ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimlmnews.com
เชื่อมต่อทุกข่าวสาร ยิงทุกประเด็นร้อน แหล่วรวมธุรกิจเครือข่าย

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย "TDIA" ลงนาม MOU ร่วมเทคโนสยามยกชั้นขายตรงเปิดหลักสูตร ป.โท ต่อยอดถึง ป.เอก


สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย (TDIA) จับมือ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดหลักสูตรสอน วิชาชีพขายตรงเทียบชั้น ป.โท เป็นแห่งแรก หวังผลักดันภาพขายตรงไทยให้เป็นธุรกิจสีขาวแบบ ไร้มลทิน โดยค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 1.2 แสน บาท แต่สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมฯ ลดเหลือ คนละ 1 แสนบาท เริ่มแรกคาดว่ามีผู้เรียนทั้งสิ้น 30 คน โดยจะเปิดสอนในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ แถม นายกสมคมฯยังปล่อยหมัดเด็ดทิ้งท้าย หลักสูตรนี้ อาจต่อยอดถึงชั้น ป.เอก ได้ต่อไป

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรม ขายตรงไทย เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือทางวิชาการในการเปิดหลักสูตรการสอนวิชาขายตรงในระดับปริญญาโทกับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามครั้งนี้ ถือเป็นโครงการแรกที่ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการหลังจากตนเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ และถือเป็นการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จด้วยดี ในอนาคต สมาคมฯจะมีการขยายความร่วมมือเหล่านี้ไปสู่หน่วยงานการศึกษาอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ หลักสูตรขายตรงที่จะเปิดสอน ในวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สมาคมฯ ก็ได้ มีส่วนร่วมให้คำปรึกษา และจะแนะนำคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับ วิชาขายตรงโดยเฉพาะให้กับวิทยาลัยฯ ได้คัดเลือก ส่วนผู้เรียนในกลุ่มแรก สมาคมฯ ก็ได้รวบรวมสมาชิกจำนวนหนึ่งมาสมัคร มีประมาณ 30 คน โดยค่าศึกษาตลอดหลักสูตรประมาณ 1.2 แสนบาท แต่ในฐานะสมาชิกของสมาคมฯ ทางวิทยาลัยลดให้เหลือคนละ 1 แสนบาท และในอนาคตหากมีผู้ประสบความสำเร็จในระดับ ปริญญาโทแล้ว ระดับปริญญาเอกก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลจนเกินไป ที่ผ่านมาตนก็ได้มีการ พูดคุยคร่าวๆ แล้วกับทางวิทยาลัยฯ

นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้สมาคมฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากกระทรวงอุตสาหกรรม เราจึงเตรียมจะทำโครงการเปิดอบรมหลักสูตรขายตรงในระยะสั้นร่วมกับสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เป็น การจัดอบรมฟรี แต่อาจจำกัดเวลาและจำนวนคน โดยจะมุ่งเน้นไปยังผู้ที่อยากประกอบธุรกิจใหม่เป็นอันดับแรกก่อน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสมาคมฯ เองมีความต้องการที่จะส่งเสริมด้านการศึกษาเกี่ยวกับการขายตรงอย่างถูกต้องให้กับบุคคลทุกๆ ฝ่ายจริงๆ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค คือภาพจากคนภายนอกที่มองเข้ามาต้องมองภาพธุรกิจขายตรงอย่างถูกต้อง ด้วยภาพลักษณ์ที่ดีงาม ซึ่งโครงการในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และสมาคมฯ เองคงมีอีกหลายๆ โครงการที่จะได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

ด้านอาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า หลักสูตรนี้ มีชื่อว่าหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A.) กลุ่มวิชาการตลาดและธุรกิจเครือข่าย โดยผู้เรียนต้องศึกษาวิชาว่าด้วยการขายตรงทั้งหมด 36 หน่วยกิต มีประมาณ 5 วิชา รวมถึงการทำวิทยานิพนธ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง ซึ่งทางวิทยาลัย จะเริ่มเปิดกลุ่มวิชานี้ในภาค 2/55 ประมาณ เดือนพฤศจิกายน โดยกำหนดระยะเวลาเรียนอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 5 ปี

ทั้งนี้ คณาจารย์ที่สอนมีทั้งอาจารย์จากภายในและภายนอกหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ทางสมาคมฯ ได้เสนอชื่อมาให้เราพิจารณา โดยหลักสูตรแรกจะมีผู้เรียนจาก สมาคมฯประมาณ 30 คนก่อน หลังจากนั้นทางวิทยาลัยจะได้นำองค์ความรู้ต่างๆมาปรับปรุงให้เป็นที่ต้องการของคนทั่วไปอย่างแท้จริง และขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจในวิชาชีพขายตรงต่อไป

อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ยังได้กล่าวถึงความแตกต่างของหลักสูตร วิชาชีพขายตรงของวิทยาลัยฯ กับสถาบัน อื่นๆ ว่า นอกจากที่นี่จะเป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดสอนกลุ่มวิชาขายตรงระดับปริญญาโทแล้ว สิ่งที่แตกต่างหรือข้อได้เปรียบที่ผู้เรียนจะได้รับจากวิทยาลัยของเรายังมีอีก 4 ประการด้วยกัน คือ ประการ แรก ความรู้ ที่ไม่ใช่เพียงความรู้ในทฤษฎี สอง ประสบการณ์ซึ่งได้มาจากอาจารย์ ผู้สอนและผู้เรียน ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาชีพขายตรง เข้ามาแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ประการที่สาม การสร้างองค์ความ รู้ใหม่จากปัญหาต่างๆ ที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิดวิเคราะห์ และแก้ไข และประการสุดท้าย เครือข่าย สังคมผู้เรียนที่อยู่ในวิชาชีพเดียวกัน

ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการส่วนขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ระหว่างสองสถาบัน ซึ่งนายสุวิทย์ก็ได้กล่าวแสดงความ คิดเห็นถึงการเปิดหลักสูตรขายตรง ดังกล่าวว่า เป็นที่น่าชื่นใจที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่กำลังจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้นี้ ได้ร่วมมือทาง วิชาการเปิดหลักสูตรขายตรงในระดับปริญญาโทขึ้น เพราะตนมองว่าโครงการเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง องค์ความรู้สู่การประกอบวิชาชีพที่ถูกต้อง เอื้อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง

ธุรกิจขายตรงเป็นธุรกิจที่ดี ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้าง เศรษฐกิจให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการความร่วมมือนี้ก็เป็นโครงการที่สามารถรองรับอาเซียนได้อย่างหนึ่ง เพราะจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของขายตรงไทยให้ก้าวสู่นานาประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ

นายสุวิทย์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ สคบ. จะร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ว่า ก่อนอื่นตนต้องขอเรียนว่า ทางสคบ.คงไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของสถาบันการศึกษา แต่เราจะช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักสูตร ว่าหลักสูตรนี้ดีอย่างไร เรียน แล้วจะได้อะไร ให้กับบุคลากรของ สคบ. และประชาชนทั่วไปได้รับทราบโดยทั่วกัน ประการที่สองยินดีสนับสนุนในส่วนของวิทยากร เพราะในฐานะที่เรานั่งอยู่บนฐาน ข้อมูล เป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจขายตรงอย่าง ใกล้ชิด ฉะนั้น สคบ.จึงน่าจะมีส่วนช่วยเหลือ ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หากสมาคมฯ และวิทยาลัยฯ มีเรื่องที่จะให้ สคบ. สนับสนุนในส่วนใดเพิ่มเติมเช่น อาจ จะมีการจัดทำหลักสูตรย่อยๆ ที่ต้องการประกาศนียบัตรจาก สคบ. เราก็อาจจะมีการปรึกษากันต่อไป ตรงนี้ก็มีความยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: นสพ.สยามธุรกิจ ฉบับที่1338 ประจำวันที่ 26-9-2012 ถึง28-9-2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น