่างมากเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม แตกต่างจากด้านการเมืองความมั่นคงและสังคมวัฒนธรรมที่ดูจะเป็นเรื่องของนามธรรม ที่ไกลตัวและจับต้องได้ยาก ดังจะเห็นได้จากนักธุรกิจส่วนหนึ่งได้เดินทางไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ เพื่อขยายฐานความร่วมมือหรือหาแหล่งลงทุนใหม่ในการทำธุรกิจของตน


ธุรกิจ ขายตรง ก็เช่นเดียวกันที่มีโอกาสขยายตัวอย่างมากเมื่อมีการรวมตัวในรูปของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเดินทางของสินค้า การลงทุนและโอกาสของธุรกิจจะเกิดขึ้นอย่างเสรีเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ตลาดและจำนวนผู้บริโภคจะขยายตัวจาก 60 ล้านคนในประเทศไทยเป็น 600 ล้านคนในกลุ่มประเทศอาเซียน อาจกล่าวได้ว่านักธุรกิจขายตรงจะมีพื้นที่รองรับสำหรับการลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ พร้อมๆ กับการขยายโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆเช่นเดียวกัน


ดังนั้นเมื่อโอกาสอันยิ่งใหญ่กำลังจะมาถึง นักธุรกิจขายตรงหลายคนจึงเริ่มหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจของตนเข้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียน แต่เพราะการลงทุนในลักษณะนี้มีความซับซ้อนและจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบเพิ่มขึ้นกว่าปัจจัยทั่วไปที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากธุรกิจขายตรงจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ต่างก็กำลังจับจ้องโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้เช่นเดียวกัน


ความซับซ้อนที่นักธุรกิจจะต้องเตรียมการรับมือก็คือ เงื่อนไขด้านภาษาอังกฤษ เพราะภาษาต่างประเทศต่างๆ ในอาเวียนล้วนมีขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน ตัวนักธุรกิจเองต้องพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษของตนซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควร หากในช่วงแรกจำเป็นต้องขยายฐานเข้าไปในประเทศใกล้เคียง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สามารถกระทำได้คือการรวมกลุ่มนักธุรกิจหลายคนเข้าด้วยกันรวมทั้งเตรียมทีมงานที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษซึ่งจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนล่ามให้กับกลุ่มอย่างน้อยหนึ่งคน บุคคลนี้ควรมีความเข้าใจธรรมชาติ และรูปแบบของธุรกิจดีพอสมควร เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของธุรกิจ.


นอกจากเงื่อนไขด้านภาษาแล้ว นักธุรกิจยังต้องศึกษาเงื่อนไขด้านกฎหมายของประเทศที่จะไปลงทุน เช่นกฎหมายการค้าและการลงทุน อัตราภาษีและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินสินค้าอย่างละเอียด อีกทั้งยังต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณของธุรกิจอย่างเคร่งครัด ไม่เอารัดเอาเปรียบ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายหรือข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ที่สำคัญคือนักธุรกิจควรศึกษาผลได้และผลเสียตลอดจนความคุ้มค่าในการลงทุนประเทศใหม่ๆ ว่ามีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด เพราะตลาดนับวันจะมีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนบางครั้งการขยายฐานธุรกิจในประเทศใหม่อาจไม่คุ้มค่าเท่ากับการขยายธุรกิจในประเทศก็เป็นได้


อย่างไรก็ตามไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นับเป็นโอกาสทองของนักธุรกิจขายตรงในการขยายฐานการลงทุนไปยังประเทศใหม่ๆ ที่กำลังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น เมียนม่าร์ ลาวและกัมพูชา เป็นต้น ดังนั้นหากมีการเตรียมตัวที่ดีและมีการศึกษารายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว ความสำเร็จของการเป็นนักธุรกิจระดับประเทศดังที่หลายคนใฝ่ฝันก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย นสพธุรกิจเครือข่าย ประจำวันที่16-31มกราคม 2556 ฉบับที่ 244

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น