ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ : โบกมืออำลาสื่อ เออรี่ก่อนเกษียณ - ปิดฉากมือปราบฯ ขายตรง


ปิยะวัฒก์ เปิดใจแถลงสื่อขายตรง 4 ปีที่ทำงานหนัก ในบทบาทมือปราบแชร์ลูกโซ่ขายตรง...เส้นทางก่อนเกษียณราชการไม่สวยหรูนัก หลังโดนย้ายข้ามฟากยังโดนรังแก ถูกปรับตำแหน่งลดต่ำกว่าเดิม...ยืนหยัดสู้ยื่น กพ.ร้องขอความเป็นธรรม สุดท้ายชนะคดีกลับสู่ตำแหน่งเดิม ก่อนเออรี่รีไทร์ตัวเองไปอย่างเงียบ ๆ...ล่าสุด รับบทอาจารย์สอนพิเศษมหาลัยรัฐ & เอกชน

ถูกตั้งฉายาเป็นมือปราบแชร์ลูกโซ่กับการทำงานในช่วงที่ผ่านมากับวงการขายตรง พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตมือปราบฯ ขายตรงเลื่องชื่อ ได้เปิดใจแถลงผ่านสื่อในวงการขายตรงว่า จริง ๆ แล้ว ภาพรวมของธุรกิจขายตรงมองว่า เป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการหรือมีรายได้ให้กับประเทศชาติค่อนข้างมากในแต่ละปี จากผลประกอบการเท่าที่ได้มีการติดตามมา ซึ่งตอนนี้ก็มีความแน่นอนครับว่า มันจะมีบริษัทที่ทำธุรกิจนี้แล้วสู้บริษัทขายตรงที่มีชื่อเสียงและมีสินค้าดีไม่ได้ จึงมองหาวิธีการทำอย่างไรให้ดึงคนเข้ามาสู่ระบบขายตรงมากขึ้น ซึ่งมันก็เลยเกิดการผิดเพี้ยนไปบ้างกับแผนการตลาดที่เคยเสนอไว้กับทาง สคบ. ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแผนงานที่ได้รับอนุญาตจาก สคบ.จึงได้มีการร้องเข้ามาสืบสวนและดำเนินคดี แต่หากถามว่า มีมากไหมในช่วงที่ตนเองอยู่ มันก็มีเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบทั้งหมด
ส่วนกรณีที่เราปราบแชร์ลูกโซ่ อาจจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับในเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าให้มองตรงนี้ถือว่าเป็นธรรมดาของผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งหากมีการทำผิด ในรูปแบบของการทำงานจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ กับการดำเนินคดีแจ้งข้อหา ในการออกหมายค้น หมายจับ เราไม่ได้จับแบบไม่มีหลักฐาน ถึงแม้ว่าเราจะมีอำนาจค้นได้แต่ถ้าไม่มีหมายค้นจริงผมไม่เคยทำเลย ซึ่งการจับจะต้องมีหมายค้นตลอดเวลา ซึ่งอย่างน้อย ๆ ก็ให้ศาลเข้ามากลั่นกรองอีกทีว่า เรามีเหตุสมควรที่จะออกหมายจับหรือไม่ อย่างไร และเมื่อได้รับหมายแล้ว เราจะดำเนินการตามหมายตรงนี้ คือ แนวทางในการปฏิบัติที่ยึดถือมาโดยตลอด

สังเกตได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นคดีอะไรก็สามารถผ่านพ้นไปได้โดยตลอด ซึ่งไม่มีการชะงักหรือติดขัดแต่อย่างใด ตรงนี้ก็ไม่มีอะไรที่อยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีกลุ่มอำนาจอยู่ในเบื้องหลัง มักที่จะเจอปัญหาสะดุดติดขัด อะไรหลาย ๆ อย่างตั้งแต่ คดีแชร์ยางพารา ที่ขอนแก่นเราฟ้องศาลลงโทษจำคุก แต่พอมาที่กระบี่ก็เจอปัญหา ทั้งที่พฤติกรรมต่าง ๆ นั้นเหมือนกันหมดเลย ซึ่งที่กระบี่เรียกว่า เสียหายค่อนข้างเยอะ ก็ได้มีโอกาสไปบรรยายร่วมกับทาง สคบ. ทางข้าราชการครู และอาจารย์หลาย ๆ ท่าน เขาก็บอกว่า ดีใจที่เราไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้ โดยที่ขอนแก่นนั้นมีผู้เสียหาย 800 กว่าคน แต่ว่าที่กระบี่มีผู้เสียหาย 1,000 กว่าคน โดยมูลค่าความเสียหายมากกว่า 200 ล้านต่อเคส กรณีนี้ก็ถือว่าเป็นเคสใหญ่ทีเดียว

และยิ่งมีนักขายเมืองที่หนุนหลังเข้ามาตรงนี้ ต้องยอมรับว่าค่อนข้างทำงานยาก โดยส่วนของพนักงานสอบสวน จะพยายามเน้นทุกคนว่า การทำงานขอให้ทำอย่างถูกต้องชัดเจน ซื่อสัตย์ สุจริต คือทุกอย่างต้องว่ากันด้วยหลักฐาน ซึ่งถือว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับคดีที่ทำมาหนักใจมากที่สุด จะเป็นในส่วนของคดีปูแดง ที่ถือเป็นคดีสุดท้าย แต่ก่อนหน้านี้ก็มีคดีน้ำมันธุรกิจที่ชักชวนให้คนเอาเงินไปลงทุน แล้วก็ซื้อน้ำมันเก็งกำไรในตลาดต่างประเทศ ตรงนั้นถือว่าเป็นคดีที่สร้างความเสียหายค่อนข้างมากเหมือนกัน
โดยในเรื่องของการทำขายตรงนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากทาง สคบ.แต่พอเป็นสินค้า 3 ตัว คือ น้ำมัน ทองคำ และดัชนีเงินตรา ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับสินค้าเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ส่วนกรณีที่ดีเอสไอจะเข้ามาดูแชร์ลูกโซ่ได้จะต้องมีวงเงินค่าเสียหายเท่าไหร่นั้น ซึ่งหลังจากพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษใช้บังคับเมื่อปี 2547 ก็มีการกำหนดรายละเอียดของคดีว่า ควรที่จะรับเป็นคดีพิเศษอย่างไรบ้าง ซึ่งก็จะถือเป็นเรื่องของจำนวนผู้เสียหาย เรื่องของมูลค่าความเสียหาย เรื่องของบทมาตรการลงโทษ เป็นต้น

แต่ในส่วนของพระราชบัญญัติฉ้อโกงกู้ยืมเงินประชาชนนั้น จะกำหนดที่ผู้เสียหายตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป หรือมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย ก็เลยตัดเงื่อนไขตรงนี้ออกไป แต่จากนี้ไปไม่มีการกำหนดที่ผู้เสียหายตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป หรือมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่จะดูว่าคดีนี้ ถ้าหากเข้าข่ายก็สามารถเอาผิดได้เลย แต่ทั้งนี้ต้องดูประกอบการด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันนี้กลไกของแชร์ลูกโซ่ เมื่อเทียบกับอดีตมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะเริ่มมีการพัฒนาไป ทำให้ยากที่จะพิสูจน์ความจริงได้อย่างชัดเจน อย่างเช่น ความคิดในเรื่องของการจ่ายผลตอบแทนสูงเกินอัตราดอกเบี้ยที่ทางสถาบันการเงิน จะพึ่งจ่ายได้

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันยากขึ้นแล้ว โดยลักษณะรูปแบบของการพัฒนาในการดึงคนเข้ามาร่วมธุรกิจ ซึ่งหากถามว่ากฎหมาย ณ เวลานี้มันยังมีการพัฒนาไปไม่ได้ ถ้าจำได้กฎหมายมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ขายตรง จะห้ามในเรื่องของการดึงคนมาร่วมธุรกิจ โดยเสนอผลตอบแทนจากการหาสมาชิกเข้ามาร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่มีการโฆษณาว่า หาคนเข้ามาร่วมธุรกิจได้มาก คุณก็จะได้ผลตอบแทนมาก ซึ่งถือว่าขัดต่อกฎหมายขายตรงมาตรา 19 ซึ่งหากไปพูดเน้นโดยที่ไม่มีสินค้าด้วย ตรงนี้ยิ่งชัดเจน แต่ถ้ามีการขายสินค้า รวมถึงได้ค่าแนะนำมาด้วย ตรงนี้ถือว่ายากที่จะพิสูจน์ แต่ถ้ามีการเชิญเข้ามาไม่เน้นขาย แต่ได้ผลประโยชน์อย่างเดียว ตรงนี้จะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ทุกวันนี้ถือว่ายากต่อการพิสูจน์พอสมควร

ดีเอสไอ หรือ หน่วยปราบปรามฯ กับการที่ทำงานที่ผ่านมา เรามีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สคบ.ถือว่าเป็นหน่วยงานหน่วยแรกที่เราจะต้องทำงานร่วมกันเสมอ สมมติ ถ้ามีเรื่องเข้ามาร้องเรียนก็ต้องปรึกษาทาง สคบ.ก่อน ว่า บริษัทนี้ได้รับอนุญาตไหม เพราะว่ามีอยู่หลายคดี อย่างในกรณีเรื่องของการหลอกนักศึกษาเข้ามาทำงานบอกว่า งานดี เงินดี ปรากฏว่าเขาเอาป้ายไปติดใหญ่โต และบอกว่าบริษัทของเรานั้นได้รับเลือกจาก สคบ.แล้ว แต่พอเข้าไปดูเป็นเพียงหนังสือที่ขออนุญาตเท่านั้น ฉะนั้น เราจึงต้องมีการประสานก่อนว่า ได้รับอนุญาตจริงไหมและแผน การตลาดเขาเป็นอย่างไร

อีกหน่วยงานหนึ่งที่เราต้องประสาน นั่นก็คือ กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง โดยมีอำนาจวิเคราะห์การจ่ายผลตอบแทนว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลที่เพียงพอและสรุปสำนวนแล้ว เราจะมีข้อตกลงด้วยการแจ้งเรื่องให้กับทาง ปปง.เพื่อเป็นการตรวจสอบด้วย โดยจะทำหนังสือแจ้งไปให้ ปปง.เข้ามาตรวจสอบ ว่า มีข้อมูลหรือเส้นทางทางการเงินของผู้ถูกกล่าวหา หรือมีคนที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

กรณีมีเหตุต้องสงสัยให้ฟ้องผู้ต้องหาเป็นคดีล้มละลาย ไม่จำเป็นต้องไปที่ศาล บังคับฟ้องแค่เป็นผู้ต้องหาก็ดำเนินการได้แล้ว ถ้าสมมติคดีอาญาถึงที่สุด ศาลยกฟ้องก็จะมีการชดเชยเยียวยา เพราะมันมี พ.ร.บ.ค่าตอบแทน และค่าชดเชยผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญาที่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดูแลกฎหมายตัวนี้อยู่ เช่น ถ้าผู้ต้องหาถูกจับ ควบคุมขัง สมมติ 1 ปี 360 วัน เขาก็จะจ่ายค่าทดแทนให้วันละ 200 บาท 200 X 360 = ... ก็จ่ายไป อันนี้กระทรวงยุติธรรมได้ดูแลอยู่ ในเรื่องการเยียวยา ส่วนเรื่องการฟ้องล้มละลายเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องการเยียวยากับผู้เสียหายโดยเร็วที่สุด ณ ขณะนี้ค่อนข้างที่จะสอดคล้องกันหมด ถ้าผู้เสียหายไม่มาพบเราก่อนทำคดีศาลอาญา ผู้เสียหายสามารถไปร้องกลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบได้อีกช่วงหนึ่ง ตอนทำคดีล้มละลาย เพื่อใช้สิทธิ์ในเรื่องของการเฉลี่ยทรัพย์คืน

ผลจากการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 - 4 หน่วยงาน ที่กล่าวมามีเสถียรภาพมาก เพราะบางครั้งในหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยบังคับใช้กฎหมายอย่างเรา เช่น พรก.ก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจของเขาเอง ในฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเชิญผู้แทนบริษัทเข้าไปชี้แจงข้อมูลได้ ซึ่งในหลาย ๆ คดี เราก็ได้ทำข้อมูลร่วมกัน คือ เขาเชิญเราเข้าไปรับฟังการให้ถ้อยคำของบริษัทที่มีการร้องเข้ามาว่า ทำผิดกฎหมาย เราก็มีโอกาสเข้าไปฟังและช่วยสอบปากคำด้วย ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในช่วงต้น พอเขาได้หลักฐานแล้ว ถ้าเข้าข่ายผิดก็จะมีหมายส่งเรื่องร้องเรียนมาให้เราอีกที ถ้าหากเป็นเรื่องของน้ำมัน เงินตรา ทองคำ ก็จะมีอีกหน่วยงานที่เราต้องเข้าไปดำเนินการด้วยคือ กลต. ถ้าเป็นเรื่องของทางเกษตร ก็ต้องเข้าไปที่ กษร.จะมีหลายหน่วยงานที่จะบูรณาการทำงานร่วมกัน แต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง สคบ.ต้องวิเคราะห์ก่อนว่าบริษัทนี้ทำการขายผิดหรือไม่ ถ้าผิดจะเพิกถอนหรือไม่ แต่ถ้ายืนยันว่าผิดก็จะดำเนินการง่ายขึ้น แล้วรวบรวมหลักฐานขอศาลออกหมายหรือหมายค้น

การรวบรวมหลักฐาน อย่างแรกต้องเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้ โดยเฉพาะเวลาที่มีการบรรยายแผนการตลาด คนที่พูด ๆ ในลักษณะไหน ตรงตามแผนที่ได้รับอนุญาตจาก สคบ.หรือไม่ ดูว่าเน้นการขายสินค้าหรือเน้นการหาคนเข้ามาทำธุรกิจ เพราะการขายตรงรายได้หลักต้องมาจากการขายสินค้า แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่แอบแฝงก็จะเน้นเรื่องการดึงคนเข้ามา ถ้ามีการขายสินค้าจริง คนใช้จริง การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนก็อาจจะเกินอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัด ซึ่งจะยากต่อการตรวจสอบ แล้วดูต่อว่ามีการบังคับซื้อสินค้าหรือไม่ หรือไปดูเงื่อนไข พรบ.ขายตรงอีก เพราะหลักการขายตรงต้องเป็นผู้บริโภคที่แท้จริง ไม่ใช่ต้องการผลตอบแทนอย่างเดียวแต่ไม่ใช้สินค้า กรณีผู้นำหรือแม่ทีมขึ้นไปพูดต้องดูว่า เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้สามารถขึ้นบรรยายแผนของบริษัทได้หรือไม่

กรณีสินค้าแพงเกินจริง ก็จะมีกฎหมายตัวหนึ่ง สมมติ ขายสินค้าราคาแพงแล้วโฆษณาเกินจริงด้วย หรือสินค้าบางตัวที่ต้องผ่านการควบคุมของ อย.ก็จะมีอีกหน่วยงานหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง มาวินิจฉัยทำงานร่วมกัน ตอนนี้ในเรื่องของราคาสินค้า ค่าสมัคร เพราะกฎหมายบัญญัติออกมาหลายปี แต่ยังไม่มีการกำหนดว่า ค่าสมัครควรอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ บางบริษัทเก็บ 30, 100, 200 ไปถึง 2,000 บาท ก็มี

เราเคยทำการสัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษา ถึงความคิดเห็นทัศนคติต่อการทำธุรกิจขายตรง กลุ่มนักศึกษาบอกว่า แค่ชวนเพื่อน 2 คน ก็ได้เงินแล้ว 500 บาท ซึ่งไม่ต้องไปรบกวนพ่อแม่ ด้วยการหารายได้จากการทำธุรกิจขายตรงนี้ เพียงแค่ชักชวนเพื่อนเข้ามาทำธุรกิจก็มีรายได้แล้ว แล้วไม่คิดหรอกว่ามันเป็นการหลอกลวงคนอื่น เพราะเข้ามาแล้วต้องซื้อสินค้าในราคาค่อนข้างแพง 20,000 - 30,000 บาทก็มี แต่ราคาก็ไม่ได้เป็นหลักพิจารณาว่า ผิดหรือไม่ผิด มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้าด้วย แต่จะอยู่ที่พฤติกรรมในการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า ว่าเน้นขายสินค้าหรือเน้นหาคนมากกว่า

ยกตัวอย่าง เรื่องของการหลอกนักศึกษาที่มาทำงาน กลับมาทำ 2 - 3 ครั้ง ครั้งแรกก็ต้องคดีไปแล้ว ศาลมีการพิพากษาแล้วได้รับการปล่อยชั่วคราวไป ก็มาทำคดีที่ 2 ระหว่างทำคดีที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ก็ได้ข่าวว่าไปเปิดอีกเหมือนกัน บางคนก็ไม่เข็ด บางที่การหลอกลวงไม่จำเป็นต้องทำนาน 20 - 30 วัน ปิดบริษัทไป ก็เหมือนแชร์ข้าวสารที่มันเกิดขึ้นในทางอีสาน ทำกันในระยะสั้น ๆ แล้วปิดหนีไปเลย

ดังนั้น กฎหมายที่ควบคุมหลักคือ พรบ.ขายตรง คงต้องกำหนดให้มันชัดเจน ก็มีการปรับปรุงแก้ไข ตอนนี้มีร่างเสนอไปในกฤษฎีกาแล้ว แต่ผ่านหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ก็มีการปรับไปในหลายมาตรา ตอนนี้มาตราที่ชัดเจนคือ มาตรา 19 คือ ถ้านำเสนอผลตอบแทนโดยเน้นที่การชักชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจเป็นหลัก อันนี้ผิดแน่นอน ควรต้องกำหนดให้ชัดเจนในเรื่องการจ่ายผลตอบแทนหรือไม่ อาจจะใส่วิธีการจ่ายผลตอบแทน แต่ พรก.กฎหมายบัญญัติไว้ดีแล้ว ค่อนข้างชัดเจนและครอบคลุม ซึ่งอยู่ที่กฎหมายขายตรงมากกว่าที่ สคบ.เป็นผู้ดูแล เพราะการพิจารณาต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับ สคบ. ตอนนี้บทลงโทษควรเพิ่มด้วย เพราะถ้าพบว่ามีการบรรยายแผนไม่ตรงกับที่จดทะเบียนไว้ น่าจะมีบทลงโทษหรือบทบัญญัติที่เป็นความผิดด้วย อย่างน้อยบริษัทก็จะต้องเข้ามาควบคุมคนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยายแทน ว่า ต้องบรรยายในกรอบตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก สคบ.บางทีแม่ทีมอยากได้คนเยอะๆ ผลตอบแทนก็เยอะขึ้น จึงไม่ได้คำนึงถึงแผนหรือหลักการของบริษัท

แต่ปัญหาแรกเลยที่เจอ นั่นคือ เจ้าหน้าที่ สคบ.มีไม่เพียงพอ ตอนนี้บริษัทขายตรงในประเทศไทยเรามี 700-800 บริษัท การที่จะเข้าไปตรวจสอบแผนธุรกิจของทุกบริษัท คงไม่พอ ถ้ามีกำลังพลเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น เรื่องการตรวจสอบดูแลก็น่าจะดีขึ้น เรื่องกฎหมายควรกำหนดให้ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง และกฎหมายเคยบัญญัติเรื่องค่าสมัครควรกำหนดเท่าไหร่อย่างไร เป็นสิ่งที่ควรกำหนดให้ชัดเจน เรื่องบทบังคับ/บทลงโทษของบริษัทที่มีการชักชวนคนเข้ามาทำแผนธุรกิจ และมีการเสนอแผนที่ไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต ควรจะมีบทลงโทษ อย่างมาตรา 19 ที่ยังไม่ชัด แค่เพิกถอน ควรมีบทลงโทษที่เด็ดขาดหรือรุนแรงขึ้น อย่างน้อยมันก็จะช่วยยับยั้งบริษัทที่ทำไม่ถูกต้อง

สำหรับชีวิตผมหลังเกษียณตั้งใจอยากสอนหนังสือ เพราะตอนทำงานก็ได้รับเชิญไปบรรยายต่าง ๆ มากมาย อาทิ แชร์ลูกโซ่ สิทธิมนุษยชน กฎหมายเกี่ยวกับการสอบสวนคดีพิเศษ การปราบปรามการทุจริต และเคยสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คิดว่าอยากไปถ่ายทอดความรู้และประสบ การณ์ในกับนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยมากกว่า อย่างน้อยสิ่งที่คาดหวังไว้คือ สอนให้มีจริยธรรม การยึดมั่นในความถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นในประเทศชาติ ผมรับราชการมา 4 ปี กับการทำธุรกิจขายตรงเราก็มีความรู้กับประสบการณ์บางส่วน ก็เป็นข้อพิจารณาที่น่าสนใจ ถ้าช่วยให้เป็นประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง อยู่ในกรอบของกฎหมายก็ถือว่าน่าสนใจ

ตอนนี้อายุ 58 ปี เลือกเออรี่ เพราะเป็นโครงการปีสุดท้ายแล้ว จึงตัดสินใจเออรี่เลย ถ้าไม่ใช้สิทธิ์ปีนี้ปีหน้าก็ไม่มีโอกาส เพราะต้องมีเวลารับราชการเหลืออย่างน้อย 2 ปี ถึงจะเออรี่ได้ ก็มีเหตุผลหลายอย่างที่เราทำหลาย ๆ คดีแล้วมีผลงานออกไป คดีที่ได้รับมอบหมายก็ทำเต็มที่ กับการที่เราถูกปรับย้ายจากตำแหน่ง ผบช.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ลงไปเป็นผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นการปรับย้ายไปในระดับตำแหน่งที่ต่ำกว่า ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม โดยถูกปรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 เม.ย.55 จึงทำเรื่องร้องทุกข์ไปยัง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ยื่นต่อ กพ.ก็โชคดี ทำให้เราได้ศักดิ์ศรีคืนมา เมื่อวันศุกร์ ที่ 19 ก.ย.55 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม มีคำวินิจฉัยคืนตำแหน่งให้ผม คำสั่งที่ปรับย้ายนั้น เป็นคำสั่งที่มิชอบโดยกฎหมาย คำวินิจฉัยคืนตำแหน่งให้ผมย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.55 โดยให้กระทรวงดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัย นี่คือเกียรติยศและศักดิ์ศรี หากไม่ได้เข้าร่วมโครงการเออรี่ในปีนี้ วันใดที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม มีคำวินิจฉัยคืนตำแหน่งให้ผม วันนั้นก็จะเป็นวันที่จะเขียนใบลาออกทันที

โดยยศปัจจุบันได้โอนจากกระทรวงกลาโหม มาเป็นพันเอก(พิเศษ) ในตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญ รองหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ มาอยู่ DSI ยศก็ยังเป็นทหารเหมือนเดิม ก็คือเป็นผู้พิพากษาศาลทหาร ตอนนี้รอคำสั่งจากกระทรวงที่จะคืนตำแหน่งให้ตั้งแต่ 24 เม.ย.54 - 20 เม.ย.55 ก็จะเกษียณในตำแหน่ง ผบช.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา

ตอนนี้ผมรับเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ก็จะสอนนักศึกษาทั้งเอกชนและรัฐบาล สำหรับเส้นทางการเข้ารับราชการ ผมจบนิติศาสตร์และเนติบัณฑิต และเริ่มรับราชการที่กรมพระธรรมนูญ ในตำแหน่งอัยการทหาร เมื่อ 25 มี.ค.2519 ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยศาลทหารกรุงเทพ หลังจากนั้นก็หมุนเวียนตามแนวทางการรับราชการ ไปเป็นฝ่ายวิชาการบ้าง หัวหน้ากองการศึกษาบ้าง หัวหน้าแผนกกำลังพลบ้าง และตั้งแต่ปี 2535 ได้รับพิจารณามาดำรงตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญประจำสำนักตุลาการทหาร หลังจากนั้นก็เป็นตุลาการพระธรรมนูญฝ่ายทหารระหว่างต่างประเทศ แล้วเลื่อนเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายศาลทหารระหว่างต่างประเทศ จนกระทั่งเป็นตุลาการพระธรรมนูญรองหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ แล้วก็โอนย้ายมาที่ DSI มารับตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 ปฏิบัติหน้าที่หน้ากลุ่มงานคดีความขัดแย้ง แล้วก็เป็น ผบช. สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา จนเกษียณอายุราชการ

ผลงานที่ประทับใจมากที่สุด ผลคำพิพากษาคดีฆ่าแขวนคอ ที่กาฬสินธุ์ ที่เกิดขึ้นประมาณปี 2546 ศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต เป็นคดีที่รวบรวมพยาน หลักฐานโดยใช้พยานแวดล้อม ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ใกล้ ๆ เกิดเหตุ ไปจนถึงหลังเกิดเหตุ มาเขียนเชื่อมโยงให้สอดคล้องกัน คดีนี้ทำให้ผมมีชื่อเสียงมากขึ้น และที่สุดของที่สุดคือ การได้รับคืนตำแหน่งด้วยความเป็นธรรม

สิ่งที่ยึดเป็นหลักและปฏิบัติมาตลอด เพราะผมอยู่ในสายของทหาร เราก็ถูกปลูกฝังในเรื่องของความถูกต้องความสุจริตมาโดยตลอด และผมเป็นตุลาการ ผมก็ต้องถวายสัจปฏิญาณตามกฎหมายต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อเราถวายสัจปฏิญาณแล้ว เราต้องปฏิบัติให้ได้ จะไม่ทรยศต่อคำสัจปฏิญาณของเราเด็ดขาด เพราะฉะนั้นสิ่งที่มุ่งมั่นมาตลอดคือ ความถูกต้องและความสุจริต ซึ่งอยู่ในจริยธรรมของข้าราชการอยู่แล้ว การเอาประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติมาเป็นตัวตั้ง มุ่งไปที่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก โดยไม่มีอะไรเข้ามาแทรกแซงเราได้ ถ้าสามารถยืนอยู่ตรงนี้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ เราไม่ต้องกลัว สามารถสู้ได้ถึงชั้นศาล ถ้าเกิดมีการกลั่นแกล้ง มันจะเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันตัวเราด้วย


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ. ตลาดวิเคราะห์ ประจำวันที่16 - 31 ตุลาคม 2555 ฉบับ330

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น