ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จับตาดาบ2‘สันติ พร้อมพัฒน์’ โละบอร์ดขายตรงหลังเด้ง‘จิรชัย’







Capture (Mobile)

 


บอร์ดขายตรงรอคิวเชือดหลังยื้อเก้าอี้มาเกือบ 2 สมัย แต่กลับใส่เกียร์ว่าง ปล่อยสคบ.เดินหน้าไปเพียงลำพัง จนสุดท้ายต้องถูกเชือด สังเวยคมกระบี่ “สันติ พร้อมพัฒน์” เผยกฎหมายขายตรงไม่พัฒนา เหตุขาดการบูรณาการร่วมกันของ 2 หน่วยงานหลัก ผู้ประกอบการส่งเสียงเชียร์ถึงเวลายกเครื่องทั้งระบบ แนะหาคนรู้ลึกรู้จริงร่วมสังฆกรรม


 เชือด “จิรชัย”ดาบแรก


ลุ้นดาบ 2 บอร์ดขายตรง


ปิดฉากไปเรียบร้อยสำหรับฤดูกาลโยกย้ายข้าราชการประจำปี ที่ย่อมมีทั้งคนที่ผิดหวังและสมหวัง เพราะนี่คือ สัจธรรมของชีวิตคนรับราชการ ที่ยังจะต้องอยู่ในวังวนแห่งอำนาจของฝ่ายการเมือง


กรณีการสั่งเชือด นายจิรชัย มูลทองโร่ย พ้นจากเก้าอี้สคบ. ผ่านมติครม.เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นการโยกย้ายแบบสายฟ้าแลบ จนช็อคไปทั้งวงการ แต่มาถึงวันนี้เจ้าตัวก็ออกมายอมรับสภาพโดยดุษฎีว่าน้อมรับคำสั่ง ไม่มีข้อโต้แย้งขัดขืนใด ๆ ทั้งสิ้น


เข้าทำนอง จบสวยเรื่องสั้น จบไม่สวย อาจเพราะเรื่องราวหลังการปรับนายจิรชัยพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับสคบ. จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายจิรชัย แต่อย่างใดทั้งที่ก่อนการสั่งเด้งนายจิรชัย ก็มีการปลุกกระแสข่าวผ่านสื่อบางฉบับ ถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของนายจิรชัย ยาวเป็นหางว่าว เป็นการจบแบบ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” อย่างน้อย เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ไม่ต้องมานั่งเสียวสันหลังว่า จะมีการ “เช็คบิล”ย้อนหลังตามมาอีก


การปรับเปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการสคบ. โดยโยกนายอำพล วงศ์ศิริ ข้ามห้วยจากกระทรวงยุติธรรมมานั่งในตำแหน่งนี้ แม้จะดูเป็นการลดแรงเสียดทานไปได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงจะจบสิ้นลง เพียงเพราะแค่ มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการเท่านั้น


ด้วยเหตุที่สคบ.เป็นองค์กรที่มีบทบาทความรับผิดชอบต่อประชาชนจำนวนมาก กอปรกับปัญหาที่แท้จริงในสคบ.ก็มิได้เป็นปัญหาในเรื่องตัวบุคคลอย่างเดียว หากแต่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างหมักหมมมาช้านาน โดยเฉพาะการวางบทบาทสคบ. ให้เป็นองค์เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับ การจัดระเบียบขายตรง สคบ.ก็ยังไม่มีการวาง “โรดแมป” เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายอย่างแท้จริง


โดยเฉพาะในตัวบทกฎหมายขายตรงและการตลาด แบบตรง ที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 ผ่านมาถึงวันนี้ก็ 10 ปีเต็ม มีการปรับปรุงแก้ไขแค่เพียงครั้งเดียวและเพียงมาตราเดียวในปี 2550 อันเป็นสมัยของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธิ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี


โดยมาตราที่แก้ไข ก็คือ มาตรา 45 ว่าด้วยเรื่องการเพิ่มโทษเมื่อเกิดการขัดขวาง ฝ่าฝืนการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ในการตรวจสอบที่กฎหมายเขียนเอาไว้ในมาตรา 5 ของพ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรงพ.ศ.2545


หลังจากนั้น ก็มิได้มีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด ทั้งที่ การแก้ไขกฎหมาย จะเป็นใบเบิกทางที่สำคัญ ที่นำไปสู่การปรับองค์กรของสคบ.ให้มีความเข้มแข็ง มีความชัดเจนในบทบาทมากขึ้น


ข้อเสนอแนะ จากภาคเอกชน รวมไปถึงนักวิชาการ มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า...ถึงเวลาต้องสังคายนากฎหมายขายตรงครั้งใหญ่เสียที ขืนลากยาวกันต่อไป ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ ลุกลามบานปลายมากขึ้น


 ใส่เกียร์ว่างมา 4 ปี


ไม่มีผลงานเข้าตา


ปัญหาในการกำกับดูแลธุรกิจขายตรง ถ้าจะ “โยนบาป” ไปที่ตัวนายจิรชัย แต่เพียงผู้เดียว ก็ดูจะเป็นการไม่ยุติธรรมนัก เพราะถ้าหากไปดูในตัวบทกฎหมายขายตรง จะเห็นว่า ยังมีคณะกรรมการขายตรงและการตลาดแบบตรงที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสคบ.อีกทอดหนึ่ง


โครงสร้างอำนาจ ในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ถ้าไล่เลียงกันมาตั้งแต่ระดับสูงสุด บุคคลที่มีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือรวมไปถึงการออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือ ตัวนายกรัฐมนตรี


แต่ที่ผ่านมาในหลาย ๆ รัฐบาลจะมีการมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลแทน ไม่ต่างกับการกำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่โดยตำแหน่งประธานกตร.คือนายกรัฐมนตรี แต่การกำกับดูแลจริง ๆ จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี


ในมาตรา 8 ของพ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง ระบุเอาไว้ชัดเจนถึงที่มาของคณะกรรมการขายตรงและการตลาดแบบตรง เริ่มตั้งแต่ ตัวประธาน จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขายตรงและการตลาดแบบตรง โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี


คณะกรรมการโดยตำแหน่ง จะมาจากหน่วยงานภาครัฐ 4 คน คือ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการอาหารและยา


ส่วนคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม


กลุ่มแรก จะมีทั้งหมด 4 คน ประกอบไปด้วย ตัวแทนจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง 1 คน สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการตลาดแบบตรง 1 คน ผู้แทน สมาคมหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค 2 คน


กลุ่มที่สอง จะมาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขายตรงหรือการตลาดแบบตรง โดยในจำนวนนี้ จะมาจากภาครัฐหรือเอกชน ก็ได้ แต่อย่างน้อยจะต้องมาจากภาคเอกชนไม่ต่ำกว่า 2 คน


รวมเบ็ดเสร็จคณะกรรมการหรือบอร์ดที่มาโดยตำแหน่งและการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี จะมีจำนวนทั้งสิ้น 13 คน และเมื่อมารวมกับตัวเลขาธิการ สคบ.ในฐานะกรรมการและเลขานุการ อีก 1 คน ก็จะมีทั้งสิ้น 14 คน


บทบาทอำนาจของคณะกรรมการขายตรงและการตลาดแบบตรง มีการเขียนเอาไว้ในมาตรา 13 ทั้งหมด 9 ข้อด้วยกัน แต่การบังคับใช้กฎหมาย สคบ. จะเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแล


ทุกวันนี้ ในวงการธุรกิจขายตรง แทบจะไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำไปว่า บอร์ดหรือคณะกรรม การขายตรงและการตลาดแบบตรงมีบทบาทหน้าที่อะไรส่วนใหญ่รู้จักแต่ชื่อ หน้าตาบอร์ดเป็นยังไงก็แทบไม่มีใครเห็น


สคบ. กลายเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย ส่วนตัวบอร์ดที่ขั้นอยู่ตรงกลางกลับขาดหายไป


จะคิดจะอ่านทำอะไรที ก็กลายเป็นว่า จะมีการคุยกันแค่คน 2 คน คือตัวรัฐมนตรี กับตัวเลขาธิการสคบ. ส่วนตัวบอร์ดขายตรงจริง ๆ กลับใส่เกียร์ว่าง


นับตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีมีการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นมา บอร์ดที่ได้รับการแต่งตั้งในเวลานั้น ผ่านมาถึงวันนี้ ก็ยังเป็นบอร์ดชุดเดิม แม้จะหมดวาระไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังทำหน้าที่ในฐานะบอร์ดรักษาการ หากนับเวลามาถึงวันนี้ ก็เหลือเวลาอีก 2-3 เดือน ก็จะหมดวาระเป็นรอบที่ 2 บทบาทในบอร์ดชุดดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ จากคนในวงการขายตรงเป็นอย่างมากว่า ขาดการทุ่มเทเอาใจใส่ในธุรกิจขายตรง


ด้วยเหตุที่ หนึ่ง.ขาดการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิ ภาพ


สอง. กรณีที่มีเหตุการณ์เร่งด่วน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนตัวเลขาธิการสคบ. ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ แต่ทางบอร์ดขายตรงและการตลาดแบบตรง กลับไม่มีใครออกมาแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจแต่อย่างใด


สาม.บอร์ดที่มาโดยตำแหน่งจากภาครัฐ มีภาระความรับผิดชอบสูง เป็นเหตุที่ทำให้ มักจะมีข้ออ้างเสมอ ๆ ว่า ไม่มีเวลาเข้าร่วมประชุม


ปัจจุบันบอร์ดขายตรงและการตลาดแบบตรง มีคณะกรรมการชุดรักษาการทั้งสิ้น 13 คน ประกอบด้วย


1.นายวีรพงษ์ บุญโญภาส ประธานคณะกรรมการ แต่งตั้งโดยครม.


2. อธิบดีกรมการค้าภายใน กรรมการโดยตำแหน่ง


3. อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรรมการโดยตำแหน่ง


4. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการโดยตำแหน่ง


5.เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรรมการโดยตำแหน่ง


6. นาย ศานิต ศรีสังข์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากเอกชน ครม.แต่งตั้ง


7. รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการที่ครม.แต่งตั้ง


8. นายพิศิษฐ์ แทนทิว ผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาคเอกชน กรรมการที่ครม.แต่งตั้ง


9.นายวิทัส รุ่งเรืองผล กรรมการที่ครม.แต่งตั้ง


10. นายคมศักดิ์ อำพันธ์ยุทธ์ ผู้แทนสมาคมขายตรง กรรมการที่ครม.แต่งตั้ง


11. นายบรรจง บุญรัตน์ ผู้แทนสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค กรรมการทีครม.แต่งตั้ง


12. นายวิโรจน์ ณ บางช้าง ผู้แทนสมาคมพลังผู้บริโภคแห่งประเทศไทย กรรมการที่ครม.แต่งตั้ง


13. ไม่ปรากฏชื่อ และ


14. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง


ในจำนวนบอร์ดทั้ง 14 คน มีลาออกไป 1-2 คน ส่วนอีก 1 คน คือ นายคมศักดิ์ อำพันธ์ยุทธ์ ซึ่งได้เสียชีวิตแล้ว


ในยุคนายจิรชัย มูลทองโร่ย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ มีการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามานั่งในบอร์ด 2-3ตำแหน่งที่ว่างลงต่อคณะรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่ทันที่จะได้มีการพิจารณาอนุมัติ นายจิรชัย ก็มาถูกปรับออกจากตำแหน่งเสียก่อน


ถึงวันนี้ ก็คงต้องรอเลขาธิการสคบ.คนใหม่ เป็นผู้เสนอชื่อเข้าไป เพราะถ้าหากดูอำนาจการแต่งตั้งตามกฎหมาย ทางคณะรัฐมนตรี ก็สามารถแต่งตั้งทดแทนได้ โดยไม่ต้องรอให้สคบ.เสนอ


โดยเฉพาะกรรมการบางคน ที่ขาดความพร้อม หรือไม่มีประสบการณ์ในด้านธุรกิจขายตรง ก็ควรแสดง “สปิริต”ลาออก เพื่อเปิดทางให้กับ คนที่มีความพร้อมที่จะเข้าไปนั่งทำงาน อย่างน้อย ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กร มีความน่าเชื่อถือ มากกว่าที่เป็นอยู่


บอร์ดขายตรงและการตลาดแบบตรง ไม่เพียงแต่จะมีการโอนอำนาจให้สคบ.เข้าไปกำกับดูแลธุรกิจขายตรงเท่านั้น หากแต่ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการเข้ามาสนับสนุน การทำงานของสคบ. อีกอย่างน้อย 3 คณะ


เริ่มตั้งแต่ คณะอนุกรรม การกำกับกิจการขายตรงและการตลาดแบบตรง คณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง


คณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะที่ตั้งขึ้น ถ้าเปรียบเป็นรถไฟก็อยู่ท้ายขบวน หากหัวขบวนไม่ขับเคลื่อน การก้าวไปข้างหน้าก็ไม่สามารถดำเนินการไปได้


เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจที่แท้จริงอยู่ที่บอร์ด หากบอร์ดไม่เคลื่อนไหว ก็ส่งผลกระทบไปยังบอร์ดเล็กที่จะต้องใส่เกียร์ว่างไปโดยปริยาย


การที่บอร์ดเล็กและบอร์ดใหญ่อ่อนแอ ก็เหมือนกับเป็นการเปิดช่องให้มีการทำการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะถนนทุกสายถ้าโอนอำนาจการตัดสินใจไปให้สคบ.ทั้งหมด ก็เท่ากับว่าเป็นการ เอาปลาย่างไปฝากแมว


ดร.อัศวิน วัฒนปราโมทย์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการขายตรงและการตลาดแบบตรง เปิดใจกับสื่อฉบับหนึ่งว่า หากการเรียกประชุมบอร์ดเป็นไปโดยความยากลำบาก ก็สมควรที่รัฐมนตรีควรจะไปสรรหาบุคคลที่มีความพร้อมมานั่งในบอร์ดแทน


อย่างน้อย จะทำให้คณะทำงานในระดับล่าง ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา มีช่องทางในการนำเสนอแนวทางตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายไป


ในยุคที่นายจิรชัย นั่งในตำแหน่งเลขาธิการสคบ. มีการตั้งคำถามอย่างมากว่า การเดินหน้าแก้กฎหมายขายตรง เหตุใดจึงเป็นไปอย่างล้าช้า


ทั้งที่ผ่านมา นายจิรชัย ก็ได้ไปเข้าร่วมวงสัมมนากับผู้ประกอบการขายตรงไม่ได้ขาด มีข้อเสนอแนะผ่านสมาคมทั้ง 4 สมาคม เข้ามามากมาย มีการตั้งคณะทำงานเข้ามาศึกษาร่วมกับภาคเอกชนอย่างจริงจัง ถึงการปรับโครงสร้างในการกำกับดูแลธุรกิจขายตรง และการตลาดแบบตรง มีการทำประชาพิจารณ์จากบรรดาตัวแทนหรือนักธุรกิจเครือข่าย เพื่อนำปัญหาไปสู่การแก้ไขผ่านกระบวนการทางกฎหมาย


ลงลึกไปถึงขนาด จะมีการเสนอร่างกฎหมายแยกธุรกิจขายตรง ออกมาจากสคบ.เพื่อเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจขายตรงโดยเฉพาะเฉกเช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)


แต่ผ่านมาถึงวันนี้ บอร์ดขายตรงและการตลาดแบบตรง มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ ออกมาร่วมขับเคลื่อน หรือสนับสนุนให้มีการยกระดับมาตรฐานขายตรงให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ


วันนี้คงต้องถามกันดัง ๆ แล้วล่ะว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหานี้อย่างไร


จะปล่อยให้ บอร์ดชุดปัจจุบัน ที่ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ทนนั่งทู่ซี้ ขัดตาทัพไปวัน ๆ อย่างนี้กระนั้นหรือ


 วัดใจ “สันติ พร้อมพัฒน์”


หมดเวลาถามหาสปิริตบอร์ด


หากรัฐบาล ให้ความสำคัญกับธุรกิจขายตรง และจริงใจที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ก็น่าจะใช้โอกาสนี้ จัดระบบองค์กรให้เข้าที่เข้าทางเสียที


ปัญหาก็คือ ผู้ที่จะมานั่งในบอร์ดขายตรง ต้องรู้ลึกและรู้จริง และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทาง หากไปดึงเอาคนที่ รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ เข้ามา แยกแยะไม่ออกว่าธุรกิจไหน “สีขาว” หรือธุรกิจไหน “สีดำ” การพัฒนาก็ไม่เกิด สุดท้ายระบบมันพัง


ในวงการขายตรงมีผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับในธุรกิจขายตรงมากมาย ถ้ารัฐบาลใจกว้างพอ ไม่มองว่าเป็นการเข้ามาครอบงำองค์กรแห่งนี้มากเกินไป ก็ไม่ควรไปตั้งข้อรังเกียจคนขายตรงกับคนขายตรงด้วยกัน แค่มองตาก็รู้ใจ


แล้วว่า อะไรผิดอะไรถูก เขามีสัญชาตญาณการรับรู้ ที่ดีกว่าคนที่อยู่นอกวงการ


หากปล่อยให้ระบบราชการ ทำงานกับแบบ เช้าชามเย็นชามแบบนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “ขีช้างไล่จับตั๊กกะแตน” 10 ปีก็แก้กฎหมายขายตรงไม่ได้


เหลือเวลาอีกเพียง 1-2 เดือน บอร์ดชุดรักษาการ ก็จะหมดวาระแล้ว ไหน ๆ “ลงดาบ1” ปลด เลขาธิการสคบ.ไปทั้งที ถ้าจะลง “ดาบ 2” ล้างบอร์ดขายตรงและการตลาดแบบตรงอีกสักครั้ง คงไม่ทำให้รัฐมนตรีสันติ พร้อมพัฒน์ ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวเท่าไรกระมัง


อย่างน้อย คนที่มารับตำแหน่งเลขาสคบ.คนใหม่ อย่างนายกำพล วงศ์ศิริ จะได้มีโอกาสแสดงบทบาทอย่างเต็มที่


เหตุก็เพราะเวลานี้มีเรื่องเร่งด่วน ที่รอการแก้ไขมากมาย เริ่มตั้งแต่การแก้ไขกฎหมาย การป้องปราม“แชร์ลูกโซ่” หรือรวมไปถึงการดูแลไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบในกลุ่มผู้ประกอบการด้วยกัน


ธุรกิจขายตรง เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก นับสิบล้านชีวิต ถ้าไม่วางกฎกติกาให้ชัด ปล่อยให้เล่นกันแบบ “มวยวัด”อย่างนี้ ก็เท่ากับประจานความย่อหย่อนการทำงานของตัวเอง


หมดเวลาที่จะถามหา “สปิริต” ของบอร์ดขายตรงและการตลาดแบบตรงแล้ว เพราะขนาดลากยาวมาถึง 2 สมัย ยังเกาะเก้าอี้กันเหนียวแน่นเป็นตุ๊กแก


งานนี้ ถ้าถึงขนาดต้องเอ่ยปากไล่ ก็คงวัดใจ รมต.สันติพร้อมพัฒน์ กันอีกครั้ง !!!


 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น