ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อย.สั่งปรับโฆษณาผิดกฎหมาย พบไม่ได้รับอนุญาต/โอ้อวดเกินจริง







Image (Mobile)

 


สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งระงับเปรียบเทียบปรับโฆษณาผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์อาหารยาเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตและโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสกัดกั้นโฆษณาที่ผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค วอนผู้บริโภคหากพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายขอให้แจ้งที่อย. โดยด่วน


ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยว่า ขณะนี้ทางสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดําเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสําคัญ จะมีการดําเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดําเนินคดีและแจ้งให้เจ้าของผลิต ภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที


พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดําเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยบูรณาการการทํางานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับ


การคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สําหรับในส่วนภูมิภาคมอบให้สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดดําเนินการ


ภญ.ศรีนวล กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา อย.ได้มีการดําเนินคดีเกี่ยวกับการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร จํานวน 142 ราย ผลิตภัณฑ์ยา จํานวน 11 ราย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จํานวน 8 ราย และเครื่องสําอาง 1 รายรวมจํานวนทั้งสิ้น 162 ราย ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียมและเว็บไซต์ โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงและไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น โฆษณาน้ำว่านหางจระเข้


โดยมีเนื้อหาที่ทําให้เข้าใจว่าสามารถรักษาป้องกันโรคมะเร็งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างช่วยลดอาการวัยทองในผู้หญิงช่องคลอดแห้ง ช่วยปรับสมดุลร่างกาย ป้องกันบําบัดฟื้นฟูโรคต่างๆ ทั้งเอดส์มะเร็ง เป็นต้น อ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ อ้างรักษาอาการแขนขา ไม่มีแรงอาการปวดเข่า ปวดเมื่อยอ้างช่วยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดโรคหัวใจกระดูกทับเส้น ประสาทตาอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคปอด เป็นต้น


ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้สําหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จโฆษณาขายยา โดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์พบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น


 ภญ.ศรีนวล เสริมต่อว่า อย. จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิต ภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ดาวเทียมเคเบิลทีวีวิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์นิตยสารต่างๆ เพื่อมิให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวดเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภคโดยดําเนินงานร่วมกับ กสทช. และ บก.ปคบ. อย่างใกล้ชิดและดําเนินคดีกับผู้โฆษณาและเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค จึงขอเตือนมายังผู้บริโภคควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นข้อความโฆษณา หรือการนําบุคคลมีชื่อเสียงมาอ้างอิงว่าใช้แล้วได้ผล อย่ารีบตัดสินใจซื้อควรศึกษาข้อมูล สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาต และอาจมีสารอันตรายเป็นส่วนผสม ทําให้ได้รับผลข้างเคียงต่อร่างกาย ขาดโอกาสในการ รักษาที่ถูกต้องได้


 


 


 


 


Credit By : http://www.taladvikrao.com/


 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น