ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

สคบ.จัดหนักขายตรงนอกรีต! เร่งปรับกฎหมายใหม่ตรวจเข้ม-จับจริง



สคบ.เร่งเครื่องปราบปรามผู้กระทำผิดกฎขายตรง หลังพบมีผู้เข้ามาร้องเรียนความเสียหายอยู่อย่างต่อเนื่อง...แย้ม!วันนี้หน่วยงานยังขาดบุคลากร-กฎหมายที่เข้มข้นสะกัดขายตรงนอกรีต...ส่วนความคืบหน้ากฎหมายขายตรงยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข เผยกฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันเป็นหลัก พร้อมบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคที่เกิดจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอีกด้วย ...ชี้! “กรมการขายตรง” โอกาสเกิดขึ้นคงยาก แต่หากตั้งเป็นสำนักโอกาสเป็นไปได้มีสูง
หากพูดถึง “ธุรกิจขายตรง” ในปัจจุบันนี้ เชื่อว่า “กลิ่นคาว” ของ “ธุรกิจสีเทา” ที่แฝงตัวแทรกซึมอยู่ในธุรกิจขายตรง ณ เวลานี้ คงมีอยู่อย่างแน่นอน และเชื่อว่าคงจะไม่มีวันหมดสิ้นไปจากธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน ตราบใดที่หลายฝ่ายยังคงจูนคลื่นไปในทิศทางที่ขนานกันเช่นนี้!..
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าหลายคนคงอาจจะมองว่า “ธุรกิจขายตรง” เริ่มที่จะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมากระทุ้ง ออกมาจี้ลงดาบขายตรงนอกรีต รวมถึงเหล่าแม่ทีมหน้าไหว้หลังหลอก จนเรียกได้ว่าขยาดไปตามๆ กัน แต่ก็ต้องบอกว่า อาจจะดีขึ้นเพียงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา อาจพูดได้ว่า การออกมาลงดาบบริษัทขายตรงสีเทายังถือว่าไม่มีความเข้มข้นมากสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายที่เข้มข้นและเอาจริงเอาจังนั่นเอง
...มาดูกันว่า บทบาทความเข้มข้นของหน่วยงานรัฐอย่าง “สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค” หรือ สคบ. นับจากนี้ต่อไป มีการวางกรอบแผนการทำงานที่หนักหน่วงแค่ไหน?... ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจขายตรงเมืองไทย ซึ่งทีมข่าว “ตลาดวิเคราะห์” ขอนำเสนอแนวทางของสคบ.นับจากนี้ ให้ทุกท่านได้รับทราบดังนี้...

‘สคบ.’พร้อมสนับสนุนทุกฝ่าย
เผยกฎหมายอยู่ระหว่างแก้ไข
นายนิโรจน์ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. เผยถึงการทำงาน ของสคบ. ในปัจจุบันนี้ว่า การทำงานของสคบ. ในวันนี้ถือว่ายังคงมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบุคลากร ในเรื่องของกฎหมายระเบียบข้อบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของบุคลากรค่อนข้างที่จะจำกัด และขณะนี้ทางสคบ.เอง ก็พยายามที่จะปรับกลยุทธ์ที่จะหาแนวร่วมเข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบตรงนี้ เพื่อช่วยสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดอีกทางหนึ่งด้วย
“ขณะนี้ สคบ.ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานตำรวจดีเอสไอ เพื่อเข้าไปตรวจจับผู้กระทำผิดแล้ว ซึ่งตรงนี้จะเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา โดยการทำงานตรงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำงานเชิงรุกเลยก็ว่าได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลเสียหายในภายหลัง ในขณะเดียวกัน สคบ. เอง ก็จะมีการไปให้ความรู้ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชนทั่วไปด้วยว่า ธุรกิจขายตรงที่ดีต้องเป็นอย่างไร เป็นต้น”
สำหรับแนวทางการส่งเสริมธุรกิจขายตรงนั้น นายนิโรจน์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนี้สคบ. มีแนวทางในการส่งเสริมธุรกิจขายตรงอยู่แล้ว โดยได้มีการประสานงานกับทุกสมาคมไม่ว่าจะเป็นสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย สมาคมการขายตรงไทย สมาคมพัฒนา การขายตรงไทย และสมาคมนักการตลาดแบบตรงไทย โดยสคบ.ได้มีการประสานกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการนำเสนอแนะเรื่องของการที่จะช่วยกันส่งเสริมธุรกิจขายตรง เพื่อให้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไปพร้อมๆ กับการติดตามสอดส่องพฤติกรรมของการประกอบธุรกิจขายตรงด้วย
...เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าในเรื่องของกฎหมายขายตรงนั้น นายนิโรจน์ บอกว่า ขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้ทางรองเลขาธิการคณะกรรมการ ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตลาดขายตรงแล้ว โดยได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ตัวแทนข้าราชการ ผู้บริโภค ตัวแทนของภาคธุรกิจ และตัวแทนของสมาคมขายตรง ทุกสมาคมทั้ง 4 สมาคม โดยเป็นการให้ตัวผู้แทนต่างๆ เข้ามาร่วมกันระดมความคิดเห็น ระดมสมอง ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุง มาตราไหนบ้าง แก้ไขแล้วได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด ซึ่งทางคณะทำงานจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ จะแล้วเสร็จพร้อมใช้ในปีนี้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูอีกที เนื่องจากขั้นตอนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือพระราชบัญญัตินั้น จะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวุฒิสภาเสียก่อน
ส่วนกรณีของกองทุนเยียวยาความเสียหายให้กับสมาชิกที่ได้รับความเสียหายนั้น นายนิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเสนอบทบัญญัติในเรื่องของการขอทุนเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทำธุรกิจนี้ด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะต้องทำโดยเร็วเช่นกัน
“วันนี้ต้องบอกว่า ทิศทางของธุรกิจขายตรงไทย มีแนวโน้มที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดดเป็นไปได้สูง เห็นได้จากเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ธุรกิจขายตรงมีสมาชิกประมาณแค่100 กว่าบริษัท แต่ในปัจจุบันนี้กลับพบว่า มีสมาชิกที่มาจดทะเบียนกับสคบ. โดยเฉพาะธุรกิจขายตรงถึง 700 กว่าบริษัท ซึ่งการบริหารกิจการจริงๆ แล้ว อาจจะไม่ถึง แต่ยังถือว่ามีการประกอบธุรกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ที่สำคัญ ยังพบอีกว่ามูลค่าตลาดรวมของธุรกิจนี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันพบว่าอยู่ที่ประมาณ 65,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงอย่างมาก” นายนิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ชี้!ก.หมายลงโทษนักขายทำผิด
เน้นแก้ไขปัญหาเชิงป้องกัน
...นอกจากนี้ ทางด้านนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการส่วนขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยังได้กล่าวถึงกรณีนักขายที่กระทำความผิดในการประกอบอาชีพธุรกิจขายตรงในปัจจุบันจะมีบทลงโทษอย่างไรว่า ในกรณีดังกล่าวนี้ ทางหน่วยงานรัฐจะมีการดำเนินคดีไปทางบริษัทต้นสังกัดด้วย หากพบว่า นักขายมีส่วนร่วมในการกระทำผิดในแง่ของการติดตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง หรือตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
โดยขณะนี้ ได้มีการปรับปรุงกฎหมายขายตรงให้มีประสิทธิ ภาพมากขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกัน ซึ่งมีนายนพปฎล เมฆเมฆา รองเลขาธิการด้านกฎหมาย สคบ. เป็นประธานยกร่างใหม่ โดยกฎหมายดังกล่าว จะเป็นการแยกความผิดที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายยังมีบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคที่เกิดจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอีกด้วย
นายสุวิทย์ เผยต่ออีกว่า สำหรับอำนาจในการตรวจสอบสถานประกอบการนั้น ถือเป็นอำนาจของทางสคบ. โดยตรง ในฐานะที่เป็นนายทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงตาม พ.ร.บ.ขายตรงปี 2545 โดยสคบ.จะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานทุกคนจะมีบัตรประจำตัวสามารถตรวจสอบได้ โดยทางหน่วยงานอื่นอย่าง บก.ปคบ. หรือดีเอสไอนั้น ไม่สามารถที่จะเข้าไปทำการตรวจสอบได้ ซึ่งหากจะทำการตรวจสอบจะต้องมีทางสคบ.เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ส่วนอำนาจการเปรียบเทียบปรับความผิดกฎหมายนั้น ทางกฎหมายบอกว่าให้ใช้อำนาจบอร์ดขายตรง แต่ปัจจุบันทางบอร์ดขายตรงได้ส่งมอบอำนาจให้กับทางเลขาสคบ.เป็นผู้เปรียบเทียบปรับเรียบร้อยแล้ว
ส่วนการทำงานของดีเอสไอนั้น จะมีหน้าที่ดูแล พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนปี พ.ศ.2527 โดยจะติดตามธุรกิจที่เป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ซึ่งตรงนี้ดีเอสไอ มีอำนาจในเรื่องของการดำเนินการสอบสวนในความผิดตาม พ.ร.ก.ตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีเรื่องร้องเรียนมาที่ดีเอสไอ ก็จะมีการประสานมาทาง ส.คบ.ว่า บริษัทนั้นที่โดนร้องเรียนได้มีการจดทะเบียนธุรกิจขายตรงถูกต้องหรือเปล่า มีแผนการประกอบธุรกิจที่ได้รับการอนุญาตหรือไม่ ซึ่งทางสคบ.ก็จะมีการประสานข้อมูลให้กับทางดีเอสไอในลำดับต่อไป
...หากถามว่าวันนี้ภาพรวมของธุรกิจขายตรงดีขึ้นหรือไม่อย่างไรนั้น นายสุวิทย์ ได้ให้ความเห็นว่า วันนี้ภาพลักษณ์ของธุรกิจขายตรงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประสานงานกันอย่างมีระบบมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็อยากที่จะให้ทุกๆ ฝ่าย หากมีเรื่องร้องเรียนใดๆ ก็ขอให้ประสานงานมาที่ทางสคบ.ได้เลย ซึ่งวันนี้สคบ. มีหน้าที่ที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจขายตรงเจริญเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้หน่วยงานภาครัฐเองได้พยายาม ที่จะให้ข้อมูลกับประชาชนว่า ก่อนที่คุณจะเข้ามาร่วมธุรกิจขายตรงคุณต้องดูอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น 1. บริษัทนั้นต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 2. แผนการตลาดนั้นต้องไม่มุ่งเน้นในเรื่องของสมาชิก แต่จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการขายสินค้า รายได้หลักต้องมาจากยอดขายสินค้า สินค้านั้นต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตรวจสอบว่าบริษัทนั้นจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบได้จากทางเว็บไซต์”
นายสุวิทย์ เผยต่ออีกว่า ปัจจุบันนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงมีจำนวน 794 ราย รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจำนวน 184 ราย รวมแล้วประมาณ 900 กว่าราย ที่ได้รับอนุญาตจาก สคบ.แล้ว และยังมีอีกประมาณ 20-30 ราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งขณะนี้นโยบายของเลขา สคบ.ในฐานะนายทะเบียนก็พยามยามเร่งรัดที่จะพิจารณาใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นเรื่องให้เร็วที่สุดเช่นกัน

ตั้ง‘กรมการขายตรง’คงยาก
ชี้!หากเป็นสำนักโอกาสมีสูง
…ด้านนายนพปฎล เมฆเมฆา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เผยว่า ปัจจุบันนี้พบว่า มีผู้ที่ร้องเรียนมาที่สคบ.อย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้จำหน่ายอิสระ ผู้ประกอบการ โดยส่วนใหญ่เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาจะเป็นในเรื่องของแผนการจ่ายผลตอบแทน ส่วนที่แจ้งว่าเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้น ค่อนข้างมีน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจพวกนี้จะหลบๆ ซ่อนๆ จึงตรวจสอบค่อนข้างยาก ที่สำคัญ คนของสคบ. ที่จะเข้าไปทำการตรวจสอบตรงนี้ก็น้อยด้วย จึงไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างทั่วถึงพอสมควร
“วันนี้การทำงานของสคบ. ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในปัจจุบันนี้นั้น ทางสคบ. เองก็ได้มีการจัดประชุมสัมมนาเพื่อหารือกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนากฎหมายที่ผมรับผิดชอบอยู่ 3 ส่วน ที่มีสมาคมต่างๆ มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ทำให้การทำงานง่ายมากขึ้น โดยกฎหมายที่จะเน้นเป็นพิเศษ คือ จะเป็นในเรื่องของการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำดีอยู่แล้วให้มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการไหนที่กระทำผิด ก็จะมีมาตราที่เข้มงวดมากขึ้น ในการกำจัดกลุ่มนี้ให้หมดไปจากธุรกิจนี้”
...นอกจากนี้ ทีมข่าว “ตลาดวิเคราะห์” ยังถามถึงเรื่องของกรมการขายตรงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร โดยนายนพปฎล ได้ชี้แจ้งให้ฟังว่า “โอกาสที่จะเกิดกรมการขายตรงคงยาก เนื่องจากเป็นการเพิ่มงบประมาณค่อนข้างสูง รวมถึงต้องเพิ่มอัตรากำลัง และยกฐานะเป็นกรม ซึ่งมองว่าถ้าตั้งเป็นสำนักก่อนจะดีกว่า โดยให้ไปอยู่ในสังกัดของสคบ. เพราะหากเป็นกรมมองว่าจำเป็นต้องแยกจากสคบ.แต่ถ้าตั้งเป็นสำนักแล้วอยู่ในสังกัดของ สคบ. ตรงนี้ มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ก็มีสูงเช่นกัน
...นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญทีเดียวสำหรับ “สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค” หรือ สคบ. ที่จะเติมเต็มภาพลักษณ์ของธุรกิจขายตรงให้ปราศจากธุรกิจสีเทา ซึ่งสคบ. จะได้งานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ.ตลาดวิเคราะห์ ฉบับที่ 316 ประจำวันที่ 16 - 31 มีนาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น