ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

เลขาฯ สคบ. แอ็คชั่นแรง ฮึ่ม! ใบสั่ง รมต.จัดระเบียบขายตรง (MLM)


ไม้เด็ด สคบ.ยุคเลขาธิการคนใหม่ จิรชัย มูลทองโร่ย เข้มเต็มรส...ก้าวแรกผู้ประกอบการต้องทำ ตราสัญลักษณ์...คืบต่อไปจัดระเบียบบ้านขายตรง ใครดีรักษา ใครเสียฟันทิ้ง...แจงผู้ประกอบการควรเข้าสังกัดสมาคมใด สมาคมหนึ่งด่วน เคลียร์ตัวเองขั้นต้น ก่อน สคบ.จะลงมือสอบจริง...ตั้งธง ฟันขายตรงที่ขอจดแจ้ง อยู่หรือตายต้องขอใบมรณะบัตร ถ้าไม่ทำยึดใบอนุญาตคืน...ตามติดมาตรการเฉียบ เดินตามก้น รมต.วรวัจน์ ทุกกระเบียดนิ้ว...เข้มแต่เอาจริง..!! นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดใจให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานี INTV และ นสพ.ตลาดวิเคราะห์ ถึงนโยบายการปฏิบัติงาน ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง เลขาธิการ สคบ. คนใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้


นักข่าว : ตำแหน่งที่ได้รับมีผลตั้งแต่เมื่อไหร่
เลขาธิการ : ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งมา คือวันที่ 4 สิงหาคม 2555


นักข่าว : เตรียมตัวอย่างไรที่จะมาดำรงตำแหน่ง
เลขาธิการ : การเตรียมตัว สำหรับตำแหน่งเลขาธิการ สคบ. เหมือนเป็นฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามีบอร์ดใหญ่คือ บอร์ดการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในกฎหมาย มีนายกฯ ทั้ง 4 คนเป็นประธาน และมีส่วนระดับข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตามที่ ครม.แต่งตั้งมีทั้งหมด 8 คน
ฉะนั้น ในส่วนของ สคบ.เดิมเรามีวิสัยทัศน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่เกิดปัญหาขึ้นมาทุกฝ่ายก็จะเรียกร้องให้ สคบ.เข้ามาแก้ไข ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาเครือข่ายมือถือดีแทคล่ม ก็ถามหาว่า สคบ.อยู่ไหน ผมจึงได้จัดทำนโยบายต่าง ๆ ตามท่าน วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรีที่กำกับและดูแล สคบ.ได้มอบหมายมา โดยระบบ สคบ.จะต้องเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ เราจะมาทำร้องเรียนแบบเดิม ๆ ดำเนินการแบบเดิม ๆ คงจะไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในปี 2558 มีการเปิดประชาคมเสรีทางการค้าอาเซียน 10 ประเทศก็จะไหลเข้ามา จึงมีความคิดว่า เดิมเราเป็นหน่วยงานกลางคุ้มครองผู้บริโภค ขณะนี้เราควรนำในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคของชาติ เพราะทุกคนเห็นว่ามีปัญหาอะไรก็มาที่ สคบ.
โดยเฉพาะกรณีของ ดีแทค แม้ว่าจะมีหน่วยงาน กสทช.ดูแลเครือข่ายในเรื่องของสัญญาณ แต่ความเสียหาย หากใครเสียหายอย่างไรก็ยังมาแจ้งมาที่นี่ ก็คงจะไม่ตั้งรับอย่างเดียว ปัญหา ดีแทค คงต้องไปบูรณาการชดเชยความเสียหายจากตรงนี้ ดังนั้น ตามวิสัยทัศน์ที่ได้ร่างมา สคบ.ต้องเป็นผู้นำการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติและต้องยอมรับในระดับนานาชาติ นั่นคือกระบวนการการเรียกร้องสิทธิ์ที่จะเข้มข้นขึ้น


นักข่าว : ทีนี้ นโยบายที่ทางรัฐบาลให้กับ สคบ.เป็นอย่างไร
เลขาธิการ : ท่าน รมต.อยากเห็นกระบวนการคุ้มครอง ผู้บริโภคแบบครบวงจร ไม่ใช่มาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือภายหลัง ยกตัวอย่าง ผู้บริโภคซื้อสินค้ามาชิ้นหนึ่งแล้วได้รับความเสียหายมาร้อง สคบ.ก็มีกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นเจ้าหน้าที่ หรือเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นอนุกรรมการ ก็มาฟ้องบังคับคดี ปรากฏว่า 3 ปียังไม่เสร็จ ฉะนั้น ระบบมันควรจะพัฒนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้า เหมือนกับว่าซื้อไปแล้วเกิดความเสียหายใครจะมาการันตี มารับผิดชอบ ตรงนี้นโยบายของท่าน วรวัจน์ จึงมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ด้วยการแสดงสัญลักษณ์ใด ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า Consumer Position Guaranteed ก็หมายความว่า ผู้บริโภคได้แสดงการเยียวยาความเสียหาย ตรงนี้เป็นเรื่องแรกที่จะสร้างความเชื่อมั่น โดยเรามีสินค้าและบริการ 26 รายการ ที่ประกาศมาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 ขณะนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองและคัดเลือกออกมา โดยให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่า ถ้าจะไปซื้อรถยนต์สัก 1 คัน จะไปซื้อเต็นท์รถไหน จะไปทัวร์ต่างประเทศทัวร์ไหนที่ได้รับโลโก้หรือตราสัญลักษณ์จาก สคบ. รวมถึงขายตรงบริษัทไหนที่ สคบ.มอบตราสัญลักษณ์ให้ไปเป็นเครื่องการันตี ตรงนี้จะเป็นนโยบายเร่งด่วน


นักข่าว : ในอดีตที่ผ่านมาสภาพปัญหาที่เราเจอมีผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนมาร้องเรียนกับ สคบ. กระบวนการที่จะหาข้อสรุประหว่างคู่กรณี ใช้เวลานาน ข้อกฎหมายบังคับใช้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ทำให้เกิดปัญหาหมักหมมยาวนาน กรณีอย่างนี้ในปี 2554 ที่ผ่านมายังมีข้อตกค้างอยู่ใน สคบ.มากน้อยเพียงใด
เลขาธิการ : มีครับ ส่วนที่เคลียร์ไม่ได้ก็มี หมายความว่ายังเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ แต่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการชดเชย เรื่องอยู่ในขั้นตอนของศาล บางเรื่องค้างอยู่ที่เจ้าหน้าที่ก็มี คำว่าค้างอยู่ที่เจ้าหน้าที่ เพราะต้องดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นสำคัญ เพราะถ้าฟ้องศาล ศาลก็เรียกไกล่เกลี่ยในชั้นศาลอีก ฉะนั้น การดำเนินการไกล่เกลี่ยก็ต้องดำเนินการอย่างกว้างขวาง ในส่วนตรงนี้เรามีเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ทั้งตัวโฆษณาและตราฉลากทั่วไทย ท่าน รมต.บอกให้ไปดูขั้นตอนของตำรวจเขามีพาวเวอร์ มีวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ย ผมจึงได้เตรียมการนับตั้งแต่เดือนตุลาคม จนถึงปี 2556 เป็นต้นไป จะทำโครงการเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นเจ้าหน้าที่ และไม่ใช้เจ้าหน้าที่คนเดียว ผมจะทำโครงการก็คือ จับมือกับตำรวจร่วมมือกับ สคบ.สภาทนายความร่วมกับ สคบ.ชั้นเจ้าหน้าที่ ผมก็เตรียมห้องไกล่เกลี่ยชั่วคราวไว้แล้ว อยากดำเนินการให้ได้มากขึ้น ในส่วนอนุกรรมการเรามีอยู่ 7 คณะ นั่นก็ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การร้องเรียนมาที่ สคบ.เดี๋ยวนี้ความก้าวหน้าของ สคบ.ผู้บริโภคเขารู้สิทธิ์ รู้ช่องทางมากขึ้น แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องความเสียหาย บางทีมันเกินกรอบความเป็นจริงไปมาก และบางครั้งผู้บริโภคก็ไม่ยอม อาทิ ไปซื้อนมมา 1 แพ็ค นมบูดทานเข้าไปเกิดความเสียหาย ไปหาหมอ หมอจ่ายยาแก้ปวดท้องหมดไปไม่ถึง 1,000 บาท แต่ผู้บริโภคเรียกชดเชยความเสียหาย 300,000 บาท ผู้ประกอบการบอกความเสียหายที่แท้จริงไม่ถึง 1,000 บาท บริษัทจ่ายให้ 10,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่ยอม กรณีอย่างนี้คงไม่ตามใจก็ต้องไปพิสูจน์กันที่ชั้นศาล ถ้าตรงนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็มีอำนาจการพิจารณาเช่นเดียวกัน


นักข่าว : ทีนี้ เรื่องของกระบวนการพิจารณาระหว่างเจ้าทุกข์กับผู้ร้องทุกข์ อำนาจของเราเหมือนเป็นอนุญาโตตุลาการ
เลขาธิการ : ใช่เลย มีอำนาจสั่งชดใช้ค่าเสียหายได้ ตรงนี้จะเข้าล็อคที่ทาง รมต.วรวัจน์ ในเมื่อกรรมการมีคำวินิจฉัยออกมาว่า บริษัทควรจะต้องรับผิดชอบจ่าย หรือให้ประกันจ่าย นี่เป็นส่วนหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วที่เราเจรจาไกล่เกลี่ย เราให้แต่ละฝ่ายได้ยอมสภาพกันตามความเป็นจริง ตามเหตุผล ตรงนั้นเราอาจจะไม่สามารถบังคับได้ก็จริง แต่ลำดับต่อไปนี้ ถ้ากรรมการวินิจฉัยแล้วว่า บริษัทจำเป็นต้องรับผิดชอบ บริษัทก็ต้องชดเชย อันนี้ก็ถือเป็นคำตัดสินได้เหมือนกัน


นักข่าว : กรณีไหนที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด
เลขาธิการ : ในระยะเวลา 2 - 3 ปีที่ผ่านมา กรณีที่ถูกร้องเรียน อันดับ
1. จะเป็นเรื่องรถยนต์ยังคงสูงอยู่ เพราะคนใช้มากปัญหาเยอะตามมา ทั้งรถใหม่ป้ายแดงจองแล้วไม่ได้ รับจองเยอะแต่ผลิตไม่ทัน รถยนต์เก่าตามเต็นท์ไม่บอกรายละเอียดครบถ้วนตามกฎหมาย และการเช่าซื้อรถยนต์ - รถจักรยานยนต์
2. สินค้าบริการทั่วไป ซื้อสินค้าแล้วเกิดความเสียหาย มีการร้องเรียน สคบ.มากขึ้น เพราะผู้บริโภครู้ช่องทางมากขึ้น
3. บ้านและคอนโดฯ ไม่โอนกรรมสิทธิ์และเรื่องสร้างไม่ทันนั้นหายไป แต่เป็นการก่อสร้างที่บกพร่องมาแทน ฉาบปูนไม่แห้ง ก็อกน้ำรั่ว ก็จัดลำดับว่ามีบริษัทไหนบ้างที่มีการร้องเรียนจากลำดับมากสุดไปจนถึงน้อยสุด ซึ่งผมจ้องไว้แล้วมีเกือบ 10 โครงการ ที่มีการร้องเรียนมากเกิน อาจจะมีการเชิญ ผู้ประกอบการมาคุยกันว่า ทำไมถูกร้องเรียนเยอะจัง ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการจัดการกันเอง
4. โทรศัพท์ ธนาคาร และประกันภัย ประเด็นมักจะอยู่ที่ว่า ไปเก็บเบี้ยมาแล้วไม่จ่ายไป แต่ก็มีความจำเป็นเหมือนกัน สำหรับกรณีที่กรมธรรม์ระบุไว้เช่นนี้ แล้วมีข้อยกเว้นไปไม่คุ้มครอง หรือผู้เอาประกันเดิมบอกคุ้มครองทั้งหมด แต่จู่ ๆ นายหน้าเห็นว่า โรคบางโรคเป็นความเสี่ยงของบริษัทก็ไปบอกให้ทางผู้เอาประกันรับสภาพตามข้อยกเว้น ก็ไม่ต้องรับประกัน อันนี้ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ทำครั้งแรกมาคุ้มครองอย่างไรก็ต้องคุ้มครองตามนั้น พอเห็นเขาสภาพไม่ดีก็ให้เขายอมรับสภาพเสีย เรื่องนี้ถือว่าไม่ใช่จรรยาบรรณที่ดี เดี๋ยวนี้มีโฆษณากันเยอะที่บอกว่า ทำประกันโดยไม่ตรวจสุขภาพ ถ้าเกิดไปทำแล้วสุขภาพเขามีปัญหาก็อย่ามีข้ออ้างว่า เป็นมาก่อน เพราะถ้าไม่ตรวจสุขภาพ ก็ต้องรับสภาพก่อน นี่เป็นวงกว้างที่จำเป็นจะต้องรู้


นักข่าว : เรื่องอย่างนี้ กรณีการซื้อบ้านและรถยนต์ก็ดี หรือเกี่ยวกับเรื่องประกันภัยอะไรต่าง ๆ จริง ๆ อำนาจ สคบ.ไม่ได้มีมากถึงขนาดไปยุติการดำเนินธุรกรรมกับเขาได้ แต่เราสามารถใช้อำนาจนี้เข้าไปเจรจากับหน่วยงานหรือองค์กรที่เขารับผิดชอบโดยตรง หมายถึงว่าบูรณาการร่วมกันทำได้หรือไม่
เลขาธิการ : ครับ ในส่วนบูรณาการนี่ก็โอเค เราก็มีกรรมการแต่ละกรรมการ แต่ส่วนสุดท้าย สคบ.คุ้มครองสิทธิผู้ประกอบการ แม้ คปภ.กรมธรรม์เขาบอกว่าเป็นอย่างนี้ แต่เรามองแล้วไม่เป็นธรรมก็ต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล สคบ.เคยฟ้องคดีถึงศาลฎีกา กรณีของประกันไปทำแล้วครั้งแรกบอกว่า คุ้มครองได้หมด พอเขาเป็นโรคขึ้นมา ไม่คุ้มครอง ไม่จ่ายเบี้ยประกัน เราเคยฟ้องฎีกาก็ชนะ ฉะนั้น เราจะเป็นจุดสุดท้ายที่คุ้มครองถึงกระบวนการของการเยียวยาก่อนถึงศาล เพราะเราดูแลในเบื้องต้น สคบ.ยังมีอำนาจครอบคลุม


นักข่าว : มาตรฐานที่ สคบ.กำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบการต้องมีโลโก้/ตราสัญลักษณ์ของ สคบ.เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เราดำเนินการไปถึงไหนแล้วครับ
เลขาธิการ : โดยกรอบกฎหมายวางหลักเกณฑ์ไว้ 3 ข้อ นั่นก็คือ 1. ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค อาหาร ยา เครื่องสำอาง ราคาสินค้า ฉลากสินค้า นี่คือสิ่งที่คุ้มครองผู้บริโภคต้องทำให้ถูกต้อง 2. กฎหมายอื่นที่ธุรกิจนั้นจะต้องทำ 3. ผู้ประกอบการมีกระบวนการเยียวยาความเสียหายให้ผู้บริโภคอย่างไร นี่เป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่า ซื้อสินค้าไปแล้วเกิดความเสียหาย
ผู้ประกอบการชดเชยได้เลย อันนี้คือหลักเกณฑ์ที่เรากำหนดเอาไว้ แล้วเราจะเร่งดำเนินการมอบตราสัญลักษณ์นี้ โดยจับร่วมมือกับบริษัทประกัน 2 บริษัท 1. ทิพยประกันภัย 2. เมืองไทยประกันภัย ส่วน สคบ.เป็นหน่วยงานของภาครัฐเป็นกรอบของกฎหมาย แต่ว่าบริษัทประกันไปดูในเรื่องเบี้ยประกัน ก็ไปคุยกับเขาว่ามีความเสี่ยงเท่าไหร่ ถ้าปีหนึ่งมีความเสี่ยงเท่าไหร่ ก็เอาปัญหานั้นเข้ามาทำประกัน ราคาไปคำนวณ นั่นเป็นส่วนที่เราเร่งรัดอยากจะแสดงตราสัญลักษณ์ให้ผู้บริโภคได้เห็นโดยเร็ว


นักข่าว : ตราสัญลักษณ์ สคบ. เป็นภาคบังคับ/สมัครใจ
เลขาธิการ : คือมันไม่ใช่บังคับ แต่เหมือนเป็นการบังคับไปในตัว ถ้าคุณไม่ทำให้เกิดความ เชื่อมั่น ปี 2558 มีการเปิดเสรีทางการค้าประชาคมอาเซียน เมื่อต่างประเทศเข้ามาสินค้าดีกว่า แล้วมาขอรับตราสัญลักษณ์จาก สคบ.เราเองจะเสียหายด้วย ฉะนั้น คุณจะต้องปรับตัวในระยะเวลาที่เหลือเพียงไม่กี่ร้อยวันนี้แล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้บริโภคจะมองแล้วว่า สินค้าใดที่ดี ก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้ เหมือนเราไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำไมจึงไปมุ่งเรื่องฉลากเบอร์ 5 พอเห็นฉลากก็มั่นใจว่า ประหยัดไฟ
ต่อไปนี้ คุณจะซื้อสินค้าใช้บริการดูที่โลโก้ สคบ.ว่าอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นส่วนราชการเมืองไทยก็จะไปรับรองคุณภาพของสินค้า คอนเซ็ปต์เดียวกับการประหยัดไฟเบอร์ 5 แต่เราเองไม่ได้การันตีตัวคุณภาพสินค้า เราไม่มีหน้าที่การันตี แต่เรามีหน้าที่แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค อย่างไร ถ้าเกิดปัญหา


นักข่าว : สคบ.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่องของการกำกับตรวจสอบดูแลธุรกิจประเภทหนึ่ง คือ ธุรกิจขายตรง อันนี้ก็หมายความว่า กฎหมายให้อำนาจเราเต็มที่ อาทิ การออกใบอนุญาตให้คุณหรือโทษได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีธุรกิจขายตรงมีการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ มีบริษัทรายเล็ก - รายน้อยเกิดขึ้นมากมาย ในกระบวน การควบคุมกำกับดูแลธุรกิจขายตรง ณ เวลานี้ มาตรฐานมีความเข้มข้นเพียงพอหรือยัง
เลขาธิการ : ผมดูอยู่นะว่า คงทราบว่าการทำธุรกิจขายตรงมีหลากหลาย บางคนบอกขาวก็มี เทาก็มีเยอะแยะ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครดีไม่ดี ฉะนั้น ผมเองต้องจัดระเบียบบ้านผมก่อน ธุรกิจขายตรงมาจดทะเบียนกับ สคบ.เกือบ 900 บริษัท แต่ในภาพที่มีการทำธุรกิจจริง ๆ ผมมั่นใจไม่เกิน 200 บริษัท ส่วนที่เหลืออีก 700 บริษัท ไม่รู้หายไปไหน ตรงนี้มาจดทะเบียนแจ้งที่ สคบ. แต่เวลาตายใบมรณะบัตรไม่เคยมาขอ ฉะนั้น ส่วนตรงนี้ผมจะมาทำข้อมูลตามที่ รมต.บอกให้ทำฐานข้อมูลบริษัท ฐานข้อมูลแผนการตลาด ฐานข้อมูลของสินค้าของแต่ละบริษัท นี่คือสิ่งที่ต้องทำ ก็มีการเตรียมการแล้ว ด้วยระบบ IT ที่สามารถตรวจสอบได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือ เรื่องของภายนอก ก็คือ สมาคมขายตรง ในขณะนี้มีอยู่ 4 - 5 สมาคม อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามบริษัทที่สังกัดในนามสมาคม ผมชอบ เพราะว่าอย่างน้อยเขาก็มีส่วนที่มีการกลั่นกรองมาส่วนหนึ่งแล้ว ผมจึงมั่นใจว่า สมาชิกที่จดทะเบียนเกือบ 900 บริษัท มิได้เป็นสมาชิกในสมาคมอื่น ๆ ก็มี เพราะฉะนั้นในส่วนตรงนี้ ก็จะมาจัดระเบียบว่า ที่มาจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2545 ถึงวันนี้กี่ปีแล้ว บริษัทยังดำเนินการอยู่หรือไม่ ก็ต้องมีการรายงานกันบ้าง ซึ่งจะใช้ในเชิงยุทธศาสตร์ประสานงานว่า ยังดำรงธุรกิจนี้อยู่หรือไม่ ถ้าไม่ดำรงธุรกิจนี้ก็ถอนไป ยกเลิกใบอนุญาต ก็ควรจะเคลียร์ข้อมูลตรงนี้ออกไป คือกฎระเบียบตรงนี้อนาคตจะต้องมีการร่างออกมาอย่างแน่นอน สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนแล้วไม่แอคทีฟ ทำแบบลอย ๆ อาจจะเป็นช่องทางในการทำธุรกิจอย่างอื่นแอบแฝงอยู่รึเปล่า
คือที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะมาอ้างว่า คนมีแค่ 7 คน ไปดูธุรกิจนับ 1,000 บริษัท ไม่ไหว ผมบอกเรื่องนั้นเป็นข้อจำกัด ไม่สามารถมาอ้างได้ ต้องไปบริหารจัดการมาว่าจะดูแลกันอย่างไร เดี๋ยวนี้ไม่ต้องมานั่งนับกันทั้งหมด เพราะระบบ IT มันสามารถตรวจสอบกันได้ ในส่วนขายตรง นโยบายของ รมต.วรวัจน์ ท่านบอกว่า เป็นธุรกิจที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ที่สามารถขยายเศรษฐกิจได้อย่างมากมายเหลือเกิน
เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ขายเฉพาะในประเทศ แต่เขาส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ฉะนั้น ในส่วน สคบ.เราเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมอาเซียน วันที่ 4 - 6 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา มีการประชุมที่เมืองไทย ฉะนั้น เราเป็นเจ้าภาพเกี่ยวกับเรื่องการจัดสถานที่ เพราะฉะนั้นทางสมาคมขายตรงอยากจะฝากมาทางอาเซียนด้วยว่า ทำยังงัยตลาดอาเซียนจะเปิดกว้างและยอมรับธุรกิจขายตรง บางประเทศก็ยอมรับแต่ยังต้องไปจดทะเบียนยังต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นธุรกิจที่ทำคุณประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองนี้ แต่อีกแนวหนึ่ง ถ้าหากว่าทำเชิงลบ ก็ทำลายเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองด้วยแล้ว สคบ.ต้องเดินคู่ขนานกันไป ใครดีก็ส่งเสริม ใครที่ทำไม่ถูกต้องคงต้องกำจัดออกไป ซึ่งการกำจัดท่าน รมต.วรวัจน์ ให้ไป MOU กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่จะติดตามว่าใครทำธุรกิจนอกรูปแบบรึเปล่า ใครทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายรึเปล่า เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเชี่ยวชาญในการสืบสวนสอบสวน สคบ.ก็มีข้อมูลที่จะประสานทั้งทางตรงและทางอ้อม อันนี้ก็น่าจะทำให้บ้านเมืองน่าจะดีขึ้น ในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับการขายตรง


นักข่าว : ในเครือข่ายที่ดูแล้วทำธุรกิจที่ไม่ชอบมาพากล คือหมายความถึงจดทะเบียนนอกกรอบธุรกิจที่ขายตรงเขาทำกัน ใน Black list หรือบัญชีรายชื่อของ สคบ.มีจำนวนเท่าไหร่ที่เข้าข่ายที่ต้องเทคแอ็คชั่นกันแล้ว
เลขาธิการ : ตรงนี้ผมเองก็ไม่กล้าที่จะตอบ แต่ที่มองดูแล้วประมาณ 10 กว่าบริษัท มันตี ๆ พูดกันมานานมากแล้ว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องจัดระเบียบกันใหม่ ผมมั่นใจว่าการจะมาดูแลงาน สคบ.ไม่ใช่จะมารบราฆ่าฟันกัน แต่มาขอความร่วมมือกัน มาช่วยกันทำ เพราะแนวนโยบายผมจะไม่เป็นพระเอกคนเดียว ผมต้องการบูรณาการคือ ประการที่ 1. กลไกของรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ประการที่ 2. คือ กลไกของผู้ประกอบการ ถือเป็นต้นน้ำที่ดูแลผู้บริโภค ถ้าเราคุยกับผู้ประกอบการอย่างเข้าใจ ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ผู้บริโภคก็จะได้รับความคุ้มครองอย่างแน่นอน ประการสุดท้ายคือ บูรณาการภาคประชาชน ก็ยังมีหลายภาคส่วนที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังไม่ได้ทำงานร่วมกัน อย่างเช่น มูลนิธิ สมาคมที่เกี่ยวข้อง ผมตั้งใจไว้ว่า อยากจะทำงานร่วมกันในการคุ้มครองผู้บริโภค


นักข่าว : อีกประเด็นหนึ่งคือ กรณีผู้ประกอบการขายตรง ในอดีตที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจ หากใครมีรายได้เท่าไหร่ก็นำไปเข้ากระบวนการระบบภาษีจ่ายรัฐบาล ใครขาดทุนก็รับผิดชอบตัวเอง แต่ ณ วันนี้ มาตรการหนึ่งที่ทางรัฐมนตรี อยากให้ สคบ.ออกมาทำคือ เงินเปอร์เซ็นต์เทจ (Percentage) ของรายได้ 0.4 - 0.15 % ที่ว่าจะต้องเก็บเหมือนกับการเก็บค่าต๋งกับผู้ประกอบการ อันนี้เราดำเนินการอย่างไร
เลขาธิการ : อันนี้ไม่ใช่เรื่องการเก็บต๋ง แต่เป็นเรื่องการคุยกัน ในวัน 28 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา คือ เรามาบันทึกร่วมกันกับเมืองไทย ประกันภัยไทย ว่าอัตราเบี้ยประกันในการการันตีสินค้าหรือบริการสำหรับผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคเกิดความเสียหายบริษัทจะชดเชยความเสียหายอย่างไร ก็มีการยกตัวอย่างขึ้นมาว่า 0.04 - 0.15% ตรงนี้ขอกราบเรียนว่า มันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เพราะถ้าผู้บริโภคเกิดความเสียหายบริษัทประกันจะดูแลอย่างไร แต่ไม่ใช่เงินค่าต๋ง เป็นเงินค่าเบี้ยประกัน เพราะเงินเบี้ยประกันมันไม่เกี่ยวกับผม ผมดูในกรอบกฎหมาย ส่วนอัตราเบี้ยประกันเท่าไหร่นั้น บริษัทประกันก็ต้องไปคุยกับผู้ประกอบการว่า เขามีความเสี่ยงอย่างไร
โดยเฉพาะในอดีตเรื่องของการขายตรง ก็เป็นปัญหาว่า สคบ.จดทะเบียนช้า ซึ่งการจดทะเบียนให้ช้านั้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ให้ผู้จดทะเบียนไม่เข้าใจและก็มีปัญหา ก็ไปกล่าวหาว่าทาง สคบ.เรียกรับเงิน มีการเตะถ่วงและยังมีข่าวออกมาอีกว่า จะต้องจ่ายเงิน 200,000 - 300,000 บาท ไปให้ตำรวจก็ดี ไปให้ผู้บริหาร สคบ.ก็ดี ตรงนี้ยืนยันเลยว่า ผมเองคงต้องจัดการ เพราะว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงฝากเอาไว้ ระดับกระทรวงก็ฝากเอาไว้ มันเสียภาพพจน์ขององค์กร สคบ. เพราะ สคบ.มีความโปรงใส่ สามารถตรวจสอบได้ และซื่อสัตย์มาโดยตลอด
และมีการกล่าวอ้างว่า การที่คุณไปจดทะเบียนต้องเรียกรับเงิน ใครเป็นคนรับไป ซึ่งตรงนี้ผมก็ได้รับคำสั่งมาแล้วว่า จะต้องดำเนินการต่อ และยืนยันชัดเจนว่า ระบบนี้ไม่มีแน่นอน ผมมั่นใจ และถ้าหากพี่น้องประชาชนทราบเบาะแสว่า ใครกระทำการเหล่านี้ แจ้งผมได้โดยตรง


นักข่าว : มีการร้องเรียนธุรกิจบางกลุ่มที่จดทะเบียนทำธุรกิจขายตรงกับ สคบ.มีการปราศรัย เจรจาชักจูง แนะนำผู้ที่เข้ามาร่วมกระบวนการทางธุรกิจ ค่อนข้างจะดูไม่ค่อยน่าไว้วางใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่าน้ำมันระเหยอะไรต่าง ๆ ท่านมีการส่งคนเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ มีการทำธุรกรรมเรื่องนี้บ้างหรือยัง
เลขาธิการ : เป็นส่วนหนึ่ง ก็ได้รับฟังมาแล้วเหมือนกัน เพราะการทำธุรกิจหลายธุรกิจการโฆษณาบอกเล่า ถ้าไม่มีปรากฏในเอกสาร แผ่นพับหรือโบรชัวร์ต้องฝากพี่น้องประชาชนเลยว่า อย่าไปเชื่อ เพราะการที่จะบอกว่าสรรพคุณสินค้าดีอย่างไร ต้องมีการบอกรายละเอียดชัดเจน นี่เป็นข้อกฎหมาย ว่าผู้จำหน่ายอิสระหรือว่ามีการนำไปขายโดยวิธีการขายตรงจะต้องพูดในกรอบที่มีหลักฐานแสดงเท่านั้น การที่ตัวเองไปกล่าวอ้างโอ้อวดหรือพรีเซ็นต์เกินความจริง ก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่นำตัวอย่างมาว่าทานไปแล้วดี ใช้ไปแล้วดี ก็ต้องเรียกมาชี้แจง
ส่วนการสื่อสารผ่านโทรทัศน์ ดาวเทียม ก็ค่อนข้างที่จะเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ว่ามีการโฆษณาสินค้าประเภทขายตรง ประเภทตลาดแบบตรงกันค่อนข้างเยอะ และไปนำผู้ที่มีชื่อเสียงมาเป็นตัวอย่าง มาเป็นพรีเซ็นต์เตอร์ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูกันว่า ท่านใช้จริงไหม เป็นจริงไหม ไม่ใช่ว่ามากล่าวอ้างโดยที่ไม่มีหลักฐานเหล่านี้
ซึ่งปัญหาการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุชุมชนก็ดี สื่อโทรทัศน์ดาวเทียมก็ดี ค่อนข้างจะหละหลวมมาก ท่าน รมต.ก็มีนโยบายที่จะขอความเห็นก่อนทำการโฆษณา แม้กฎหมาย สคบ.มาตรา 29 มีอยู่แล้วที่จะคุ้มครองผู้บริโภค บอกว่าให้ทำความเห็นก่อนทำการโฆษณา ก็ไม่มีใครมาขอความเห็น เราเลยตั้งอนุกรรม การขึ้นมาที่จะตรวจสอบ ถ้าท่านไม่แน่ใจมาขอความเห็นได้ทุกตัวสินค้า
เพราะฉะนั้นในส่วนที่เราจะดูแลขายตรงอยู่นี้ ก็จะเป็นลักษณะที่ว่า ขอต้นน้ำก่อน ขอทำความเข้าใจก่อน ก็นำเรียนมาที่เดิมว่า ผมมาแล้วไม่ใช่มารบราฆ่าฟันกัน กลางน้ำนี่ก็คือ มีเดีย แต่ปลายน้ำคือประชาชนที่ไปซื้อสินค้ามา ตรงนี้กฎหมายที่ประชาชนอยากให้แก้ไข สมัยที่บอกว่าเงินกองทุนสูงหรือเงิน
ค้ำประกันสูง อันนี้ก็เป็นส่วนที่ต้องมาพูดคุยกันอีกที ว่ามันมีความเป็นธรรมอย่างไร
และผู้ประกอบการขายตรงที่กำหนดราคาสินค้า กับส่วนต่างราคาสินค้าที่ค่อนข้างจะสูงมาก ส่วนใหญ่เอารายได้ให้กับทางตัวแทนจำหน่าย 70 - 90% แล้วมาผลักภาระให้กับผู้บริโภคทั้งหมด มันเป็นธรรมรึเปล่า ก็ต้องมาคุยกันว่า เราควรกำหนดเพดานไว้อย่างไร ไม่ใช่ให้ค่าตอบ แทนผู้จำหน่ายอิสระสูงมาก แต่ภาระตกอยู่ที่ผู้บริโภค ผมว่าก็ไม่เป็นธรรม ตรงนี้ถามว่าต้องมีมาตรการเข้ามาดูหรือไม่ ขอตอบอย่างนี้ว่า ผมเข้ามาทำงานเพียงไม่กี่วัน ก็ฟังข้อมูลเท่าที่เราดูในท้องตลาด ยกตัวอย่างต้นทุน 100 บาท แต่ขายในราคา 1,000 บาท ที่อ้างว่าเป็นต้นทุนทางการตลาด เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องรับภาระเต็ม ๆ ก็คงต้องขยับในขั้นตอนต่อไป
ส่วนทางด้านภาษีจะทำอย่างไร วิธีคิดภาษีก็เป็นปัญหาว่า ต้นทุนอยู่ตรงไหน เรื่องอย่างนี้มันควรบูรณาการกัน การค้ามีวินัยหรือไม่ ต้นทุนอยู่ตรงไหนที่เอามาขาย 100 ไปขาย 1,000 ภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม ดูกันอย่างไร อันนี้ก็ต้องดูกันที่ปลายน้ำต้องดูกันที่ผู้บริโภค แต่ไม่ใช่ต้นทุนนิดเดียวแต่ไปขาย 1,000 - 1,500 บาท ผมเองไม่กล้าซื้อ เพราะมันไม่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค


นักข่าว : กระบวนการของขายตรงมีอยู่ 2 - 3 ประเด็น ที่ไม่ควรให้ผู้ที่มาทำธุรกิจกระทำคือ 1. กระบวนการสร้างรายได้ 2. กระบวนการเรื่องผลประโยชน์ 3. กระบวนการในเรื่องของโฆษณา ชวนเชื่อ 4. การสร้างภาพของความยิ่งใหญ่อะไรต่าง ๆ ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่บางคนอาจได้ยินข่าวบริษัทนี้สร้างโรงงานลงทุน 5,000 ล้านบาท แต่ไม่เคยเห็นโรงงานเลย อันนี้ไม่ทราบว่าจะมีกระบวนการตรวจสอบอย่างไร
เลขาธิการ : ครับ ก็คงจะค่อย ๆ หาข้อมูลไป เพราะหลากหลายเหลือเกิน 800 - 900 บริษัท ก็คงจะมาคัดกรองกัน เบื้องต้นก็ขอจัดระเบียบ จัดแถวก่อน ว่าบริษัทไหนบ้างที่ไม่เคยมีสินค้าในท้องตลาดเลย แล้วมันหายไปไหน ก็คงมากลั่นกรองกัน ตรงนี้ก็จะต้องจัดวาระงานในธุรกิจแต่ละธุรกิจว่า ควรดำเนินการอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่าอดีตผมเป็นปลัดอำเภอ ผมอยู่อำเภอ ผมถือหลักว่า ถ้าไม่ออกท้องที่ก็จะไม่รู้จักคน ไม่รู้จักงาน ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสก็จะไปเยี่ยมเยือนทางสมาคมหรือบริษัทก็ดี เพื่อให้ได้มีความใกล้ชิด รับข้อเสนอแนะต่าง ๆ และก็มั่นใจว่า ที่มาทำตรงนี้ก็เพื่ออยากจะมาส่งเสริมคนดี ส่วนคนไม่ดีก็อยากจะจัดการตามระบบกฎหมายต่อไป


นักข่าว : สุดท้ายก็อยากให้ท่านฝากข้อคิดถึงผู้บริโภคว่า การพิจารณาในการเลือกซื้อสินค้า/บริการ กับกลุ่มธุรกิจบริษัทใดก็ดี มีมุมมอง มีหลักการคิดอย่างไร ในการดูแลตัวเองหรือเลือกมาพึ่ง สคบ.
เลขาธิการ : ก็อยากบอกว่า ท่านเป็นผู้บริโภคยุคใหม่แล้ว จะไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ อย่าไปเชื่อมาก อย่าไปฟังที่เขาบอกต่อ ๆ กันมา คนไทยถ้าดีก็จะบอกต่อกัน แต่ถ้าไม่ดีไม่ยอมบอกใคร กลัวถูกตำหนิ ถูกกล่าวหา ตรงนี้อยากให้ระมัดระวังในเบื้องต้นคือ 1. ดูก่อนข้อมูลที่กล่าวอ้างมามันอยู่ตรงไหน 2. ถ้าฉลากสินค้าไม่ถูกต้องและดำเนินธุรกิจไม่ถูกต้องให้แจ้ง สคบ.มา ติดต่อสายด่วน โทร.1166 หรือจะไปขอคำร้องที่ร้านเซเว่นฯ ทุกสาขาทั่วประเทศไทย หรือจะไปติดต่อที่ เทศบาล อบต.อำเภอ ศาลากลางจังหวัดก็ได้ เพราะฉะนั้น สคบ.อยู่ใกล้บ้านท่านแล้ว อยากให้ท่านเป็นผู้บริโภคยุคใหม่ ซื้อสินค้าถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่าลืมนึกถึง สคบ.


นักข่าว : จากกระแสข่าวที่โดนโจมตี มีที่มาที่ไปอย่างไร
เลขาธิการ : ประเด็นร้อนที่เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง เลขาธิการเผยทิ้งท้ายว่า ผมก็ชัดเจน การจะใช้เงินท่านเลขาธิการเป็นคนขออนุมัติ รับผิดชอบหมด มันไม่ใช่เงินส่วนตัว เอาผมไปตีข่าวตั้ง 2 - 3 อาทิตย์ ผมก็ชี้แจงปลัดไปว่า ใบเสร็จหลักฐานและเงินที่ใช้นั้น ไม่เคยรับมาเลย แต่ว่าก็ไปหานายเก่าท่าน ท่านก็ชวนไปที่บริษัท ผมก็ไป ผมก็บอกว่าท่านครับ ขอความกรุณาท่านหน่อยได้ไหม ผมจะถ่ายทอดสดของกรมประชา สัมพันธ์ 166,000 บาท แล้วปรากฏว่าท่านบอกว่าเอาสิ ทำหนังสือมา ผมก็ทำไปปรากฏว่าวันนั้นกรมประชา สัมพันธ์บอกว่า มีปัญหาในการถ่ายทอดสด คือถ่ายทอดสดไม่ได้ ก็ต้องบันทึกเทปแล้วค่อยมาออกวันที่ 7 เรื่องแค่นี้ ถามผมก็จบแล้ว
แต่นี่มีการทำเรื่องไปถึงรัฐมนตรี ทำเรื่องไปถึงปลัด จะเอาผมให้ตาย เห็นเหตุการณ์ในตอนแรกผมก็จะชี้แจงเหมือนกัน พรรคพวกบอกว่าไม่ต้องแล้ว เดี๋ยวเรื่องก็จบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มันไม่บังควรจะเกิดขึ้น ผมเองทำอะไรทำด้วยความถูกต้อง เพราะฉะนั้นยืนยันได้ 32 ปี ในชีวิตข้าราชการ ไม่เคยที่จะมีความด่างพร้อยในเรื่องเหล่านี้


นักข่าว : ทางสื่อก็อยากให้ท่านมาชี้แจงบ้าง เพราะเราฟังแต่ข่าวฝ่ายเดียว คนให้ข่าวเราก็ไม่ทราบเจตนาเหมือนกัน
เลขาธิการ : ผมถือว่าถ้าสื่อรับมาอย่างนี้ สื่อต้องถามก่อนซิว่า เป็นยังไง เพื่อนผมที่เป็น ผู้กำกับบอกว่า เรื่องนี้มันสร้างความเสียชื่อเสียง จะต้องฟ้อง ผมบอกว่าให้เลิกรากันไป แต่ต้องการรู้ว่า ใครที่ไปให้ข้อมูลกับสื่อ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จบนี่คือตัวใบเสร็จ จากกรมประชาสัมพันธ์ 166,000 บาท ผมก็จ่าย เขาก็มาอัดในวันที่ 30 แล้วก็ไปออกรายการในวันที่ 7 ก็มีหนังสือไปชี้แจงว่า ไม่สามารถออกรายการในวันนั้นได้ก็จบ ซึ่งผมก็มีหนังสือไปถึงเขา


เพราะอันนี้มันจะทำให้ผมสะดุด ตรงที่ว่าถ้าเราจะไปประสานกับผู้ประกอบการ เกิดปัญหาอย่างนี้อีกแล้วเราจะทำอย่างไร แทนที่จะร่วมมือกันทำงานใช่ไหม แต่ถ้าว่าผมไปเอาเงินมาแสนนึงแล้วเอาไปใช้ส่วนตัวสิ ตรงนี้ก็ฟ้องกันไปเถอะ ผมก็เอามาใช้ในงาน นี่เป็นเรื่องที่สื่อต้องระมัดระวังด้วย แต่ถ้าผมจะฟ้องสื่อเพื่อที่จะให้สื่อคายมาว่า ใครเป็นคนไปจ้างสื่อ ใครเอาข้อมูลมาให้สื่อ ตำรวจก็ได้เตรียมการแล้ว ผมบอกเลิกไม่เอาขออโหสิกรรม
นักข่าว : ทางสื่อจะได้ยินข้อมูลมาหลายด้าน แต่มีข้อจำกัดเรื่องการประสานงาน เรื่องเวลาของผู้ให้สัมภาษณ์กับผู้ที่ตกเป็นข่าว บางทีกับจังหวะตรงนี้ มันก็ไม่ทันเวลา ฉะนั้น ที่เราทำสื่อก็ยืนยันว่า โอเพ่นทั้ง 2 ฝ่าย ขอยืนยันแน่นอน 100% ว่าไม่เป็นมือให้ใครอยู่แล้ว


ผมว่าเรามาเป็นมิตรกันดีกว่า มีอะไรผมกับสื่อก็เปิดกว้างอยู่แล้ว เพราะมีคนเตือนว่า อย่าไปมีปัญหากับสื่อ สื่อขอสัมภาษณ์ อย่าเรื่องมาก จะให้ทำหนังสือมาก่อน เอาประเด็นมาก่อน อันนี้ไม่มีสำหรับผม ผมก็ปฏิบัติตัวว่าผมไม่มีปัญหากับสื่อ อย่างผมไม่มีลีลาอีก 10 นาทีจะให้สัมภาษณ์ ผมต้องเตรียมของผมตลอด โดยเตรียมข้อมูลไว้เป็นปึกเพื่อตอบคำถาม ผมไม่เคยปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับสื่อ...ครับ


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ.ตลาดวิเคราะห์ ฉบับที่328 ประจำวันที่16 - 30 กันยายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น