ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"มือปราบแชร์ลูกโซ่" ถอดใจ "พ.อ.ปิยะวัฒก์" ลาออกเหตุถูกลดขั้น


ปิดฉาก มือปราบแชร์ลูกโซ่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ตำรวจตงฉิน แห่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ประกาศเกษียณตนเองด้วยการเออร์ลี่ รีไทร์ ตามกฎกติการาชการก่อนอายุเกษียณจริง 2 ปี เหตุ ทนไม่ได้ โดนโยกย้ายบ่อย แถมถูกลดขั้นกลับไปเป็น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ชี้นั่งตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กว่า 4 ปี ทำทุกคดีด้วยความ ชอบธรรม ไม่หวั่นอิทธิพลมืด ส่วนอนาคตหวังผันตัวเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย สร้างอนาคตชาติให้มีจริยธรรม ยึดความถูกต้องเป็นหลัก

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้เปิดใจหลังการเกษียณตัวเอง ว่า เหตุที่ตนเองได้ทำการเออร์ลี่ รีไทร์ ตนเองก่อนถึงอายุเกษียณราชการจริง ก็เป็นผลมาจากความรู้สึกไม่เป็นธรรมส่วนตัว ซึ่งทางกรม สอบสวนคดีพิเศษ ปรับเคลื่อนย้ายตำแหน่งตนเองหลายครั้ง จนล่าสุดก่อนที่จะมีการตัดสินใจเกษียณตัวเองในครั้งนี้ ก็ถูกลดตำแหน่ง ลงไปเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมที่ตนเคยรับอยู่เมื่อปี 47 ก่อนได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการ จากเหตุนี้เป็นเรื่องที่ตนยอมรับ ไม่ได้ ทั้งที่ความน่าจะเป็นควรที่จะได้เลื่อนตำแหน่ง เพราะผลงานที่ตนทำ

การที่ต้องถูกลดตำแหน่ง โดยที่ไม่มี ความผิดเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับ ทำให้ต้อง ขอรีไทร์ตัวเองออกจากงานราชการที่ตนเอง รัก ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการปรับผังครั้งก่อนเมื่อปี 54 ตนก็ถูกโยกให้ไปทำคดีเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ต่อมาก็ถูกลดขั้น ก่อนที่จะได้กลับมาที่ตำแหน่งเดิม อีก ครั้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่สร้างความน้อยใจ ให้ตนเอง ถึงแม้สุดท้ายแล้วจะได้รับตำแหน่ง เดิมกลับมาก็ตาม ตนก็จึงขอรีไทร์ตัวเองก่อน ครบอายุราชการ 2 ปี ตามกฎ ปิยะวัฒก์ กล่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ที่ได้เข้ามานั่งเป็นผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ปิยะวัฒก์ ทำคดีที่ผิดเกี่ยวกับพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินกว่า 30 คดี โดยทำการส่งเรื่องสอบสวนขึ้นศาล ประมาณ 27 คดี และทำคดีเอง อีกประมาณ 2-3 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวกับ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่มากมาย ซึ่งมีคดีใหญ่ที่ พ.อ. ปิยะวัฒก์ ทำมากมายหลายคดีเช่น คดีแชร์ก๋วยเตี๋ยว คดีแชร์น้ำมัน คดีแชร์ยางพารา ซึ่งในทุกคดีที่กล่าวมา มีมูลค่าความเสียหายรวมกันก็มากกว่าพันล้านบาท โดยคดีสุดท้ายที่ มือปราบแชร์ลูกโซ่ ได้ทำคือ เรื่องของ บริษัท ปูแดงฯ ซึ่งกลายเป็นข่าวโด่งดังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในการคดีแต่ละครั้ง พ.อ.ปิยะวัฒก์ ได้เผยถึงขั้นตอนการทำงานว่า ทางหน่วยงานของตนจะเริ่มตั้งแต่สืบหาต้นสายปลายเหตุ หาพยานหลักฐานต่างที่จะเอาผิด โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐหลักอย่าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. แล้วนำเรื่องแผนงานของบริษัทนั้นๆมาวิเคราะห์หาความผิด ใช้พยานหลักฐานในการดำเนินคดี

การทำงานแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นคดีอะไร พ.อ.ปิยะวัฒก์ มักจะต้องต่อสู้กับอำนาจอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจในพื้นที่นั้นๆ หรือ แม้กระทั่งอำนาจทางการเมือง ซึ่งทำให้ตนและทีม ต้องประสบอุปสรรค หลายอย่างที่เรียกว่า ตอ ซึ่งหากคดีใดไม่มีอำนาจเหล่านี้คดีนั้นก็จะไหลลื่น สามารถ ยื่นฟ้องได้ตามข้อกฎหมาย แต่หากเจออำนาจมืดต่างๆ ความล่าช้า และอุปสรรคในการทำงานก็จะถาโถมเข้ามา

ทุกคดีที่ตนเองทำ ตนมีความมั่นใจในทุกคดีว่า คดีนั้นๆ เป็นคดีที่ผู้กระทำมีความผิดจริง เนื่องจากก่อนที่จะเข้าจับกุม หรือแจ้งข้อกล่าวหา ตนและทีมงานจะใช้เวลาในการหาพยานหลักฐานอย่างรัดกุม ก่อนที่จะดำเนินการ ซึ่งบางคดีใช้เวลากว่า 1 ปี ก่อนที่จะแจ้งข้อกล่าวหาได้ อีกทั้งในทุกครั้งการเข้าดำเนินคดี ทีมของตนจะมีการ ใช้อำนาจศาลขอหมายค้น หมายจับจากศาล ก่อนเสมอ นี่จึงเป็นสิ่งที่ตนยิ่งมั่นใจว่า ทุกคดี ที่ตนและทีมงานฟ้องร้องดำเนินคดีไปนั้น เอาผิดได้จริง อดีตมือปราบแชร์ลูกโซ่ กล่าวถึงการทำงาน

อย่างไรก็ตาม จากการทำงานในตำแหน่งผู้บัญชาการคดีพิเศษมานานหลาย ปี คดีที่สร้างความหนักใจให้กับ พ.อ.ปิยะวัฒก์ มากที่สุด ก็เป็นคดี แชร์น้ำมัน และ ปูแดง ซึ่งเกิดความวุ่นวายมากมายในช่วงปีนั้น นอกจากนี้ ทาง พ.อ.ปิยะวัฒก์ ยังได้เอ่ยถึงกฎหมายขายตรงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่า ในเรื่องของพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรงที่ใช้อยู่ยังมีปัญหาในเรื่องของโทษ ในการดำเนินคดี เนื่องจากโทษที่กำหนดอยู่นั้นดูจะเบาเกินไป ทำให้ผู้ที่กระทำผิด ไม่กลัว หลังจากพ้นโทษก็จะทำใหม่ อีกทั้งควรมีกฎหมายแม่ที่ชัดเจน และควรมีกฎหมาย ลูกเพื่อให้เกิดความรัดกุม ปิดช่องโหว่ของกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของแผน การจ่าย อีกทั้ง ในส่วนของรัฐโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีเจ้าพนักงานน้อย ดูแลธุรกิจไม่ทั่วถึง ซึ่ง ตรงนี้ก็ทำให้เกิดจุดอ่อน บรรดาขี้ฉ้อหาช่อง ทางโกงได้ง่าย

ทั้งนี้ หลังจากการเออร์ลี่ รีไทร์ ของ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตนายทหารผู้นี้ได้วางอนาคตต่อไปที่จะเป็นอาจารย์สอน เรื่องกฎหมายให้กับทางมหาวิทยาลัยต่อไป โดยหวังที่จะปลูกฝังในเรื่องของจริยธรรม และ ความถูกต้อง เพื่อสร้างอนาคตของชาติต่อไป

อนึ่ง ก่อนที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ จะเข้ามาเป็นผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ประจำ DSI นายทหารผู้นี้ เริ่มต้นชีวิตราชการด้วยการอยู่ศาลทหารตำแหน่ง อัยการผู้ช่วยศาลทหารกรุงเทพ สำนักงานอัยการทหาร หลังจากนั้นก็ขยับตำแหน่งเป็น ตุลาการพระธรรมนูญ ในศาลทหารต่างๆ เช่น ตุลาการพระธรรมนูญศาลมณฑล ทหารบกที่ 12 (จังหวัดปราจีนบุรี), ตุลาการ พระธรรมนูญศาลมณฑลทหารบกที่ 14 (จังหวัดชลบุรี), ตุลาการพระธรรมนูญฝ่ายศาลทหารกรุงเทพ, ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าคณะฝ่ายศาลทหารกรุงเทพ และล่าสุดก่อนโอนย้ายมากระทรวงยุติธรรมคือ ตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญรองหัวหน้า ศาลทหารกรุงเทพ

หลังการโอนย้ายเข้ารับการเป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดกระทรวงยุติธรรม ก็ได้บรรจุในตำแหน่ง พนักงานสอบสวนคดี พิเศษ 8 ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มงานคดีความเห็นแย้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2547 และอีกไม่กี่เดือน ต่อมา พ.อ.ปิยะวัฒก์ ก็ได้รับการแต่งตั้งขยับหน้าที่ขึ้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 9 ชช.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 กระทั่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 ก็ได้รับความไว้วาง ใจขยับให้ขึ้นรับตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ก่อนที่จะถูกโยกย้ายและลดตำแหน่งกลับไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งกลายเป็นชนวนหลักที่ทำให้นายทหารผู้นี้ต้องเกษียณตัวเอง ถึงแม้ล่าสุด จะมีการคืนตำแหน่งสูงสุดให้ก็ตาม


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ.สยามธุรกิจ ฉบับที่ 1342 ประจำวันที่ 10-10-2012 ถึง12-10-2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น