ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

‘สันติ’เดินหน้าล้างบาง เชือด‘จิรชัย’พ้นสคบ.







Capture (Mobile)

 


แฉเบื้องหลังเด้ง จิรชัย มูลทองโร่ย พ้นเลขาธิการสคบ. เหตุรัฐมนตรี เดินหมากดึงเด็กในคาถา สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สวมตำแหน่ง หลังถูกแขวนในกระทรวงยุติธรรมมาหลายปี อ้างทำงานไร้ประสิทธิภาพ ส่อพฤติกรรมมีผลประโยชน์ทับซ้อนบริษัทเอกชน ขัดแย้งกับคณะทำงาน ลามไปถึงหน้าห้องรัฐมนตรี แถมการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน


 หาเหตุปลดเพื่อเปลี่ยน


อ้างข้อร้องเรียนเพียบ


เด้ง จิรชัย มูลทองโร่ย พ้นตำแหน่งเลขาธิการสคบ. !!!


นับเป็นกระแสข่าวที่ช็อค คนในวงการขายตรงแบบชนิดที่ใครต่อใครคาดไม่ถึง หลังจากที่มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามการเสนอเข้าสู่วาระจรของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ให้ นายจิรชัย มูลทองโร่ย พ้นจากตำแหน่งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป


นายจิรชัย ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสคบ. เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 หากนับอายุงานในตำแหน่งจนพ้นวาระก็ตกประมาณ 1 ปี กับ 1 เดือน ผ่านการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาถึง 3 คน


ในยุคของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ถือเป็นยุค “น้ำผึ้งหวาน” การประสานงานเป็นไปอย่างราบรื่น มีการริเริ่มตราสัญลักษณ์มาตรฐานสินค้า รูปทรง 3 เหลี่ยม ที่ใครต่อใครต่างโจมตีว่า เป็นการงาบประโยชน์ 3 ฝ่าย แม้จะเผชิญกับแรงต้านจากผู้ประกอบการจำนวนมาก แต่สุดท้ายนายจิรชัย ก็สามารถผลักดันจนเป็นผลสำเร็จ


หลังจากนั้นเข้าสู่ยุคนายวราเทพ รัตนากร การนั่งเก้าอี้ในตำแหน่งเลขาธิการสคบ.ก็ไม่มีเค้าลางว่าจะปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด


แต่ครั้นมาถึงยุครัฐบาลปู 5 มีการปรับเปลี่ยนนายสันติ พร้อมพัฒน์ มาเป็นรมต.ประจำสำนักฯ กำกับดูแลสคบ. กลับกลายเป็น “น้ำผึ้งขม” นายจิรชัย กลับอยู่ในสภาพที่วางตัวไม่ถูก


ทั้งที่สไตล์การทำงานของนายจิรชัย ก็ใช่ว่าจะเป็นประเภท “ยอมหัก ไม่ยอมงอ” ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง หรือบีบรัดจนเกินไป ก็จะโอนอ่อนผ่อนตาม ในทุกเรื่อง


ปมเงื่อนที่นำไปสู่การเด้งนายจิรชัย แหล่งข่าวระดับลึกในทำเนียบเปิดเผยกับ “ตลาดวิเคราะห์ว่า” มีที่มาจาก 3 -4 กรณีด้วยกัน


กรณีแรก มีการร้องเรียนไปยังนายสันติ พร้อมพัฒน์ เกี่ยวกับกรณีการที่นายจิรชัย มีสายสัมพันธ์ กับบริษัทเอกชนขายตรง หลายแห่งอย่างออกหน้าออกตา ส่งผลทำให้ภาพลักษณ์องค์เสีย และส่อว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน


กรณีที่สอง ทำงานไม่เข้าขากับคณะทำงานของรัฐมนตรี โดยเฉพาะตัวเลขานุการรัฐมนตรี


กรณีที่สาม ทำงานแบบไร้ยุทธศาสตร์ ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน


ถือเป็นช่วงจังหวะที่ พอเหมาะพอดี สำหรับการสร้างความชอบธรรมในการ หาเหตุปลดนายจิรชัย เพื่อเอาคนใหม่มานั่งในตำแหน่งนี้แทน


โดยเฉพาะตัวนายอำพล วงศ์ศิริเอง ก็เป็นสายตรงจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือ “เจ๊แดง” ที่ใครต่อใครต่างก็รู้ดีว่า ถูกแขวนตำแหน่งเอาไว้ ตั้งแต่สมัยประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล


ประกอบกับ ตัวนายจิรชัยเอง ก็ถูกเลื่อยขาเก้าอี้มาหลายครั้งหลายครา เริ่มต้นตั้งแต่กระบวน การสรรหา สู่การพิจารณาคัดเลือก ก็ถูกโจมตีอย่างหนัก จากคนในสคบ.ทั้งที่เป็นอดีตเลขาคนเก่า รวมไปถึงแคนดิเดต ที่อกหักผิดหวัง


กับการที่ถูกผลักเป็นเบอร์ 2 เนื่องจาก ความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ว่าเหนือว่าทุกด้าน เพียงแต่อ่อนในด้านอาวุโส รวมไปถึงการต่อเชื่อมกับฝ่ายการเมือง ยังไม่เชี่ยวชาญช่ำชองเหมือนกับนายจิรชัยเข้าทำนอง “มือถึง” แต่ “บุญไม่ถึง”


ความขัดแย้งระหว่างนายจิรชัย กับรองเลขาสคบ.ท่านหนึ่ง ก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำมาช้านาน มีการออกข่าวทำลาย ผ่านสื่อกระแสหลักหลายฉบับ ทั้งกรณีเรื่องการงุบงิบเงิน ถ่ายทอดสดช่อง 11 จนนายจิรชัย ต้องหอบหลักฐานมาแก้ต่างไม่ได้หยุดหย่อน


มีการกล่าวหาว่ามีการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง ด้วยวงเงิน 30 ล้าน ผ่านอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ที่เคยมานั่งกำกับดูแลสคบ.ถึงขนาดที่มีการยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มาแล้ว


แต่นายจิรชัย ก็ผ่านด่านทดสอบมาได้อย่างหวุดหวิด ประกอบกับ แบ็คทางการเมือง ยังแข็งปั๋ง โดยเฉพาะในยุคนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ดูจะเป็นห้วงเวลา ที่นายจิรชัย มีความสุขที่สุด


แต่เมื่อผ่านมาถึงยุคนายสันติ พร้อมพัฒน์ เงื่อนไขหลาย ๆ อย่างกลับเปลี่ยนไป


เป็นธรรมดาที่ใครขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ก็อยากได้คนที่ตนเองไว้ใจมาร่วมงาน โดยเฉพาะการดึงเอานายอำพล วงศ์ศิริ ข้ามห้วยจากตำแหน่งผู้ตรวจการกระทรวงยุติธรรม มานั่งตำแหน่งเลขาธิการสคบ.แทนนายจิรชัย ย่อมไม่ใช่ “อุบัติเหตุ” หากแต่เป็นการตระเตรียมการเอาไว้อย่างเป็นระบบ


เริ่มตั้งแต่กระบวนการป้อนข้อมูลการทำงาน จากคนที่ยืนอยู่คนละมุมของนายจิรชัย รวมถึงการหาเหตุผลสนับสนุนจากคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง


สุดท้ายก็มาจบด้วยเรื่องประสิทธิภาพการบริหาร ที่ดูจะเป็นข้ออ้างที่ดีที่สุด สำหรับการโยกย้ายข้าราชการ


บทบาทของสคบ. ในยุคของนายจิรชัย มีการกล่าวหาว่ามิได้ทำงานในเชิงรุก เพื่อป้องปรามการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างจริงจัง เทียบกับองค์กรภาคประชา ชน อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับดูโดดเด่นกว่า


รวมไปถึง การบังคับใช้กฎหมาย ก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหย่อนยาน มีการปล่อยให้กิจการขายตรงนอกรีตเข้ามาทำความเสียหายให้กับประชาชนซ้ำซาก


ทั้งที่ กฎหมายที่มีอยู่ในมือ สามารถคัดกรอง หรือบังคับใช้ เพื่อเป็นการ “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” ได้ แต่ก็ยังมีเหตุการณ์หลอกลวงประชาชน เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า


พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง ฉบับ พ.ศ.2545 หากนับจากวันประกาศบังคับใช้มาถึงวันนี้ ก็เข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว ถือเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจสคบ.มาก พอที่จะควบคุมพฤติกรรมผู้ประกอบการทั้งระบบได้


แต่ในทางปฏิบัติจริง กฎหมายกลับเอื้อมไปแตะไม่ถึง ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการบางกลุ่ม มีการทำธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย ท้าทายอำนาจรัฐ


 


ชักกระบี่ช้าไม่กล้าฟัน


ขายตรงป่วนคุมเกมไม่อยู่


อำนาจของสคบ. มีกฎ หมายหลายมาตรา ที่กำหนดขอบเขตอำนาจเอาไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่กระบวนการพิจารณาใบอนุญาตประกอบการ การตรวจสอบพฤติกรรมผู้ประกอบการ หรือรวมไปถึงการเพิกถอนใบอนุญาต


ไล่เลียงมาตั้งแต่มาตรา 18 มีการเอาไว้ในกฎหมายชัดเจนว่า ให้อำนาจสคบ. รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการ และมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง


โดยผู้ประกอบการรายใด ที่ประสงค์จะยื่นขอรับใบอนุญาต ก็จะต้องยื่นข้อเสนอตามหลักการ มาตรา 38 มาตรา 39 มาตรา 40 และ มาตรา 41


สรุปกันง่าย ๆ ก็คือ จะต้อง มีการยื่นแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ชัดเจน รวมไปถึงชื่อกิจการ ถิ่นฐานที่อยู่ ประเภทสินค้า และวิธีการขายและให้บริการ พร้อม ๆ กัน


แผนการตลาดก็ต้องเป็นแผนที่มีระบบการจ่ายอย่างสมเหตุสมผล ไม่สูงเกินความเป็นจริง ขณะเดียวกันสินค้าก็จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย


ในการยื่นขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 41 กำหนดเอาไว้ว่า หากการยื่นข้อเสนอเข้าหลักเกณฑ์ ทางสคบ.จะต้องแจ้งผลให้ผู้ประกอบการทราบภายใน 45 วัน


นี่คือ หลักการเบื้องต้น ในการพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง


แต่เมื่อมาดูข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การพิจารณาใบอนุญาตขายตรงและการตลาดแบบตรง ยังมีกิจการบางรายที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วยังดำเนินธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย


มีการเล่นนอกกติกา สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกันในทางแข่งขัน ทำตัวอยู่เหนือกฎเกณฑ์ จนสังคมตั้งคำถามว่า กฎหมายขายตรงมีเอาไว้เพื่ออะไร


มาตรา 19 มีการเขียนเอาไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวน ให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน จากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น


แต่จากสภาพที่เป็นจริง กลับมีบริษัทขายตรงจำนวนมากมาย ที่ยังจ่ายผลประโยชน์ในรูปแบบค่าแนะนำหรือค่าสปอนเซอร์กันอย่างโจ๋งครึ่ม


ในมุมมองของผู้ประกอบการหลายค่ายมองว่า การจ่ายผลตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย เป็นหัวใจสำคัญของการขยายเครือข่าย เพราะหากสมาชิกรายใหม่เข้ามา ไม่สามารถได้รับผลประโยชน์เร็ว ก็จะทำให้หมดไฟในการทำงาน


เมื่อมีบริษัทขายตรง บริษัทหนึ่งทำได้ บริษัทอื่น ๆ ก็ต้องแห่ทำตาม ยิ่งแห่ตามกันมาก ๆ ก็ยิ่งทำให้มีการใส่ตัวเลขกันมาก ๆ บางรายให้ค่าแนะนำสูงถึง 100 % ของ PV ของผู้ที่ได้รับการแนะนำด้วยซ้ำไป


เรื่องนี้ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่นายจิรชัย ถูกโจมตีว่า ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการสมยอม หรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการขายตรง


ทั้งที่ความผิดในมาตรา 19 ถือเป็นมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรง โดยบทกำหนดโทษ ในมาตรา 46 เขียนเอาไว้ว่า ...”ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท


 


ปล่อยธุรกิจเถื่อนเกลื่อนเมือง


ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจเต็มมือ


ไม่เพียงแต่ มาตรา 19 ที่มีการเรียกร้อง ให้สคบ.เร่งแก้ไขกฎหมาย หากแต่ยังมีกฎหมายอีกหลายมาตรา ที่สร้างความสับสนให้กับคนทำธุรกิจขายตรง


โดยเฉพาะมาตรา 38 มีการเขียนเอาไว้ว่า บุคคลใดประสงค์จะประกอบธุรกิจขายตรงหรือประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด


รวมไปถึงมาตรา 39 คำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ประกาศกำหนดเอาไว้ ทั้งชื่อของผู้ประกอบการ ภูมิลำเนา ประเภทหรือชนิดของสินค้าหรือบริการ หรือวิธีการขายสินค้าหรือบริการ


ใน 2 มาตรานี้ ถือเป็นประตูด่านแรก ที่ใครจะมาทำธุรกิจขายตรง จะต้องผ่านการพิจารณาตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่คณะกรรมการกำหนด


แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ ยังมีกิจการหลายแห่ง ที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของการยื่นคำขอใบอนุญาตขายตรง แต่ก็ยังมีการทำธุรกิจขายตรงได้


กรณีปัญหาธุรกิจขายตรง บริการเติมเงินออนไลน์ เป็นกรณีศึกษาที่สนใจกรณีหนึ่ง ที่มีหลายฝ่ายมองว่า กฎหมายควบคุมการดำเนินธุรกิจขายตรงยังหย่อนยาน ขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ เข้าทำนอง ห้ามด้านหนึ่งก็ไปปูดอีกด้านหนึ่ง


กิจการเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรง แต่ทำธุรกิจขายตรงได้ ก็เลยเกิดคำถามกับบรรดาผู้ประกอบการขายตรงที่ถือใบอนุญาตทั้งหลายว่า ถ้าอย่างนั้น ทำไมจะต้องไปขอใบอนุญาตขายตรงให้เสียเวลา


ทำไมต้องเข้าไปสู่ระบบการกำกับดูแล จากสคบ. ที่มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย การมีใบอนุญาตกับการไม่มีใบอนุญาตต่างกันตรงไหน


ทั้ง ๆ ที่ ถ้าหากจะมาพิจารณา ดูกฎหมายขายตรง ในมาตรา 20 มีการเขียนเอาไว้ชัดเจนว่า... “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจขายตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้


หรือในมาตรา 27 ก็มีการเขียนเอาไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง เว้นแต่จะได้รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง ตามพระราชบัญญัตินี้


นอกจากนี้ ในบทกำหนดโทษ ก็มีการเขียนเอาไว้ในมาตรา 47 ว่า...”ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 หรือมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืน ก็จะมีการปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท


กฎหมายมีการเขียนเอาไว้ชัด แทบไม่ต้อง “ตีความ” เพราะถ้า กิจการใดที่ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง หากทำธุรกิจในลักษณะขายตรงหรือตลาดแบบตรง ก็ถือว่า “ผิดกฎหมาย”


 


ดูกรณีเงื่อนงำจาก“ท็อปอัพทูริช”


อีกปมเงื่อนแห่งการปลด


สิ่งที่สร้างความคลางแคลงใจใครต่อใครเป็นอย่างมาก ก็คือ มีการนำเอาประเด็นการพิจารณาเบื้องต้นของสคบ. ไปประกาศให้สาธารณะชนทั่วไปเข้าใจว่า นี่คือ ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย


ในคำชี้แจงของบริษัท ท็อป อัพทูริช จำกัด หนึ่งในกิจการที่ทำธุรกิจขายตรงบริการเติมเงินมือถือออนไลน์ มีการกล่าวอ้างคำวินิจฉัยของสคบ. ในมาตรา 38 และมาตรา 39 ว่า กิจการแห่งนี้ไม่จำเป็นจะต้องขอใบอนุญาตขายตรง เนื่องจากการทำธุรกิจไม่เข้าข่ายขายตรง


แต่ก็มีหมายเหตุแนบท้ายเอาไว้ว่า ถ้าหากเข้าองค์ประกอบขายตรง สคบ.จะมีการเรียกดูแผนการจ่ายผลตอบแทนว่า overpay หรือไม่


ถ้าไม่ overpay ก็ดูเสมือนว่า เป็นการยอมรับโดยพฤตินัยว่ากิจการแห่งนี้ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบขายตรงได้โดยไม่ต้องอยู่ในความควบคุมของกฎหมายขายตรง


แต่ถ้า overpay นั่นก็หมายความว่า กิจการแห่งนี้ จะต้องถูกผลักเข้าสู่การควบคุมโดยกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนชน


ถ้าหากวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ระหว่างบริษัทที่ขอใบอนุญาตถูกต้อง กับกรณีท็อปอัพทูริช จะเห็นว่า การที่กิจการขายตรงที่ขอใบอนุญาตถูกต้อง มีความเสียเปรียบ กิจการที่ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต หลายด้านด้วยกัน


ประเด็นแรก จะต้องดำเนินธุรกิจให้อยู่ในกรอบของกฎหมายขายตรงอย่างเคร่งครัด


ประเด็นที่สอง หากกิจการที่ไม่มีใบอนุญาต กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายขายตรง ก็จะไม่มีผลกระทบต่อสถานะของกิจการ เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตให้เพิกถอน


ในกฎหมายขายตรงมาตรา 42 เขียนเอาไว้ว่า... “กรณีปรากฏแก่นายทะเบียนในภายหลังว่า ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายใด ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ไม่เป็นไปตาพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอน”


เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในกรอบกับคนที่อยู่นอกกรอบ มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันหลายขุม จะเท่ากันก็เพียงกรณีเดียวคือ กรณีมีการกระทำการที่เข้าข่ายธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” หากเกิดความเสียหายส่งผลกระทบต่อประชาชน โอกาสที่กิจการทั้ง 2 ประเภท จะได้รับโทษ ก็มีโอกาสเท่า ๆ กัน


ในด้านการทำธุรกิจ ฝ่ายบริหารของกิจการแห่งนี้ ออกมายอมรับว่าเลือกที่จะใช้การขายแบบ MLM โดยเชิญชวนผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือ มาร่วมทำการตลาด และจ่ายผลประโยชน์ตามแผนการตลาด


เพราะนี่คือ โอกาส และช่องทางที่จะทำให้เครือข่ายของ ท็อป อัพทูริช เติบโตได้รวดเร็วที่สุด


เมื่อกิจการหนึ่งทำได้ กิจการที่สอง กิจการที่สาม ก็เริ่มตามมา มีการกำหนดราคาค่าสมาชิก หรือค่าแฟรนไชส์ กันตามใจชอบ จาก 1,000 บาท ก็ขยับเพิ่มขึ้นไป 2,500 บาท


จ่ายผลประโยชน์กันแบบรายวัน หรือเลือกที่จะให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องค่าแนะนำ หรือผลตอบแทนตามแผนการตลาดได้


นี่คือ คำตอบที่ว่า ทำไมกิจการขายตรงและการตลาดแบบตรง ทั้งที่ดำเนินธุรกิจแบบ “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์”จึงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด


ประการต่อมา ในกรณีที่กิจการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตขายตรง แต่มาทำธุรกิจขายตรงเท่านั้น ในบทเฉพาะกาล พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ระบุเอาไว้ชัดเจนในมาตรา 56 ว่า...”ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบการธุรกิจตลาดแบบตรงที่ประกอบธุรกิจดังกล่าว ที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ดำเนินการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ภายในระยะเวลา 120 วัน”


อธิบายความง่าย ๆ ก็คือ กิจการที่ทำธุรกิจในรูปแบบขายตรงหรือการตลาดแบบตรง หากยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง ก็จะต้องเร่งดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตภายในระยะเวลา 120 วัน


เพราะฉะนั้น หากไม่มีการดำเนินการ ภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็จะไปเข้าความผิดมูลฐานในมาตรา 47 ว่าด้วยเรื่องการฝ่าฝืนมาตรา 20 และมาตรา 27


นี่คือ อีก 1 คำถาม ที่ถามว่า ทำไมสคบ.ไม่ยอมทำอะไร ...


ปัญหาในการ จัดระเบียบธุรกิจขายตรง ยังเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่อาจดึงเอาผู้ประกอบการเข้ามาสู่กระบวนการตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง


ยังมีกิจการอีกจำนวนนับร้อยแห่ง ที่ยังเล็ดลอดการตรวจสอบ ขาดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ แม้ล่าสุดสคบ.สมาคมธุรกิจเครือข่ายขายตรง หรือ TDNA จะดังเอาสถาบันพยากรณ์เศรษฐกิจ เข้ามาดำเนินการจัดระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร


ทั้งที่ในทางกฎหมาย เป็นอำนาจอันชอบธรรม ที่สคบ.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้


ในกฎหมายขายตรง มาตรา 5 มีการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปดำเนินการ ตรวจสอบกิจการที่ต้องสงสัย ได้ 3 ทางด้วยกัน


ทางแรก ออกหนังสือให้บุคคลที่ต้องสงสัย มาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง หรือชี้แจงเป็นหนังสือ รวมไปถึงการส่งบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา


ทางที่สอง สามารถเข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบการตลาดแบบตรง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหรือตรวจดูเอกสารได้


ทางที่สาม เก็บหรือนำสินค้าในปริมาณพอสมควร ไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบวิเคราะห์ว่าสินค้าถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่


แต่จุดอ่อนของ กฎหมายมาตรา 5 ก็คือ กฎหมายให้อำนาจในการเข้าไปตรวจสอบ แต่ไม่ได้มีการเขียนบทลงโทษ หรือเอาผิดกับผู้ที่ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวก ทำให้ระบบการตรวจสอบยังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สคบ.ไม่สามารถเข้าไปล่วงรู้ได้ว่า กิจการที่ได้รับใบอนุญาตไป มีการดำเนินธุรกิจหรือไม่ หรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายขายตรงกำหนดเอาไว้หรือไม่


ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงแค่การทำหนังสือตอบรับ สอบถามแบบสมัครใจ ทั้งที่รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่ามีกิจการที่รับใบอนุญาตไป 700- 800 แห่ง แต่ที่กล้าแสดงตัวตนออกมาจริง มีเพียง 353 แห่งเท่านั้น


หากจะสังคายนาขายตรง คงต้องดูข้อกฎหมาย ที่ยังบกพร่อง พร้อม ๆ กับดูข้อกฎหมาย ที่ยังขัดกับหลักธุรกิจขายตรง ในเวลาเดียวกัน


เพราะวันนี้ ธุรกิจขายตรง เดินหน้าไปไกลแล้ว หากกฎหมายยังล้าหลัง แยกแยะไม่ออกว่า ใครดีใครเลว บอกได้เลยว่า อนาคตธุรกิจพังไม่เหลือซากแน่นอน


กรณีการปลด นายจิรชัย มูลทองโร่ย พ้นเก้าอี้สคบ. ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ปัญหาที่รออยู่เบื้องหน้า ทั้งเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมไปถึง การเดินหน้าจัดระเบียบขายตรง ยังมีโจทก์ที่ท้าทายรอการแก้ไขอีกมากมาย


ไหน ๆ ก็รู้ปัญหาในสคบ. ลึกขนาดนี้ เมื่อกล้าเปลี่ยนตัวบุคคล ก็น่าจะเปลี่ยนระบบ ยกเครื่องกฎหมายสคบ.กับขายตรงแยกกันให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที อย่างน้อย ก็จะได้พิสูจน์ให้คนเห็นว่า มาเพื่อแก้ไข ไม่ได้มาเพื่อตอบสนองทางการเมือง








 

 


 


 


 


Credit By : http://taladvikrao.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น