ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

สคบ.เดินหน้าผ่ากม.ขายตรง ยกเครื่องรื้อระบบ ‘ตัวแทน’







jjjj (Mobile)

 


สคบ.เดินหน้า ประชาพิจารณ์ “ตัวแทนขายตรง” ทั้งแผ่นดิน เปิดทุกมุมมอง ทุกปัญหา เพื่อนำไปสู่การสังคายนาทางกฎหมายทั้งฉบับ เหตุมีการร้องเรียนมากมายจนหูชา ทั้งบริษัทเบี้ยวเงิน-ถอนโปรโมชั่น จนตัวแทนฝันค้าง เหมือนถูกหลอกให้เหนื่อยฟรี “จิรชัย มูลทองโร่ย” ย้ำชัดต้องจัดระเบียบตัวแทนขายตรงครั้งใหญ่ ทั้งมาตรฐานวิชาชีพและการคุ้มครองสิทธิ


สงครามตัวแทน-บ.ขายตรง


รอวันถอดชนวนระเบิด


เป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวร้องเรียนไม่เว้นแต่ละวัน สำหรับกรณีปัญหาเปิดศึกระหว่างบริษัทขายตรงกับ “ตัวแทน” หรือที่เรียกกันว่า “นักขายอิสระ”


ด้วยเหตุที่ผ่านมา “ตัว แทน” ไม่ได้อยู่ในฐานะ การเป็นพนักงานบริษัทหรือเป็นผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเหมือนกับผู้ใช้แรงงาน ทั่วไป ทำให้การตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัทขายตรงส่วนใหญ่ จะยึดหลักกฎกติกาที่เขียนกันมาเอง หรือบางครั้งก็อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นส่วนใหญ่


ถ้าหากตกลงกันเอาไว้ยังไงปฏิบัติตามนั้น ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากเกิดกรณีพิพาทขึ้นมา “ตัวแทน”หรือ “นักขายอิสระ” จะตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบผู้ประกอบการขายตรงอยู่เป็นประจำ


รูปแบบการจ่ายผลประโยชน์ในธุรกิจขายตรง เป็นรูปแบบผลประโยชน์ที่จ่ายตามแผนการตลาด ที่แต่ละบริษัทเขียนเอาไว้ โดยอาศัย คะแนนสะสม เป็นตัวกำหนด


นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขสนับสนุนอื่น ๆ อีกหลายประเภท ทั้งในเรื่องการเป็น “สปอนเซอร์” หรือผู้แนะนำ รวมไปถึงการต่อยอดผลประโยชน์ตามลำดับขั้นของ “ตำแหน่ง” หรือยอดขาย ที่จะมีความแตกต่างกันลดหลั่นกันไป


มีการใส่โปรโมชั่น สำหรับ คนที่ทำยอดขายถึงเป้าหมาย เริ่มตั้งแต่การได้รับสิทธิไปทัวร์ต่างประเทศ การได้รับสิทธิรับรถยนต์ รับเงินโบนัส หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น


ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ ในวงการธุรกิจขายตรง ก็คือว่า มีผู้ประกอบการบางราย ไม่รักษาคำมั่นสัญญาในการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับ “ตัวแทน”


โดยเฉพาะกรณี ที่มี “ตัวแทน” เพียงไม่กี่คนที่ทำได้ตามเป้า แล้วบริษัทต้องประสบกับความล้มเหลวในการกระตุ้นยอดขาย ปัญหาที่ตามมา ก็คือว่า บริษัทจะหาเหตุหรือข้ออ้างในการที่จะยกเลิกโปรโมชั่น ไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น


จากกรณีศึกษา ข้อร้องเรียนที่ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) มีการเปิดเผยว่า มีหลายกิจการที่เสนอผลประ โยชน์ล่อใจแก่ตัวแทน ทั้งที่เป็นระดับ “แม่ทีม” และ “ลูกทีม” ด้วยการจ่ายปันผลพิเศษ และทัวร์ต่างประเทศ


แต่เมื่อสามารถพิชิตเป้าหมายได้สำเร็จ ปรากฏว่า บริษัทขายตรง กลับหาเหตุบ่ายเบี่ยง หรือยกเลิกโครงการกลางคัน ทำให้ “ตัวแทน” มีความรู้สึกเหมือนกับว่าตน “ถูกหลอก”


หรือบางครั้งบริษัท ก็หาทางออกโดยจ่ายเงินทดแทน ตั๋วเครื่องบิน แต่ก็เป็นเงินที่มีมูลค่าต่ำกว่าสิทธิประโยชน์ที่ “ตัวแทน”ควรจะได้รับ จากการไปทัวร์ต่างประเทศ


นี่คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง “ตัวแทน” และบริษัทขายตรง ที่สคบ.รายงานว่าได้รับการร้องเรียนมากเป็นอันดับ 1


ในอีกกรณีหนึ่ง ที่มีการร้องเรียนมากในช่วงนี้ ก็คือ มีกิจการขายตรงหลายแห่ง ชักชวนให้คนทั่วไปมาสมัครเป็นสมาชิก จากนั้นก็หาเหตุจูงใจกึ่งบังคับ เพื่อให้สมาชิกหรือ “ตัวแทน” จะต้องซื้อสินค้า เพื่อแลกมากับสิทธิพิเศษบางอย่างจากผลตอบแทนในการขาย


แต่จริง ๆ แล้ว นี่กลับเป็นวิธีการหลอกล่อรูปแบบหนึ่ง ที่อาศัยสมาชิกหรือ “ตัวแทน” เป็นผู้ซื้อสินค้าเสียเอง ทั้งที่ในหลักความเป็นจริง สินค้า ควรจะต้องเกิดจากการตัดสินใจซื้อจากผู้บริโภคโดยตรง


กรณีเรื่อง การให้สิทธิ ด้านสวัสดิการ ประกันชีวิตประกันภัย หรือประกันอุบัติ เหตุ มีบางกิจการ ประโคมข่าวใหญ่โตผ่านสื่อ ผ่านเว็บไซต์ หรือประกาศผ่านไปยังแม่ทีม เพื่อไปสร้างแรงจูงใจให้กับ สมาชิกรายใหม่ ว่าบริษัทฯ ได้มีการทำสัญญาข้อตกลงเอาไว้กับบริษัทประกันชีวิตประกันภัยบางบริษัท


แต่ถึงเวลา เมื่อสมาชิก หรือ “ตัวแทน” ประสบอุบัติเหตุหรือ เสียชีวิต ปรากฏว่า ได้รับการปฏิเสธจากบริษัทประกันภัยอย่างสิ้นเชิง


อีกกรณีหนึ่ง ที่พบเห็นบ่อยมากในเวลานี้ ก็คือ บริษัทชักชวน ให้สมาชิกหรือ “ตัว แทน” เปิดจุดบริการขายสินค้า ซึ่งมีการให้สิทธิประโยชน์มากกว่าการเป็น “ตัวแทน” ปรกติ โดยจะได้กำไรส่วนต่างจากราคาขายปลีก รวมไปถึงจะได้คะแนนสมเพื่อนำไปคำนวณผลประโยชน์


แต่เมื่อถึงเวลา ทำไปได้ระยะหนึ่ง สินค้าขายไม่ออก บางบริษัท ฯ มีการตกลงว่า จะรับซื้อคืนสินค้า แต่เอาเข้าจริงกลับปฏิเสธที่จะซื้อคืน หรือถ้าซื้อคืน ก็มีการกดราคาต่ำลงมาเป็นจำนวนมาก


กรณีการให้โบนัสพิเศษ เป็นรถยนต์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เริ่มมีการร้องเรียนเข้ามามาก เนื่องจากแผนโปรโมชั่นที่ว่านี้ มักจะได้รับการตอบสนองจาก “ตัวแทน” เป็นอย่างสูง เนื่อง จากรถยนต์ เป็นความฝันอันดับต้น ๆ ของคนทำเครือข่าย


แต่เมื่อถึงเวลา ที่จะต้องส่งมอบจริง ๆ บริษัทกลับปฏิเสธ การส่งมอบรถยนต์ให้กับ “ตัวแทน” โดยมีการอ้างสถานการณ์ปัญหาภายในบริษัท ต่าง ๆ นานา


ทั้ง ๆ ที่ “ตัวแทน” สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้า หรือมีคะแนนสะสมที่สูงตามที่บริษัท ฯ ได้กำหนดเอาไว้


ปัญหากรณีเรื่องการแจกรถแจกทอง ยังมีอีกหลายกรณี เนื่องจากหลายกิจการประโคมข่าวแจกจริง-จ่ายจริง แต่เมื่อมาดูเงื่อนไข การจ่ายรถยนต์กลับจ่ายแค่เพียงเงินดาวน์เท่านั้น ที่เหลือให้ “สมาชิก”เอาไปผ่อนเอง


กฎกติกาขายตรงยังอ่อน


คนโง่ตกเป็นเหยื่อคนฉลาดร่ำไป


ปัญหานักธุรกิจอิสระ หรือ “ตัวแทน” ยังเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน อีกหลายมิติ เพราะด้านหนึ่งจะมี “ตัวแทน” ที่บริสุทธิ์ ทำงานตามแบบฉบับวิชาชีพขายตรงอย่างแท้จริง ยึดหลักความถูกต้องตรงไปตรงมา


แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็จะมี “ตัวแทน” อีกบางจำพวก ประเภท “หัวหมอ” ชอบใช้วิธีการซิกแซก หลอกล่อลูกทีมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา เพื่อหาทางเอาเปรียบบริษัท


เคยปรากฏข่าวว่ามี “แม่ทีมเงินล้าน”บางบริษัท มีการ “ซูเอี๋ย” กับ “ลูกทีมเงินแสน” เพื่อบาลานซ์คะแนนซ้าย-ขวา หวัง “พิชิตเงินล้าน” ด้วยการระดมเงินมาซื้อผ่านรหัสของลูกทีมในสายงานทีมอ่อน


ครั้นเมื่อบริษัทจับได้ ปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็เอาเรื่องร้องเรียนไปยังสคบ. กลายเป็นว่า บริษัทเป็นฝ่ายผิดไปเสียฉิบ


ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบระหว่าง “ตัวแทนขายตรง” ด้วยกัน ยังมีปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ต่อว่าต่อขาน ด่าทอกัน ไม่รู้ว่าจะไปดำเนินการเอาผิดเอาโทษอย่างไร บริษัทก็ไม่สามารถมาไกล่เกลี่ยอะไรได้ สุดท้ายก็วงแตกแยกทางเดิน


หนักไปกว่านั้น ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในขณะนี้ ก็คือ การขายสินค้าขายตรงเงินผ่อน


ธรรมชาติ “นักขาย” ก็อย่างที่รู้กันอยู่ก็คือว่า ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้สินค้าขายได้ โดยบางครั้งก็ไม่เกี่ยงรูปแบบหรือวิธีการ ซึ่งกรณีการขายสินค้าขายตรงเงินผ่อน ณ วันนี้ เริ่มที่จะมีการร้องเรียนไปยังสคบ.แล้ว


วิธีการก็คือ กรณีสินค้ามีมูลค่าสูง ยกตัวอย่าง เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นบาท หากจะปิดการขายโดยให้ลูกค้าจ่ายเพียงครั้งเดียว ก็เกรงว่าลูกค้าจะแบกรับไม่ไหว


สุดท้าย “ตัวแทน” ก็ทำหน้าที่บริษัทไฟแนนซ์เสียเอง โดยยอมลงทุนควักเงินในกระเป๋าซื้อ จากนั้น ก็นำเอาไปขายเงินผ่อน โดยมีการชำระเป็นงวด


ครั้นเมื่อผู้ซื้อสินค้า ไม่สามารถผ่อนได้ตรงเวลา ก็ไปใช้อำนาจข่มขู่คุกคาม จนเรื่องดังไปถึงหูสคบ.


ทั้งหมดนี้ เป็นปัญหาเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ทีมข่าว “ตลาดวิเคราะห์” ไปรวบรวมมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างธุรกิจขายตรง นอกจากจะต้องสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สินค้าได้เป็นที่เชื่อถือแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญ ของการขับเคลื่อนธุรกิจขายตรงก็คือ “ตัวแทน” หรือ “นักธุรกิจอิสระ” ที่เป็นประเด็นร้อนอีกเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องนำเข้าไปสังคายนากฎหมายขายตรง ควบคู่ไปกับการแก้ไขกฎหมายด้านอื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน


ในแผนหลักของการรื้อกฎหมายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 การกำหนดกรอบร่างกฎหมายแก้ไขว่าด้วยเรื่อง “ตัวแทน” หรือ “นักธุรกิจอิสระ” ถือเป็นวาระเร่งด่วน ที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการสคบ. ประกาศชัดเจนว่า จะต้องมีการจัดระเบียบในเรื่องของ “ตัวแทน”ใหม่ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน


โดยเร็ว ๆ นี้ สมาคมธุรกิจเครือข่ายขายตรง หรือ TDNA และสคบ. จะมีการจัดงาน “วันตัวแทนขายตรงพบสคบ.”เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจาก “ตัวแทน” ทุกบริษัทขายตรงอย่างกว้างขวาง เพื่อฟังเสียงสะท้อนปัญหาในทุกด้าน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการวางกรอบทางกฎหมาย


เพราะฉะนั้น ในกระบวน การพัฒนาธุรกิจขายตรง โดยเฉพาะในเรื่องการปรับมาตรฐาน “ตัวแทน” หรือ “นักธุรกิจอิสระ” จึงจำเป็นจะต้องดำเนินการวางกรอบหรือกฎเกณฑ์หรือกำหนดนิยามของคำว่า “ตัวแทน” ให้ชัดเจนว่า หลักปฏิบัติพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจควรจะเป็นอย่างไร


การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ “ตัวแทน” แม้เป็นสิ่งจำเป็นที่สคบ.จะต้องเร่งหามาตรการทางกฎหมายออกมาเพื่อดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในธุรกิจขายตรง


แต่สิ่งหนึ่ง ที่ยังเป็นปัญหาของ “ตัวแทน” ก็คือว่า ยังมีการเอารัดเอาเปรียบหรือมีพฤติกรรมที่ฉวยโอกาส ขาดจริยธรรมในการทำธุรกิจมากมายเช่นกัน


มาตรฐาน “ตัวแทนขายตรง” ยังเป็นคำถามที่ถูกถามมากในสังคม ด้วยเหตุที่ไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ในการคัดกรอง เหมือนกับ “ตัว แทนประกันภัย” ที่ต้องผ่านการสอบใบรับอนุญาต


ทำให้เมื่อใครก็ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ระบบ จำนวนมาก ๆ ก็จะใช้สิทธิหรือแนวทางของตัวเองทำตามใจชอบ


ถูกผิดก็ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายชัดเจน


ไม่มีกระบวนการใดที่จะสามารถแยก “น้ำดี” ออกจาก “น้ำเสีย” สุดท้ายก็กลายเป็น “หนอนในแอปเปิ้ล” กัดกินจนระบบเสียหายยับเยิน


ดังนั้น ถ้าหากจะมุ่งเน้น การคุ้มครองสิทธิ “ตัวแทน” เป็นที่ตั้ง โดยที่ยังไม่ได้มีการกำหนดกรอบหรือเส้นทางเดินของ “ตัวแทน”ให้ชัดเจน การให้ความคุ้มครองสิทธิ “ตัวแทน” ก็อาจจะกลายเป็นการ “ยื่นดาบให้โจร”


 ถึงเวลาเดินหน้าผ่ากฎหมาย


ล้อมคอกสยบ “พ่อมดขายตรง”


ปัจจุบัน ธุรกิจขายตรง มีกิจการมากมายหลายร้อยแห่งอยู่ในระบบ มาจากต่างถิ่นต่างแดนก็หลายกิจการ แต่ละกลุ่มแต่ละค่ายก็พยายามสรรหากลยุทธ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในตลาด


มีทั้งประเภท อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายบ้าง ท้าทายกฎหมายบ้าง หรือทำไปโดยไม่รู้กฎหมายบ้าง แยกแยะกันไม่ออก


ถ้าเปรียบธุรกิจขายตรงเป็นกีฬา ก็มีแต่ผู้เล่นไม่มี “กรรมการ” หรือมีกรรมการ ก็ไม่กล้าตัดสิน เพราะกฎกติกายังไม่ชัดเจน


หากกฎหมายขายตรง ยังขาดความชัดเจน ขาดความศักดิ์สิทธิ์ ปัญหาก็คือ การแข่งขันในระบบขายตรงจะเป็นธรรมได้อย่างไร นี่ประการหนึ่ง


ประการที่สอง ก็คือ บุคคลที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจขายตรง ถ้าหากขาดคุณสมบัติที่ดีพอ ขาดความรู้ความเข้าใจ หรือขาดจริยธรรม ถ้ายังปล่อยให้คนเหล่านี้เข้ามา ก็รังแต่จะสร้างความเสื่อมเสีย มีการร้องเรียนกันไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน


ประการที่สาม ถ้าเกิดกรณีมีผู้เสียหาย อันเนื่องมาจากการชักจูงหรือหลอกล่อ จะมีกระบวนการทางกฎหมายดำเนินการกับ “ตัวแทน” เหล่านี้อย่างไร


ประการที่สี่ การคัดกรอง คนที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจขายตรง จะต้องผ่านกระบวน การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนหรือไม่


หากสคบ. จะเดินหน้าผ่ากฎหมายขายตรง งานหนักอีกชิ้นนึง เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นการสังคายนา “ตัวแทน” เพราะเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากหลายล้านคน


หลายกิจการ ลงทุนลงแรงไปมากกับการ “รีครูท” คนเข้ากิจการ เพราะเชื่อว่า ยิ่งคนมากยอดขายก็จะโตมากตาม


แต่โดยข้อเท็จจริง ในกิจการขนาดใหญ่หลายค่าย ๆ มี “ตัวแทน” ที่สนใจจะทำธุรกิจขายตรงอย่างจริงจังไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ


ถ้าในแต่ละสมาคมขายตรง ยินยอมพร้อมใจ ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับธุรกิจขายตรง วันนี้น่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่สุด


เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีการรวมตลาดอาเซียนเข้าด้วยกัน การขยายเครือข่ายการลงทุน คงจะต้องมีการเดินข้ามฟากไปมาหาสู่กันมากขึ้น


แต่ถ้าหากมองว่า การสร้างเงื่อนไขด้วยหลักเกณฑ์มาตรฐานของวิชาชีพ จะเป็นอุปสรรคในการ “รีครูท” คนเข้าสู่ธุรกิจขายตรง ก็ต้องถามใจผู้ประกอบการทุกคนว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการ คือ “คุณภาพ หรือ “ปริมาณ”


ถ้าอยากได้ปริมาณมาก แต่ควบคุมยาก เกิดปัญหาวุ่นวายไม่หยุดหย่อน จะยอมรับกันได้หรือไม่


แต่ถ้าต้องการคุณ ภาพ ก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือก “ตัวแทน”เข้าสู่ระบบ เพราะอย่างน้อย ก็จะทำให้ ปัญหาร้องเรียนลดน้อยลง


ต่อจากนั้น ก็จะเป็นกระบวนการควบคุมพฤติกรรมที่จะต้องอาศัยตัวบทกฎหมาย เป็นตัวกำหนดว่า หากมีการร้องเรียนตามที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น เข้าหลักกฎหมายข้อไหนมาตราใด


วันนี้ ถ้าจะให้ธุรกิจขายตรงเดินไปข้างหน้า กฎหมายมีความจำเป็นจะต้อง โปร่งใส ชัดเจน ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง


โดยเฉพาะผู้ประกอบการ และ “ตัวแทน” ต่างก็อยู่ในฐานะ “ผู้กระทำ”และ”ผู้ถูกกระทำ” ในเวลาเดียวกัน หากกฎหมายไม่เขียนให้ลงลึกไปถึงเนื้อหาของธุรกิจขายตรง คนผิดก็ยังคง “ลอยนวล” คนชั่วก็ยังเปลี่ยนค่ายย้ายรังไปสร้างความเสียหายในรูปแบบเดิมอย่างไม่จบสิ้น


เพราะฉะนั้น ไหน ๆ จะสังคายนากฎหมายขายตรงทั้งที ช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ยังเป็นรอยรั่ว และสร้างโอกาสให้กับบรรดา “พ่อมดขายตรง” ทั้งหลาย คงจะต้องมีการล้างบางกันเสียที


มิเช่นนั้น คนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจย่างเท้าเข้ามาสู่ธุรกิจขายตรง หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกหลอก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้ ไม่เพียงแต่คนเก่า ๆ ที่จะหันหลังกลับไปเท่านั้น แม้แต่คนใหม่ ๆ ก็คงยากที่จะเดินเข้ามา...








 

 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น